แน่นอนว่า  ถนนหลายเส้นทาง จะหนาแน่นไปด้วยปริมาณรถส่วนตัว  โดยเฉพาะเส้นทางหลัก  ที่ติดโผ”รถติดหนักมาก” ต้องมีทางหลวงหมายเลข 3486(ทล.3486) กับทล.348 เส้นทางเชื่อมต่อระหว่างภาคตะวันออกกับภาคตะวันเฉียงเหนือ (อีสาน) ตอนล่าง  ที่มีสภาพเป็นคอขวด  2 ช่องจราจร   

เนื่องจากบางช่วงผ่านพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติที่สำคัญ  ทั้งอุทยานแห่งชาติตาพระยา  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ และแหล่งมรดกโลก ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่  โดยเฉพาะช่วงที่ผ่านบริเวณเขาช่องตะโก ระยะทางประมาณ 3 กม. เส้นทางแคบ คดเคี้ยวและลาดชัน  ไม่มีไหล่ทาง เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง  ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทาง

กรมทางหลวง(ทล.) ได้จัดทำโครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจร บนทล.3486)ช่วง บ.กุดเตย-บ.ใหม่ไทยถาวร และทล.348 ช่วง อ.ตาพระยา-อ.โนนดินแดง ระยะทาง 48 กม. วงเงินศึกษา 93.78 ล้านบาท  สถานะล่าสุดศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว กำลังจัดทำรายละเอียดรูปแบบโครงการ  ผลการประเมินและมาตรการแก้ไขผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) เสนอกรมฯประมาณเดือนเม.ย.นี้  เพื่อนำเสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณา EIA (คชก.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) พิจารณาตามขั้นตอนหากผ่านความเห็นชอบจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ  ต่อไป

โดยวางแผนเสนอโครงการก่อสร้างให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ รวมทั้งดำเนินขั้นตอนจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้วเสร็จปี 2572 จัดตั้งงบประมาณก่อสร้างปี 2573 ใช้เวลา 4 ปี แล้วเสร็จเปิดบริการปี 2577

เส้นทาง 48 กม. แบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงที่ 1 จุดเริ่มต้นจาก บ.กุดเตย พื้นที่ อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว สิ้นสุดที่วงเวียน บ.ใหม่ไทยถาวร อ.ตาพระยา 20 กม. และ ช่วงที่ 2 จุดเริ่มต้นจากวงเวียน บ.ใหม่ไทยถาวร อ.ตาพระยา สิ้นสุดที่ อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ 28 กม. รูปแบบการก่อสร้างส่วนใหญ่จะปรับปรุงทางหลวงเดิมขนาด 2 ช่องจราจรเป็นขนาด 4 ช่องจราจร  

สำหรับบริเวณเขาช่องตะโกได้พิจารณาความเหมาะสมด้านต่างๆ ทั้งวิศวกรรม เศรษฐกิจการลงทุน และด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รูปแบบที่เหมาะสมที่สุดคือก่อสร้างทางเชื่อมผืนป่า คล้ายโครงการทางเชื่อมผืนป่าและขยายทล.304 (จ.ปราจีนบุรี-จ.นครราชสีมา) จากขนาด 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร  ซึ่งเป็นแห่งแรกของประเทศไทยและเปิดบริการเมื่อปี  2562  และจุดนี้จะเป็นแห่งที่ 2

โดยเริ่มต้นที่กม.75+500-กม.79+925 ความยาว 4.425 กม. ออกแบบเป็นโครงสร้างสะพานยกระดับ 4 ช่องให้สัตว์เดินลอดสะพาน หากมีความจำเป็นบางช่วงอาจเพิ่มช่องสำหรับรถบรรทุกหนักอีก 1 ช่อง และเชื่อมโครงสร้างอุโมงค์แบบดินตัดดินถมขนาด 4 ช่องจาก กม.79+925-กม.80+250 ความยาวประมาณ 300 เมตร

เนื่องจากช่วงเขาช่องตะโกเป็นรอยต่อ จ.สระแก้ว และ จ.บุรีรัมย์ มีความต่างระดับประมาณ 200 เมตร ระยะทาง 3 กม. บางช่วงมีความลาดชันสูงถึง 12% ทำให้ช่วงแรกที่ผ่านเขาช่องตะโก ต้องใช้โครงสร้างสะพานยกระดับ เพราะในทางวิศวกรรมจราจร จะช่วยให้ยานพาหนะไต่ระดับความสูงในระยะทางที่จำกัดได้ ประกอบกับบริเวณนี้มีความลาดชันต่ำ มีการสัญจรของสัตว์ป่าข้ามฝั่ง จึงออกแบบเป็นอุโมงค์แบบดินตัดดินถมกลับเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ใกล้เคียงธรรมชาติเดิมให้สัตว์เดินข้ามระหว่างผืนป่าทั้งสองฝั่งได้

ส่วนบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ อ.โนนดินแดง ออกแบบโครงสร้างสะพานยกระดับให้สัตว์ป่าเดินลอดด้านล่างบนทล.348 ช่วงกม.93+000-กม. 94+000 ระยะทาง 1 กม. จะปลอดภัยในการขับขี่ พร้อมออกแบบระบบระบายน้ำที่มีประสิทธิผล  นอกจากนี้ได้ออกแบบจุดตัดทางแยกต่างๆ เป็นทางต่างระดับ อาทิ บริเวณจุดเริ่มต้นโครงการแยกบ้านกุดเตย, วงเวียนบ้านโคคลาน และวงเวียนบ้านใหม่ไทย  เป็นต้น 

โครงการเป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2565 ที่เห็นชอบให้กระทรวงคมนาคมเข้าศึกษา สำรวจเก็บข้อมูลในเส้นทาง ทล.348 เพื่อประกอบการพิจารณาทางเลือกขยายทางหลวงแผ่นดินเชื่อมโยง อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว กับ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์  หากศึกษาเสร็จสิ้นให้เร่งแจ้งผลการดำเนินงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบด้านมรดกโลกของประเทศไทย เพื่อแจ้งศูนย์มรดกโลกต่อไป

เมื่อก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จจะเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายการคมนาคมพื้นที่ภาคตะวันออกเชื่อมภาคอีสานตอนล่างสะดวก คล่องตัว ปลอดภัย และลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์และสัตว์ป่า รวมทั้งรองรับปริมาณการจราจรในอนาคต  และส่งเสริมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในพื้นที่และภูมิภาค

อดใจรอเส้นทาง 4 เลนในอนาคต  ช่องเขาตะโกจะเปลี่ยนภาพจำเป็นเทศกาลแห่งความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยยิ่งขึ้นทั้งมนุษย์และสัตว์ป่า.

……………………………………………….
นายสปีด

***ห้ามคัดลอกเนื้อหาและภาพในบทความนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

คลิกอ่านบทความทั้งหมดที่นี่…