ดังเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวในเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568 ซึ่งสร้างความเสียหายให้หลายจังหวัด บ้านเรือนและคอนโดฯ ในกรุงเทพฯ บางแห่งถึงขั้นแตกร้าวหรือถล่มลงมา!

ดังนั้น โรงพยาบาลสัตว์วุฒิชัย ขอเสนอเคล็ดลับการเตรียมตัวให้สุนัขและแมวปลอดภัย และวิธีปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เตรียมตัวล่วงหน้า–“แผนฉุกเฉิน” สำหรับสัตว์เลี้ยง คือ จัดเตรียมสิ่งของจำเป็น ปลอกคอพร้อมป้ายชื่อ : ระบุชื่อ เบอร์โทรฯ เจ้าของ เอาไว้เผื่อน้องพลัดหลง สายจูง/กระเป๋าแมว : สายจูงสำหรับสุนัข หรือกระเป๋าหิ้วสำหรับแมว ควรเลือกที่มีความแข็งแรง พาออกนอกอาคารได้ทันที อาหารและน้ำดื่ม : เตรียมอาหารสำเร็จรูปที่เก็บไว้ได้ 3–7 วัน น้ำดื่มสะอาด ยาประจำตัว และบันทึกสุขภาพ : รวมทั้งสมุดวัคซีน เผื่อต้องย้ายที่พักชั่วคราว

จัดพื้นที่ภายในบ้านหรือคอนโดฯ เลือกจุดปลอดภัยซึ่งไม่มีของหนักวางอยู่เหนือหัว น้องหมา/แมวสามารถเข้าออกได้สะดวก แนะนำฝึกให้สัตว์เลี้ยงคุ้นเคยกับการเข้าที่หลบภัยในบ้าน หรือนอนในกระเป๋าแมวไว้บ้าง เมื่อเกิดแผ่นดินไหว–ควรทำอย่างไร? ตั้งสติ อย่าตื่นตระหนกจนวิ่งวุ่น อาจทำให้สุนัข/แมวตกใจหนักขึ้น คว้าสัตว์เลี้ยงเข้าที่ปลอดภัย: ถ้าเป็นสุนัข: คว้าปลอกคอหรือสายจูง พยายามย่อกายอยู่ใต้โต๊ะแข็งแรงหรือจุดปลอดภัย ถ้าเป็นแมว : ใช้วิธีจับอย่างนุ่มนวลแล้วใส่กระเป๋าแมว ถ้ามีเวลา (ถ้าไม่มีกระเป๋าแมว เลย อุ้มแนบอกก็ได้แต่ระวังน้องตื่นกลัว) หลีกเลี่ยงลิฟต์ : หากเกิดแผ่นดินไหว ต้องใช้บันไดแทนลิฟต์เท่านั้น รีบออกจากอาคารอย่างเป็นระบบ : หากคอนโดฯ มีป้าย “ห้ามเลี้ยงแมว-สุนัข” ก็ต้องช่วยน้องเวลาฉุกเฉิน จะถือกระเป๋าแมวหรืออุ้มมาเลย “จะถูกจับได้ก็เรื่องตอนหลัง” แม้อาจโดนนิติหรือ รปภ. เพ่งเล็ง แต่ดีกว่าทิ้งให้น้องเสี่ยงอยู่ในห้อง เวลาฉุกเฉิน ชีวิตน้องสำคัญที่สุด และอยู่ในที่โล่ง : หลีกเลี่ยงใกล้เสาไฟฟ้าหรืออาคารที่อาจพังล้ม

หลังแผ่นดินไหว – ตรวจร่างกาย เช็กความปลอดภัยสัตว์เลี้ยง โดยสังเกตอาการบาดเจ็บ เช่น ขาเจ็บ เลือดออก หรือสัตว์มีอาการช็อก ถ้าน้องหายไป ให้รีบค้นหาในจุดหลบซ่อนหรือถามเพื่อนบ้าน สัตว์เลี้ยงบางตัวอาจเครียด กินอาหารน้อยหรือประสาทหลอน ควรให้กำลังใจและเวลาดูแลอย่างใกล้ชิด ให้น้ำสะอาด อาหารปกติ และรักษาตารางการกินเพื่อลดความเครียด ความเครียดในแมวมักเหนี่ยวนำให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบซึ่งเป็นโรคที่เจอได้บ่อยมาก

ตรวจความปลอดภัยของอาคาร แม้ว่าเจ้าของเองอาจหวั่นใจ แต่ “น้องหมาน้องแมว” ก็ต้องการที่พักที่ปลอดภัยเช่นกัน หากอาคารมีความเสียหาย ร้าวมาก หรือเสี่ยงถล่ม ควรหาที่พักชั่วคราว และนำสัตว์เลี้ยงไปด้วย (ปรึกษากับนิติบุคคลหรือทีมวิศวกร) ต่อมาขอแนะนำสิ่งของที่ควรมีติดบ้านเสมอ (Emergency Kit) เตรียมพร้อมเอาไว้จะได้ไม่เสียใจภายหลัง เช่น อาหารสัตว์ : ชนิดเม็ดหรือเปียกที่เก็บได้นาน 3–7 วัน น้ำสะอาด : เผื่อ 7 วัน (ต่อ 1 ตัว ใช้ประมาณวันละ 300-500 มล. ขึ้นกับขนาด) ชามอาหาร-น้ำ : แบบพับได้ พกสะดวก ยาสามัญประจำบ้านสัตว์: ยาหยอดตา ยาแก้ปวด (หากสัตวแพทย์แนะนำ) น้ำยาฆ่าเชื้อที่ปลอดภัย ผ้าห่มหรือผ้าเช็ดตัว: ถ้าน้องหนีออกไป บางทีจะช่วยให้อบอุ่นหรือใช้รองพื้นตอนบาดเจ็บ

อย่างไรก็ตามเมื่อเหตุการณ์สงบ หากสงสัยปัญหาสุขภาพของสัตว์เลี้ยงแสนรักหลังเหตุการณ์ฉุกเฉิน อย่าลังเลควรรีบปรึกษาสัตวแพทย์ทันที.

ขอบคุณข้อมูลจาก นายสัตวแพทย์ วุฒิชัย ศุภจัตุรัส
โรงพยาบาลสัตว์วุฒิชัย

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่