“ผู้ช่วยออนไลน์” เป็นตำแหน่งงานที่มาโก และชาวฟิลิปปินส์จำนวนมาก ให้ความสนใจอย่างล้นหลามจนเฟื่องฟู แต่เป็นภาคส่วนที่ไม่มีการกำกับดูแล ท่ามกลางปัญหาตลาดงานตึงตัว ค่าจ้างต่ำ และการเดินทางที่เลวร้ายบ่อยครั้ง
“มันเป็นงานที่ช่วยชีวิตฉันจริง ๆ เพราะฉันสามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ในเวลาเดียวกัน” มาโก อดีตพนักงานออฟฟิศ วัย 32 ปี กล่าวว่า ตอนนี้เธอมีรายได้เป็น 5 เท่าของ “มือขวาของนายจ้าง” ที่เธอเขียนสำเนาเอกสาร ดูแลจัดการสื่อสังคมออนไลน์ และซื้อของขวัญวันเกิดให้ครอบครัว
อนึ่ง รัฐบาลมะนิลาไม่มีข้อมูลสำหรับภาคส่วนนี้ เนื่องจากตำแหน่งดังกล่าวอยู่ในหมวดหมู่ “งานที่ไม่ได้รับการรับรอง” นั่นหมายความว่า ผู้ช่วยออนไลน์ไม่มีการคุ้มครองทางกฎหมายเช่นกัน แต่นายเดเร็ก กัลป์ลิมอร์ จากบริษัทที่ปรึกษา “เอาต์ซอร์ส แอคเซเลเรเตอร์” ประเมินว่า จำนวนผู้ช่วยออนไลน์ชาวฟิลิปปินส์ อยู่ที่ประมาณ 1 ล้านคน และคาดว่าตัวเลขจะเพิ่มขึ้นอีก
ขณะที่แพลตฟอร์มหางาน “อัปเวิร์ก” จัดอันดับให้ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้ช่วยออนไลน์มากที่สุด ร่วมกับอินเดีย ไนจีเรีย ปากีสถาน และสหรัฐ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยอัปเวิร์ก คาดการณ์ว่า การเติบโตของงานผู้ช่วยออนไลน์ในฟิลิปปินส์ จะยังคงดำเนินต่อไป
นอกจากนี้ ความสามารถทางภาษาอังกฤษของชาวฟิลิปปินส์ ทำให้พวกเขาเป็น “ตัวเลือกที่เหมาะสม” สำหรับลูกค้าทั่วโลก โดยมีออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐ เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด
แม้กลุ่มเฟซบุ๊กหลายกลุ่มสำหรับผู้ช่วยออนไลน์ ซึ่งมีหน้าที่ครอบคลุมทุกอย่าง ตั้งแต่การตลาด ไปจนถึงการจัดเตรียมการเดินทาง มีผู้ติดตามหลายแสนคนที่มองว่า งานนี้เป็นเส้นทางสู่ชีวิตที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาคส่วนนี้ก็มีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็น การหลอกลวงให้จ่ายเงินเพื่อเข้าถึงงานที่ไม่มีอยู่จริง และลูกค้าที่เบี้ยวค่าจ้าง หลังได้รับงานแล้วหายไปอย่างหน้าตาเฉย
นายอาร์โนลด์ เดอ เวรา อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมผู้ช่วยออนไลน์ ขาดการคุ้มครองภายใต้กฎหมายฟิลิปปินส์ เนื่องจากไม่อยู่ในหมวดหมู่งานที่มีอยู่ของรัฐบาลมะนิลา และชี้ให้เห็นว่า ผู้ช่วยออนไลน์ส่วนใหญ่ระบุว่าตัวเองเป็น “ผู้ประกอบอาชีพอิสระ”
“มันมีความเสี่ยง เพราะไม่มีแนวทางแก้ไข แต่ผู้คนก็เต็มใจที่จะรับความเสี่ยงนั้น เพราะผลตอบแทนที่พวกเขาได้รับ” เดอ เวรา กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ นายเรนาโต ปาไรโซ โฆษกกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ความท้าทายสำคัญประการหนึ่งคือความจริงที่ว่า งานผู้ช่วยออนไลน์นั้น “ไร้พรมแดน” ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการจัดการ พร้อมกับเสริมว่า การสร้างความร่วมมือด้านแรงงานกับประเทศอื่น ๆ อาจเป็นหนทางข้างหน้าในการปกป้องสิทธิของชาวฟิลิปปินส์.
เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : AFP