เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.2 ศูนย์กลางที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา สั่นสะเทือนมาถึง กทม.เมืองหลวงของประเทศไทย ซึ่งอยู่ห่างกันนับ 1,000 กม. สร้างความตื่นตระหนก โดยเฉพาะตึก สตง.ที่พังถล่มลงมา และอาคารบ้านเรือนของประชาชนได้รับความเสียหาย “คอลัมน์ตรวจการบ้าน” จึงต้องมาสนทนากับ “พิชิต สมบัติมาก”อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะอธิบายถึงการรับมือของภาครัฐต่อธรณีพิบัติภัยในอนาคต
โดย “พิชิต” เปิดประเด็นเกี่ยวกับแผ่นดินไหวในเมียนมาครั้งนี้จะส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทยได้อย่างไร เพราะระยะห่างกว่า 1,000 กม. ว่า รอยเลื่อนสะกายในเมียนมา เป็นรอยเลื่อนที่มีพลังสูงมาก เพราะมีความยาวถึง 1,200 กม.พาดผ่านตั้งแต่ทางทิศเหนือสุดของเมียนมา ลงมาถึงทะเลอันดามัน รอยเลื่อนแห่งนี้ไม่ใช่เพิ่งทำให้เกิดแผ่นดินไหว แต่เกิดครั้งใหญ่มา 2-3 ครั้งแล้ว ครั้งล่าสุดก่อนเหตุการณ์ครั้งนี้ก็ประมาณ 100 ปีที่แล้ว ประมาณขนาด 7 กว่าๆ ในช่วงนั้นมีการบันทึกสถิติว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ 500 กว่าราย
แต่เมื่อร้อยปีที่แล้วการบันทึกสถิติต่างๆ อาจจะไม่ได้มีการสำรวจอย่างละเอียด จนมาถึงตอนนี้ก็มีการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่บ้าง เล็กบ้างอยู่เป็นประจำเป็นพันๆ ครั้งแถวรอยเลื่อนสะกาย จนเมื่อวันที่ 28 มี.ค.เวลา 13.20 น.ก็เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้คำนวณไว้ประมาณ 8.2 ส่งผลกระทบถ้าในพื้นที่มัณฑะเลย์ เมียนมา น่าจะหนักมาก หลังจากนั้นมาบ้านเราที่อยู่ปลายทางก็ได้รับผลกระทบ คือ การเกิดแผ่นดินไหวมีคำเดียวคือ “ยิ่งใกล้ยิ่งเจ็บ ยิ่งใกล้ยิ่งโดนมาก” พออยู่ไกลๆ ก็จะได้รับผลกระทบน้อยลง จะสังเกตได้ว่าแถวเชียงใหม่ก็มีการสั่นไหวแต่ได้รับผลกระทบน้อย แม่ฮ่องสอน ซึ่งใกล้กว่า กทม.อีก แต่มาถึง กทม. อาจจะมาแค่ 1 แต่มีการขยายตัวของโครงสร้างดินเหนียวอาจจะเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า จึงทำให้ตึกสูงรับรู้
“ผลกระทบจากแผ่นดินไหวในครั้งนี้เป็นผลจากคลื่นแผ่นดินไหวระยะไกลที่มีความถี่ต่ำสอดคล้องกับความถี่ธรรมชาติของตึกสูง จึงทำให้ตึกสูงสั่นโยก เนื่องจากเกิดการสั่นพ้อง(Resonance) ของความถี่ธรรมชาติของตึกสูงกับความถี่ของคลื่นแผ่นดินไหวระยะไกล ประกอบกับการขยายคลื่นแผ่นดินไหวกับดินเหนียว กทม.ซึ่งเป็นตะกอนที่พบในบริเวณ ที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่าง รวมถึงในบริเวณ กทม.และปริมณฑล ส่งผลให้คลื่นแผ่นดินไหวถูกขยายให้สูงขึ้นกว่าเดิม”
@แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวที่มาถึง กทม. เทียบเท่าได้กับขนาดเท่าไร
ต้องเข้าใจก่อนว่าค่าวัดความเสียหายเขาจะดูความเสียหายที่เกิดขึ้น เช่น เรารับรู้ หรือมีความรู้สึกได้ก็จะอยู่ที่ประมาณขนาด 5-6 แต่ถ้าวัดความรุนแรงของแผ่นดินไหวก็อยู่ที่จุดศูนย์กลางที่มันเกิดคือขนาด 8.2 เรายืนตามกรมอุตุฯ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ซึ่งในความเป็นจริงค่าการวัดมีหลายมาตรา ส่วนอื่นๆ ก็ไม่ได้รับความเสียหายมาก หากเปรียบเทียบกับการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยเมื่อปี 2557 ขนาด 6.3 ที่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย ซึ่งมีวัดวา ที่อยู่อาศัยพังเสียหาย
แต่ครั้งนี้ กทม.หากวัดความเสียหายรุนแรงก็ไม่น่าจะถึงขนาดนั้น ถ้าไม่รวมตึกที่ถล่ม ดังนั้นหากแผ่นดินไหวเกิดขึ้นแล้วสิ่งสำคัญที่สุดและสิ่งที่ทางราชการเป็นห่วงคือ เรื่องการเสพข้อมูล และมีการแจ้งข้อมูลที่ไม่ถูกต้องไป จะทำให้เกิดการตื่นตระหนก หรือทำให้เกิดความสับสนต่างๆ ขึ้น
ทั้งนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วในเบื้องต้นให้ “กรมอุตุฯ” เป็นคนแจ้งผ่านเอสเอ็มเอส ส่วนกรมทรัพยากรธรณีเราเป็นกรมที่มีบุคลากร มีนักธรณีวิทยาที่จบด้านแผ่นดินไหวโดยตรง และเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนเราก็จะแจ้งผ่านเครือข่ายเตือนภัยของเราตามจังหวัดต่างๆ ที่มีจำนวนกว่า 6.4 หมื่นคน รวมทั้งแจ้งผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ของเราให้ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น เพื่อให้เขาได้สื่อสารและแจ้งให้ญาติมิตร ชุมชน ได้เข้าใจต่อไป ซึ่งส่วนหนึ่งก็ทำให้ลดความตื่นตระหนกได้มากพอสมควร
@ประเทศไทยมีรอยเลื่อนใดที่ต้องจับตาเป็นพิเศษหรือไม่
สำหรับเรื่องแผ่นดินไหวในประเทศเราๆ มีรอยเลื่อนเล็กๆ ไม่ได้ใหญ่หรือมีพลังมาก และการไหวก็เกิดเป็นประจำอยู่แล้ว แต่เป็นขนาดเล็ก 1-3 กว่าๆ เราจะรับรู้หรือรู้สึกได้ประมาณรถสิบล้อวิ่งผ่านหน้าบ้านเท่านั้น อย่างไรก็ตามเราจับตาและเฝ้าระวังทุกรอยเลื่อน โดยเฉพาะทางเหนือ หรือรอยเลื่อนแม่จัน เพราะมีการไหวค่อนข้างถี่มากกว่ารอยเลื่อนอื่นที่เราตรวจจับได้ โดยเรามีสถานีตรวจวัดอยู่ 58 สถานี ในการวัดการไหวของดินในรอยเลื่อนต่างๆ
@ประชาชนตั้งคำถามถึงระบบการแจ้งเตือนแผ่นดินไหวของรัฐล้มเหลว
ต้องขอชี้แจงว่าระบบ cell broadcast ที่ต่างประเทศใช้ในการแจ้งเตือนภัย บ้านเรายังทำไม่เสร็จ คือ การแจ้งเตือนภัยที่ผ่านมาให้ กสทช.ดำเนินการเนื่องจากระบบยังไม่ซัพพอร์ท ทาง กสทช.แจ้งว่าสามารถส่งได้ครั้งละ 2 แสนหมายเลขต่อครั้งๆ พอได้ 5-6 ล้านเบอร์ กสทช.ก็หยุดแจ้ง
แต่ถ้าระบบ cell broadcast ทางกรมทรัพยากรธรณี กรมอุตุฯ รวมทั้งศูนย์เตือนภัยแห่งชาติก็จะประมวลข้อมูลที่ถูกต้องและส่งไปเพื่อแจ้งเตือนประชาชนโดยใช้ข้อมูลเดียวกัน เพราะถ้าต่างคนต่างแจ้งข้อมูลไม่ตรงกันก็จะทำให้เกิดความสับสน ระบบเรามีแต่ว่าเครื่องมือเทคโนโลยีที่ทันสมัยยังไม่เสร็จ ซึ่งทางกระทรวงดิจิทัลฯ บอกว่าจะเสร็จใช้งานได้ประมาณปลายเดือน มิ.ย.ถึงต้นเดือน ก.ค.นี้
@ กรมทรัพยากรธรณีสื่อสารช้าไปหรือไม่ในวันเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา
ไม่ได้ช้า หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว นายกฯ ก็โทรศัพท์แจ้งปลัดฯ และก็มีการประชุมผ่านซูม เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งเราก็ตรวจสอบตามเครื่องมือที่มีอยู่และแจ้งต่อนายกฯ ว่าเกิดที่ไหน ขนาดเท่าไร ซึ่งการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่นี้เป็นครั้งแรกที่มีผลกระทบกับบ้านเรา จึงอาจจะสับสนบ้าง
ดังนั้นในวันที่ 8 เม.ย.นี้ ทางกรมทรัพยากรธรณี จะมีโครงการจัดประชุมหัวข้อ “อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย อยู่อย่างไรจึงจะปลอดภัยและยั่งยืน” เพื่อถอดบทเรียน โดยเฉพาะในประเด็นความสับสนของข้อมูลต่างๆ เราจะมาคุยกันว่าต้องทำอย่างไร รวมถึงกรณีที่นายกฯ ย้ำว่าต้องใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการปฏิบัติงาน
หลังจากถอดบทเรียนและได้ข้อสรุปกรมทรัพยากรธรณีก็จะนำเสนอรัฐบาลเพื่อพิจารณาว่าสิ่งที่มีความจำเป็นต้องทำเร่งด่วนเพื่อความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนคืออะไรบ้าง
@ จะทำอย่างไรในเรื่องการรับรู้ของประชาชนที่ไม่เชื่อข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ
เหตุการณ์มันเกิดขึ้นปัจจุบันทันด่วน ต้องสร้างการรับรู้ให้ประชาชน ผ่านองค์กรต่างๆ ในเบื้องต้นควรให้กระทรวงมหาดไทย ให้เขาได้แจ้งเรื่องนี้ผ่านทางผู้ว่าฯ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านให้ทำความเข้าใจกับประชาชน ที่สำคัญคือสื่อมวลชนต้องเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องไปยังประชาชน ทั้งนี้ขอให้มั่นใจว่า ถ้าเป็นข้อมูลจากกรมทรัพยากรธรณี ยืนยันว่าเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ ถ้าฟังคนที่ชอบออกแสงต่างๆ ฟังแล้วไม่เข้าใจให้มาถามกรมทรัพยากรธรณี พร้อมตอบคำถามทางวิชาการทุกเรื่อง
“สิ่งที่อยากฝากถึงประชาชนคือแผ่นดินไหวเป็นภัยที่ยังไม่สามารถพยากรณ์ได้ แต่หากมีการเตรียมความพร้อมรับมือ มีสติ ไม่ตื่นตระหนก จะช่วยลดผลกระทบและความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้”