ส่วนการบริโภคแอลกอฮอล์จะเพิ่มความเสี่ยงได้สูงถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้บริโภคแอลกอฮอล์ และหากมีการสูบบุหรี่ร่วมกับการบริโภคแอลกอฮอล์จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งชนิดนี้มากกว่าคนปกติได้สูงถึง 35 เท่า นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นอีก เช่น การเคี้ยวหมากพลู การเคี้ยวยาเส้น การใส่ฟันปลอมที่มีขนาดไม่พอดีกับช่องปาก รวมถึงสุขภาพช่องปากที่ไม่ดี เป็นต้น
อาการของผู้ป่วยมะเร็งในช่องปาก มักมาด้วยรอยโรคในช่องปาก เช่น มีแผลหรือก้อนในช่องปากที่เป็นนานเกิน 2 สัปดาห์ ฝ้าขาวหรือรอยแดงในช่องปาก และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เจ็บในช่องปาก มีเลือดออกจากรอยโรคในช่องปาก รับประทานอาหารได้ลดลง และน้ำหนักตัวลดลง รวมไปถึงการมีก้อนที่คอ เป็นต้น
ขั้นตอนการวินิจฉัย คือ การตัดชิ้นเนื้อที่ตำแหน่งรอยโรคในช่องปากไปตรวจเพิ่มเติมทางพยาธิวิทยา ในผู้ป่วยบางรายอาจพิจารณาทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อดูระยะของโรคและวางแผนการรักษาต่อไป โดยการรักษามะเร็งช่องปาก จะพิจารณาจากรอยโรคที่เกิดขึ้น และสภาวะของผู้ป่วย เช่น โรคประจำตัว โดยหากสามารถผ่าตัดได้จะพิจารณารักษาโดยการผ่าตัดเป็นหลัก
ในบางรายอาจมีการฉายรังสี และ/หรือการให้เคมีบำบัดร่วมด้วยหลังผ่าตัด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับลักษณะทางพยาธิวิทยาของมะเร็งของผู้ป่วยรายนั้น ๆ ส่วนผู้ป่วยที่ไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ จะให้การรักษาโดยการฉายรังสี และ/หรือการให้ยาเคมีบำบัด จะเห็นได้ว่ามะเร็งช่องปากเป็นมะเร็งที่สามารถมองเห็นรอยโรคด้วยตนเองได้ง่าย จึงแนะนำให้ทุกคนหมั่นสำรวจช่องปากตนเองอย่างสม่ำเสมอหลังแปรงฟัน โดยบริเวณต่าง ๆ ในช่องปาก สามารถสังเกตได้ดังนี้

1. ริมฝีปาก ทั้งด้านนอกและในเยื่อบุช่องปาก โดยอาจส่องกระจกแล้วดึงริมฝีปากด้านบนและล่างเพื่อสังเกตดูเยื่อบุช่องปากด้านใน
2. ลิ้นและใต้ลิ้นและพื้นของช่องปาก โดยแลบลิ้นหน้ากระจกเพื่อสำรวจลิ้น ขยับลิ้นไปแตะกระพุ้งแก้มแต่ละข้างเพื่อดูด้านข้างของลิ้น และกระดกลิ้นเพื่อดูใต้ลิ้นรวมถึงบริเวณพื้นของช่องปากด้วย
3. กระพุ้งแก้ม โดยใช้นิ้วเกี่ยวมุมปากทีละข้างและสำรวจบริเวณกระพุ้งแก้ม
4. เหงือกและเพดานปาก สังเกตได้โดยการอ้าปากก้มหน้าเล็กน้อยเพื่อดูเหงือกด้านล่าง และเงยหน้าเพื่อสังเกตเหงือกด้านบนและเพดานปาก
นอกจากนี้ความเสี่ยงของมะเร็งช่องปากบางปัจจัยก็สามารถหลีกเลี่ยงได้เช่นกัน เช่น การหยุดสูบบุหรี่หรือยาเส้น การหยุดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การไม่เคี้ยวหมากพลู และการรักษาสุขภาพช่องปากเป็นประจำ รวมไปถึงการพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือนเป็นประจำ ก็ช่วยให้เราได้ตรวจคัดกรองมะเร็งช่องปากได้ด้วยเช่นกัน
และหากผู้ป่วยรายใดที่มีแผลเรื้อรังในช่องปากเกิน 2 สัปดาห์ หรือมีอาการผิดปกติในช่องปาก สามารถเข้ารับการตรวจกับแพทย์หรือทันตแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องต่อไป หากท่านมีข้อสงสัย สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากสถาบันมะเร็งแห่งชาติผ่านทาง Facebook : สถาบันมะเร็ง
แห่งชาติ National Cancer Institute และ LINE : NCI รู้สู้มะเร็ง
ข้อมูลจาก แพทย์หญิงรจนา ญาณสมบูรณ์ แพทย์เฉพาะทางสาขาโสต ศอ นาสิก สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์