มีแต่คนว่า ที่มันพังอยู่ตึกเดียวเพราะมันห่วย ไปดูตึกอื่นๆ รอบกรุงเทพแกว่งซะโยนยังกลับมาได้ แต่ตึก สตง.นี่พังลงมาเลย มีวิศวกรหลายคนช่วยกันวิเคราะห์ เห็นว่า เสาหน้าที่ใช้รับน้ำหนักตึก 33 ชั้นมันเป็นเสาขนาดเล็กเกินไป บ้างก็งงว่า ตึกนี้ใช้ท่อลิฟต์เป็น“กระดูกสันหลังตึก” ทำไมมันถึงพังลงมาในลักษณะทรุด ชาวเน็ตบางคนก็ใช้สัญชาตญาณง่ายๆ ว่า “ตอนสร้างเนี่ย กำหนดทีโออาร์ ( ข้อตกลงขอบเขตงาน ) อย่างไร ทั้งรูปแบบ ทั้งวัสดุ แล้วได้ทำตรงกับทีโออาร์หรือไม่ ใครเป็นคนเซ็นทีโออาร์ แล้วมีเหตุผลอะไรที่เลือกบริษัทที่ชื่อหราว่า “เรลเวย์” มาทำตึก
บริษัทที่เป็นผู้รับเหมาหลัก คือ กิจการร่วมค้า “ITD-CREC” ประกอบด้วยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเมนต์ และบริษัท China Railway No.10 Engineering Group ซึ่งเป็นผู้รับเหมาหลักของโครงการ ตึกสร้างบนพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ 3 งาน บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร กทม. ออกแบบเมื่อปี 2561 โดยบริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด และบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด วงเงิน 73 ล้านบาท สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเคยแจ้งว่า วันที่ 4 ก.พ.2563 ครม.ได้อนุมัติงบประมาณรายการค่าก่อสร้าง เป็นจำนวนเงิน 2,560 ล้านบาท ผู้ชนะการประกวดราคา คือ กิจการร่วมค้า ไอทีดี – ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลอปเมนต์ จำกัด มหาชน) ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด วงเงิน 2,136 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 22 งวด 966.80 ล้านบาท
บริษัท ไชน่า เรลเวย์ No.10 ( CREC ) ผู้รับเหมาหลักจากประเทศจีน มีรายชื่อกรรมการ คือ นายชวนหลิง จาง และ นายโสภณ มีชัย ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท สัดส่วนผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย 51 ล้านบาท เป็นบุคคล 3 ราย คือ นายโสภณ มีชัย (49 % ของ 51 ล้านบาท) , นายประจวบ ศิริเขตร (40.8 % ของ 51 ล้านบาท) และ นายมานัส ศรีอนันท์ (10.2 % ของ 51 ล้านบาท) ส่วนสัดส่วนผู้ถือหุ้นสัญชาติจีน 49 ราย เป็นบุคคล 1 ราย คือ นายชวนหลิง จาง การนำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2566 พบมีสินทรัพย์รวม 2,804,535,819 บาท และหนี้สินรวม 2,952,877,175 บาท จดทะเบียนประเภทธุรกิจ การก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย วัตถุประสงค์ ด้านการบริการด้านการทรัพยากรมนุษย์และรับเหมาก่อสร้างอาคาร อาคารพาณิชย์ อาคารที่พักอาศัย สถานที่ทำการ ทางรถไฟ ทางรถสาธารณะ ทางรถไฟฟ้าใต้ดิน
พบว่า นายโสภณเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นในหลายบริษัท ในประเทศไทย ทั้งบริษัทอุปกรณ์เครือข่าย ธุรกิจสินค้าอิเลกทรอนิกส์ ธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายเสื้อผ้า ธุรกิจเกี่ยวกับอาหารเสริมและเครื่องสำอาง และนายมานัสผู้ถือหุ้นลำดับต่อมา ก็เป็นกรรมการ ผู้ถือหุ้นในบริษัทหลายแห่ง ทำให้เหล่านักข่าวไปตามหาตัวเศรษฐีหุ้นทั้ง 2 ซึ่งไม่พบ แต่สภาพบ้าน- สำนักงานนั้นไม่น่าเชื่อว่า “เป็นบริษัทที่รับเหมางานพันล้าน” เช่นนี้คนไทยควรหูตาลุกได้ ว่า “มีทุนเทาใช้คนไทยเป็นนอมินีถือหุ้นข้างมาก เพื่อจดทะเบียนประกอบการในไทยได้”
ก็พูดกันด้วยสามัญสำนึกว่า ถ้าบริษัทมันแปลกๆ มันก็น่าจะหมกเม็ดอะไรสักอย่างเพื่อทำประโยชน์สูงสุดให้ตัวเอง ซึ่งก็ไม่รู้ว่า เป็นเรื่องของการใช้เหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ และน่าสนใจว่า ตอนทำ TOR ผู้ว่าจ้างรับรู้เกี่ยวกับเหล็กสเปคนี้หรือไม่ หรือแค่ว่า เซ็นไปเพราะเห็นว่า เป็นบริษัทที่ประมูลได้ต่ำกว่าราคากลางที่สุด อย่างไรก็ตาม วันนี้ก็ฉิบหายไปแล้ว ดังนั้น “เราต้องหาคนรับผิดชอบ” เพราะคนไทยคงไม่ยอมให้เสียเงินไปฟรีๆ เป็นสองพันล้าน
เรื่องนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ( ดีเอสไอ ) รับเป็นคดีพิเศษ โดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม บอกว่า จะพิจารณาว่าจะเข้าข่าย 3 ความผิดที่รับไว้เป็นคดีพิเศษหรือไม่ คือ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 พ.ร.บ.ว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ดีเอสไอได้รับเรื่องตรวจสอบกรณีการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว หรือนอมินี โดยหลักกฎหมายมีเจตนาในเรื่องเศรษฐกิจ เราจะเชิญชวนต่างชาติมาทำงาน แต่ว่าขอให้ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น คนไทยต้องได้รับ 51% ส่วนต่างชาติรับไป 49% แต่ว่าเมื่อมีการจะเอาไปทั้งหมดโดยใช้นอมินีเช่นนี้ ถือเป็นความผิด
“ความผิดอื่นที่เกี่ยวเนื่องก็จะต้องถูกตรวจสอบไปด้วย อาทิ เรื่องฮั้วประมูล เรื่องสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ในการก่อสร้าง หากสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ตึกก็จะเกิดเหตุถล่มได้ และปัญหาเรื่องนอมินี หรือกลุ่มนักธุรกิจที่มาเอาเปรียบ ก็ควรมีการตรวจสอบทั้งประเทศด้วย” ต้องบอกว่า ประโยคนี้ของอธิบดีดีเอสไอน่าสนใจ เพราะมีความเป็นไปได้ว่า บริษัทที่จีนจ้างนอมินีไทยมีอีกเยอะ คนจีนบางจำพวกมาหากินกันที่นี่เพราะการตรวจสอบของรัฐบาลเขาเข้มข้น ก็ต้องการหา“ฐานที่มั่น”ใหม่ เผลอๆ อีพวกรวยไม่มีที่มานี่อาจเกี่ยวกับทุนจีนบ้างก็ได้
รมว.ยุติธรรมกล่าวด้วยว่า “ดีเอสไอก็ต้องไปดูว่าบริษัทที่มีปัญหาไปร่วมค้ากับใครบ้าง ได้งานที่ไหนบ้าง เราจะตรวจสอบทั้งหมดจนสุดสาย ดีเอสไอมีหลักฐานมากพอสมควร ซึ่งมีสถานะทางการเงินของผู้เกี่ยวข้องมี 100 ล้านบาทขึ้นไปแน่นอน เพราะไม่ได้มีเพียงบริษัทเดียว แต่มีถึง 10 กว่าบริษัท ที่มีการใช้กรรมการชุดเดียวกันที่เป็นคนไทย และใช้สถานที่เดียวกันจดทะเบียนเป็นที่ตั้ง เห็นใจกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพราะไม่มีเครื่องมือในการตรวจสอบ แต่ดีเอสไอสามารถไปตรวจสอบสัญญาได้ โดยทราบว่าเขามีการเก็บไว้ 2 ที่ คือ เก็บไว้กับตัวเอง และเก็บไว้ที่สรรพากร และหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งเราจะเชิญคนเหล่านี้มาสอบถาม
สำหรับกรณีที่มีรายละเอียดว่าบริษัทดังกล่าวนี้ได้รับงานภาครัฐไปกว่า 10 โครงการ เรามีข้อมูลอยู่แล้ว เพราะในการสอบสวนจะต้องมีการไปรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิด รวมถึงประวัติผลงานโครงการในอดีตของบริษัทด้วย ส่วนการขยายผลไปถึงบริษัทที่ร่วมเข้าประมูลโครงการ ในกรณีอาจมีการสมยอม เป็นความผิดตามบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 อยู่แล้ว ซึ่งปกติจะมีเกณฑ์ว่าถ้าบริษัทมีการสมยอมกัน และไม่สมยอมกัน เรตราคามันจะมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง และบางครั้งแม้เรตราคามีความแตกต่างกันมาก อาจจะไปใช้วัสดุที่ไม่มีคุณภาพเพื่อเอาของถูกมาใช้ ซึ่งมันก็มีทั้งกรณีที่มีการฮั้วเกิดขึ้น แต่ก็ต้องไปตรวจเรื่องเนื้องานด้วย เพราะบางทีเนื้องานก็ไม่ได้มาตรฐาน
วัสดุทำตึกที่ถูกจับตาที่สุด ณ ขณะนี้ คือเหล็ก ได้มาตรฐานหรือไม่ “รมต.ขิง”เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม สุ่มตรวจเหล็ก ที่เก็บหลักฐานมาจากซากตึกสตง.ถล่ม พบว่า เหล็กข้ออ้อย ตกมาตรฐานอยู่ 2 ขนาด เป็นเหล็กเอสวายเค ของบริษัท ซินเคอหยวน ที่เคยถูกกรมโรงงานอุตสาหกรรมสั่งปิดไปตั้งแต่เดือนธ.ค. ปี 67ว่า ตนในฐานนะรมว.อุตสาหกรรม เป็นหนึ่งในคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มองว่า เห็นสมควรที่จะถอนสิทธิบัตร หรือสิทธิประโยชน์ในการสนับสนุนการลงทุนจากบีโอไอ ซึ่งตนจะเสนอในที่ประชุมบีโอไอต่อไป

รมต.ขิง จะมอบหมายให้ “อดีตสส.โอ๋” ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรมว.อุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจโรงงานซินเคอหยวน ต.หนองละลอก อ.หนองค่าย จ.ระยอง ที่ถูกกรมโรงงานอุตสาหกรรม สั่งปิดไปตั้งแต่ ธ.ค.ปี 67 มีความเคลื่อนไหวหรือไม่ หากพบว่า เหล็กที่ถูกอายัดไว้ นำมาขายแม้แต่เส้นเดียวจะมีโทษเพิ่มทันที หรือมีการลักลอกผลิตเหล็กเพิ่มเติม จะถูกดำเนินคดีเช่นกัน ยอมรับว่า อึ้ง เพราะโรงงานที่พบว่า ผลิตเหล็กไม่ได้มาตรฐานนี้ เป็นโรงงานที่ไปตรวจและสั่งปิดไปตั้งแต่เดือนธ.ค.ปี 67 แต่การก่อสร้างเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 63 สร้างมาแล้ว 5 ปี เมื่อกรมโยธาธิการและผังเมือง อนุญาตให้เข้าพื้นที่แล้ว ทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จะเข้าพื้นที่ไปเก็บเหล็กมาตรวจเพิ่ม
ส่วนการเพิกถอนมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ต้องเป็นไปตามกระบวนการ ที่ดำเนินการเหมือนกันทุกราย เมื่อตรวจสอบพบว่า ตกมาตรฐาน ก็ต้องอายัดเก็บ ตามขั้นตอนจะให้โอกาสธุรกิจ ไม่เช่นนั้นหากเจอแล้วปิดเลยก็จะเสี่ยงโดนฟ้องได้ แต่เมื่อให้โอกาสแล้วยังนำเหล็กที่ตกมาตรฐานมาใช้อีก ก็ต้องดำเนินคดี
เรื่องการสอบในหน่วยงาน แหล่งข่าวจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ( คตง.) ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร ขอให้รอผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบเหตุตึกถล่ม ที่น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งให้ตั้งขึ้นมาก่อนว่าจะชี้ถูก ชี้ผิดว่าเกิดจากอะไรกันแน่
“การทำงานของ สตง.จะแยกเป็น 2 ส่วน 1. คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ( คตง.) ดูเรื่องนโยบาย 2. สำนักงานสตง. ที่มีผู้ว่า สตง.เป็นผู้ดูแลทั้งหมด การก่อสร้างอาคารสำนักงานแห่งใหม่นี้ก็เป็นอำนาจหน้าที่ผู้ว่า สตง.ดูแล ซึ่งก่อนหน้านี้ทาง คตง.เคยสอบถามไปยังผู้ว่าฯ และขอเข้าไปช่วยดูแล แต่ผู้ว่าฯ บอกว่าดูแลเองได้ และตามกฎหมายก็ถือเป็นอำนาจของผู้ว่าฯโดยตรง คตง.จึงไม่ได้เข้าไปก้าวก่าย เพียงได้แต่ติดตามเป็นระยะเท่านั้น และเคยเรียกให้รายงานความคืบหน้าก็ไม่ค่อยได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร
ด้านท่าทีของ สตง. มีเอกสารเผยแพร่ โดยอ้างตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ( นายมณเฑียร เจริญผล ) ว่า “สูดลมหายใจลึกๆ กุมมือกันให้แน่น และก้าวไปพร้อมๆ กัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงบ่ายของวันศุกร์ที่ 28 มี.ค.2568 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดเท่าที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินของเราเคยประสบมา เหตุการณ์นี้นอกจากทำให้ความฝันของเราในการมีบ้านหลังใหม่ ที่รอคอยกันมาอย่างยาวนาน พังลงต่อหน้าต่อตาแล้ว ยังส่งผลถึงความน่าเชื่อถือถือ ศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิที่ร่วมกันสั่งสมกันมา โดยยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ ซ้ำร้ายยังเกิดเหตุการณ์ต่อเนื่องที่ทำให้หลายคนอยู่ในภาวะวิตกกังวล สับสน ไม่มั่นใจในความปลอดภัยทั้งในการทำงานและการใช้ชีวิต
แน่นอนว่าไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น หลายคนอยากให้มันเป็นเพียงแค่ฝันร้าย แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว และเราไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขอะไรได้ สิ่งเดียวที่ทำได้คือการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ร่วมแรงร่วมใจกันมองไปข้างหน้าเพื่อก้าวข้ามช่วงเวลาที่หนักหน่วงและเลวร้ายนี้ไปด้วยกัน
กับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เราจะอดทน อดกลั้น หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าและการตอบโต้กับผู้ที่มีความเห็นในเชิงลบ คิดซะว่าเป็นเรื่องปกติของหน่วยงานสาธารณะอย่างเรา ด้วยความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมว่า ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นสิ่งที่เรายึดถือจนกลายเป็นดีเอ็นเอของคนตรวจเงิน แผ่นดินอย่างไม่สามารถปฏิเสธได้
และเมื่อความจริงทุกอย่างถูกทำให้ปรากฏ เราจะมีความพร้อมเพื่อร่วมกัน เรียกทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งความน่าเชื่อถือ ศักดิ์ศรี และเกียรติภูมิซึ่งเป็นของเราอยู่แล้วกลับคืนมา เราจะใช้การทำงานเป็นเครื่องพิสูจน์ เราจะร่วมกันดูแล บ้านหลังเดิมของพวกเราให้คงเป็นบ้านที่อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข เราจะไม่ละทิ้ง ความฝันในการสร้างบ้านหลังใหม่เพื่ออนาคต และวันนี้ เราจะสูดลมหายใจลึกๆ กุมมือกันให้แน่น และก้าวไปพร้อมๆกัน
กลายเป็นลานจอดรถทัวร์ใหม่ ข้าราชการบางหน่วยงานมาเย้ยหยันไยไพว่า สตง.เก่งแต่กับข้าราชการตัวเล็ก ๆทำเป็นยิบย่อยกับคนอื่น แต่ตึกตัวเองพังประจานคนทั้งโลกว่ามันห่วย เพราะพังอยู่ตึกเดียวทั้งประเทศ มาบอกให้สูดลมหายใจกันลึกๆ แต่มีอีกกี่คนที่หมดโอกาสสูดลมหายใจไปแล้วจากการจัดซื้อจัดจ้างห่วยๆ นี้ ฯลฯ จนนายมณเฑียรต้องออกมาสยบดราม่าว่า เป็นเรื่องที่ให้กำลังใจกันภายในสำนักงาน พูดอย่างนั้นก็ไม่ได้แล้วไป เพราะคนไทยกำลังต้องการหาคนผิด ว่า ใครไปยอมรับให้ใช้วัสดุอย่างนั้น มีใน TOR หรือไม่
คำถามต่อๆ มาคือ สำนักงาน สตง.มีข้าราชการกี่คน ? ทำไมสร้างล่อไปตั้ง 30 ชั้น จะให้มีสวนลอยอีก หรูหราหมาเห่าไปถึงไหน และอยู่ๆ ในเนตก็เกิดมี“มือปริศนา” เปิดเผยราคาครุภัณฑ์ที่เขาเตรียมจะจัดซื้อมาไว้ในตึก ซึ่งทำเอาตาลุกกันพอสมควรว่า ทำไมเก้าอี้ต้องใช้ตัวละเกือบแสน ค่าพรม ค่าโต๊ะกินข้าวแพงขนาดนี้จะเอาไปแข่งกับวังแวร์ซายส์หรือไง แล้วไอ้ที่แหม่งๆ คือ ในเอกสารหลุดนั้น มีเรื่องซื้อฝักบัวอาบน้ำ 44 ชุด ชุดละหมื่น ซื้อก๊อกน้ำ ที่ใส่สบู่ โถส้วม “สำหรับผู้บริหาร” จนเกิดเสียงจิกกัดเหน็บแนมว่า สงสัยผู้บริหารจะมาอาศัยอยู่ในตึก ..หรือไม่ก็จะเอาตึกไว้ทำกิจการอะไรพ่วงหรือเปล่า ที่ต้องใช้ฝักบัวอาบน้ำเยอะ ๆ กิจการอะไรไม่รู้นะ ไปคิดกันเอง
ตึกพังหลังเดียว ดูจะลากไส้เรื่องสำคัญๆ ได้อย่างน้อย คือการตรวจสอบทุจริต การกำหนดเงื่อนไขงานเป็นไปเพื่อเอื้อใครหรือไม่ เข้าข่ายทุจริตหรือไม่ และมีอาคารไหนของรัฐอีกที่เอื้อเอกชนบางเจ้าก็ต้องตรวจสอบ เรื่องที่สองคือ การจัดการทุนเทาที่เข้าไทย มาแย่งงาน แย่งทรัพยากรคนไทยโดยอาศัยนอมินีคนไทย ไหนๆ ตึกก็พังแล้ว อย่าให้เสียเปล่า เอาคนผิดมาลงโทษให้ได้ หรือจะเพิ่มเรื่องการซื้อของรัฐแบบหรูหราหมาเห่าอีกเรื่องก็น่าสนใจ
เมื่อตึกถล่มไปแล้ว การเก็บกวาดที่ดีที่สุด คือจัดการสามปัญหาที่ว่ามา เพื่อสร้างความเชื่อมั่น.
………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”