กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการขายเครื่องเขียน โดยมีการจดทะเบียน VAT แต่ในปีปัจจุบันมีรายได้จากการขายหนังสือ ทั้งแบบเล่มซึ่งบริษัทฯ เป็นผู้จ้างพิมพ์และขายเอง และแบบ E-book นั้น รายได้จากการขายหนังสือทั้งแบบเล่ม และแบบ E-book (ซึ่งกิจการได้รับเหมือนเป็นค่าลิขสิทธิ์) ได้รับยกเว้น VAT ดังนี้
(1) รายได้จากการขายหนังสือแบบเล่ม เป็นรายได้จากการประกอบกิจการขายหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ตำราเรียน ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร
(2) รายได้จากการบริการหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียน ที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เข้าลักษณะเป็นการให้บริการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 4 (16) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534 ซึ่งตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 81 (1) (น) แห่งประมวลรัษฎากร
รายได้จากการให้บริการหนังสือแบบ E-book นั้น โดยกิจการเป็นผู้ให้บริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ด้วยตนเอง อาจต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ดังนี้
(1) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นผู้รับบริการ และค่าบริการในแต่ละคราวมีจำนวนถึง 1,000 บาท หรือรวมกันหลายคราวและจ่ายพร้อมกันถึง 1,000 บาท กิจการต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตรา 3% ของค่าบริการหนังสือแบบ E-book ตามข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
(2) กรณีส่วนราชการ ได้แก่ รัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่น เป็นผู้จ่ายค่าบริการ และค่าบริการในแต่ละคราวมีจำนวนตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป กิจการต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตรา 1% ของค่าบริการหนังสือแบบ E-book ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร.