ตามนโยบาย “America First” ที่ “ทรัมป์” หาเสียงไว้จนชนะการเลือกตั้งและกลับเข้ามาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา อีกครั้ง!!

ที่ผ่านมาสหรัฐได้ประกาศใช้มาตรการด้านภาษี 4 รูปแบบ ทั้ง การขึ้นภาษีเป็นรายประเทศที่ก่อปัญหา เช่น ด้านยาเสพติด การอพยพเข้าเมือง

การขึ้นภาษีเป็นรายสินค้า การขึ้นภาษีกับกลุ่มประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมาย และการขึ้นภาษีตอบโต้เป็นรายประเทศ

ซึ่ง!! การขึ้นภาษีตอบโต้ เป็นรายประเทศ ก็กำลังจะมีผลตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย.นี้ เป็นต้นไป ที่ประเทศไทยก็ถูกตอบโต้กลับด้วยอัตราภาษี 36% นั่นแหล่ะ

ถามว่า? เรื่องนี้… ทั่วโลกรู้กันมานานหรือยัง…ว่า “ทรัมป์ 2” จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง !!  

ตอบได้เลยว่า!! รู้คำตอบกันทั่วโลกนั่นแหล่ะว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แม้แต่ประเทศไทย  แต่ความแน่นอนอาจยังไม่ชัดเจน

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใดๆ เลย ถ้าจะมีการตั้งคำถามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้บริหารประเทศ ว่า เมื่อรู้ทิศทาง รู้แนวโน้มอยู่แล้ว แล้วทำอะไรกันอยู่?

ต่อให้คำชี้แจงที่ออกมา จะเตรียมตัว จะมีแผนรับมือ มีแนวทางไว้พร้อมอยู่แล้ว แต่!! สิ่งที่เห็นคือ “ความไม่ชัดเจน”

การออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ของผู้บริหารประเทศ ถึงแนวทางการรับมือกับ “ทรัมป์เอฟเฟค” หรือการส่ง “พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกฯและรมว.คลัง ไปเจรจากับสหรัฐ ในสัปดาห์นี้

ถามต่ออีก? ช้าไปหรือเปล่า? ตอบได้เลยอีกเช่นกันว่า…ช้าแน่นอน ในเมื่อรู้กันอยู่เต็มอกอยู่แล้วว่าจะเกิดอะไร คำถาม คือ…ทำไม ไม่ทำเสียแต่เนิ่น ๆ

ทรัมป์สั่งอะไรไปแล้วบ้าง ในสัปดาห์แรกของการคัมแบ๊กทำเนียบขาว | เดลินิวส์

ทั้งในเชิงทางการ ทั้งในเชิงทางลับ อย่าลืมว่าที่ผ่านมา เสียงเรียกร้องจากภาคเอกชน ให้แต่งตั้ง “ล็อบบี้ยิสต์” เพื่อเจรจากับสหรัฐ เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว

อีกสารพัดข้อเรียกร้องของเอกชน ที่ต้องการให้รัฐบาลเตรียมหามาตรการรับมือ สุดท้าย!! คำตอบ ที่ได้คือความไม่ชัดเจน

มาจนถึงวันนี้ หน่วยงานรัฐ และรัฐบาล ได้พยายามชี้แจงถึงแนวทางรับมือ ทั้งการตั้งคณะทำงานรับมือ การหารือร่วมกับภาคเอกชน ตัวแทนสหรัฐ

แม้กระทั่งการประกาศว่า จะสื่อสารกับสหรัฐ ว่าไทยไม่ใช่แค่ผู้ส่งออก แต่ไทยเป็นพันธมิตร และเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯเชื่อถือได้ในระยะยาว

ขณะที่มีข้อเสนอเชิงนโยบาย อย่าง การเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ ทั้ง พลังงาน อากาศยาน สินค้าเกษตร หรือแม้แต่การสร้างความร่วมมือกับภาคเกษตร อุตสาหกรรม และอื่นๆ ที่มีส่วนได้เสียสำคัญในระบบประชาธิปไตยของสหรัฐ

การส่งเสริมการลงทุนของไทยในสหรัฐ พร้อมลดเงื่อนไขการนำเข้าที่เป็นอุปสรรค  การเตรียมมาตรการป้องกันและปราบปราม การสวมสิทธิถิ่นกำเนิดสินค้าที่ใช้ไทยเป็นทางผ่านไปสหรัฐ

ส่วนผลกระทบกับเอกชนไทย ก็จะมีทั้งมาตรการเยียวยาระยะสั้น ระยะยาว การขยายตลาดส่งออกใหม่ๆ  เร่งเปิดตลาดในตะวันออกกลาง ยุโรป อินเดีย การเร่งเจรจาเอฟทีเอ

เหนืออื่นใด!! จะเรียกประชุมเพื่อสรุปแนวทางการรับมือทั้งหมดในวันที่ 8 เม.ย.นี้ ด้วยเป้าหมายหลักที่จะยึดประโยชน์ของประเทศและคนไทยเป็นหลัก

เอาเป็นว่า… สารพัดหนทาง ที่รัฐบาลชี้แจงออกมา จะตอบข้อกังขา ว่า…ทำไม? เพิ่งทำ ได้แค่ไหน?  เพรา… “เพื่อนบ้าน” เค้าต่อสายตรง ทำหนังสือ รวมตัวประเทศสมาชิก เพื่อเดินหน้ารับมือกันไปแล้ว

 คำตอบ… เพียงแค่ โทรไม่ติด หรือสหรัฐ ยังไม่รับนัด ไม่น่าจะเป็นคำตอบที่ใช่!! ก็ต้องมารอดูกันต่อไปว่ารัฐบาลเพื่อไทยจะ “เอาตัวรอด” ยังไง?

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”

อ่านบทความทั้งหมดคลิกที่นี่