“เดอะ เกรท บลูโฮล” หรือหลุมยักษ์สีน้ำเงินกลางทะเลอันโด่งดัง ซึ่งมีตำแหน่งที่ตั้งอยู่นอกชายฝั่งของประเทศเบลีซ ทวีปอเมริกากลาง ไม่เพียงเป็นจุดดำน้ำที่ได้รับความสนใจอย่างสูง แต่ยังมีแหล่งศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่น่าทึ่ง

เมื่อไม่กี่ปีก่อน มีทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ลงไปเจาะก้นหลุมเพื่อเก็บตัวอย่างมาศึกษาและอ้างว่า พวกเขาเพิ่งค้นพบความลับอายุ 5,700 ปีที่ซ่อนอยู่ในหลุมนี้ 

หลุมยุบใต้น้ำแห่งนี้เป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ตัวหลุมนี้มีลักษณะเป็นวงกลมเกือบสมบูรณ์แบบ มีขนาดกว้างกว่า 300 เมตรและลึกประมาณ 125 เมตร และเป็นภาพวิวที่น่าทึ่งเมื่อมองจากมุมสูง

เดอะ เกรท บลูโฮลเกิดขึ้นในยุคน้ำแข็ง ย้อนไปเมื่อประมาณ 10,000 ปีก่อน ซึ่งระดับน้ำทะเลยังต่ำกว่าปัจจุบันมาก เชื่อกันว่าในยุคนั้น เส้นทางของถ้ำหินปูนที่โยงใยกันบนบกเกิดยุบตัวลงเมื่อระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจนเกิดเป็นหลุมยุบขนาดใหญ่ 

เมื่อนักสำรวจ ฌาคส์ คูสโต ค้นพบหลุมนี้ในปีค.ศ. 1971 มันก็กลายเป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงโด่งดังและดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่นำโดยทีมงานจากมหาวิทยาลัยเกอเธ่แห่งแฟรงก์เฟิร์ตได้ออกค้นหาคำตอบเพิ่มเติมจากหลุมยักษ์สีน้ำเงิน พวกเขาเดินทางไปเก็บตัวอย่างชั้นตะกอนโดยใช้แท่นขุดเจาะที่ขนส่งข้ามทะเลไปยังพื้นที่ดังกล่าว

ตัวอย่างดินตะกอนที่เก็บมาได้ทำให้นักวิจัยสามารถระบุข้อมูลทางพายุวิทยา ซึ่งสามารถแยกแยะเหตุการณ์ช่วงต่างๆ ได้ตามเป็นชั้นตะกอนที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากพายุและคลื่นทะเลในช่วงนั้นๆ พวกเขาประมาณว่ามีพายุเกิดขึ้นที่บริเวณนั้น 574 ครั้งในช่วง 5,700 ปีที่ผ่านมา

ดร. โดมินิก ชมิตต์ หัวหน้าคณะผู้วิจัยของกรณีศึกษาครั้งนี้และหัวหน้าคณะนักวิจัยในกลุ่มวิจัยชีวตะกอนวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเกอเธ่ แฟรงก์เฟิร์ต ได้อธิบายว่า เนื่องจากสภาพแวดล้อมของหลุมนี้ไม่เหมือนใคร ซึ่งรวมถึงมีน้ำใต้ดินที่ไร้ออกซิเจนละลายอยู่ในน้ำและชั้นน้ำที่แบ่งแยกตามอุณหภูมิเป็นหลายชั้น ลักษณะการตกตะกอนที่ก้นหลุมจึงแทบไม่ถูกรบกวน 

ชั้นตะกอนที่ก้นหลุมเดอะ เกรท บลูโฮลบอกความลับและทำนายอนาคตสุดสะพรึงของสภาพภูมิอากาศในศตวรรษหน้าได้

“ภายในชั้นตะกอนนั้น มีลักษณะคล้ายวงปีของต้นไม้ โดยชั้นตะกอนของแต่ละปีจะมีสีสลับกันระหว่างสีเทาอมเขียวและสีเขียวอ่อน ขึ้นอยู่กับปริมาณอินทรีย์วัตถุ” ชมิตต์กล่าว เขายังอธิบายว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์พายุพัด ชั้นตะกอนของช่วงนี้จะมีลักษณะที่โดดออกมา ไม่เหมือนชั้นตะกอนสีเทาอมเขียวซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมีสภาพอากาศดี โดยชั้นตะกอนของช่วงที่เกิดพายุจะมีองค์ประกอบ เม็ดทรายและสีที่ต่างออกไปซึ่งจะมีตั้งแต่สีเบจไปจนถึงสีขาว

จากผลการศึกษานี้ ทีมผู้เขียนรายงานเตือนว่า เราอาจได้เห็นพายุมากขึ้นกว่าปกติในอีก 100 ปีข้างหน้า โดยชี้ว่าเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนที่มนุษย์สร้างขึ้น

ศาสตราจารย์เอเแบร์ฮาร์ด กิชเลอร์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยชีวตะกอนวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเกอเธ่ แฟรงก์เฟิร์ต กล่าวเสริมว่า “ผลการศึกษาของเราบ่งชี้ว่า อาจจะมีพายุโซนร้อนและเฮอริเคนที่พัดผ่านภูมิภาคนี้ประมาณ 45 ลูกภายในศตวรรษนี้เพียงศตวรรษเดียว ซึ่งจะมากเกินกว่าภาวะแปรปรวนตามธรรมชาติในช่วงพันปีที่ผ่านมาอย่างมาก”

ที่มา : ladbible.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES