ในภาคเศรษฐกิจ… มีการประเมินมาจากศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่คาดการณ์ ว่า จะเกิดจากการชะลอจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค รวมถึงความเสียหาจากตึก อาคาร  กระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมประมาณ 3,000-5,000 ล้านบาท

แต่ใน “ภาคจิตใจ” ของประชาชน แล้ว เชื่อได้ว่ามีจำนวนไม่น้อยที่  “หมดความเชื่อมั่น” หรือเกิดอาการ “ขยาด” กับการมีที่พักอาศัยเป็นคอนโดมีเนียมตึกสูง

แม้เวลานี้บรรดาผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ จะแห่กันออกมา “การันตี” ถึงความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างคอนโดมีเนียมของตัวเองในทุก ๆ โครงการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ลูกบ้าน

แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้น!! เชื่อเถอะว่า บรรดาลูกบ้าน เจ้าของคอนโดฯ ต่างอกสั่นขวัญแขวนกันแน่นอน เพราะสภาพห้องพัก สภาพห้องของตัวเอง ที่ปรากฏ หรือแม้แต่ในภาพใหญ่ ภาพรวม รอยร้าว รอยแยก รอยแตก และอีกสารพัดที่ปรากฏร่องรอยให้เห็น ย่อมทำให้ “รอยร้าว” ในใจเกิดขึ้นแน่

หากเป็นมหาเศรษฐี เศรษฐี คนร่ำคนรวย ที่มีคอนโดฯ เป็นบ้านหลังที่ 2 หลังที่ 3 คงไม่เดือดร้อน เพราะไม่ใช่บ้านหลังแรก

แต่!! คนที่เป็นเจ้าของบ้านหลังแรก ยอมอดออม  ยอมเสียเงินจำนวนมาก เพื่อซื้อความสะดวกสบาย กับที่อยู่อาศัยในเมือง ใกล้ที่ทำงานสะดวกสบายกับการใช้ชีวิต ก็อาจทำใจให้ “อยู่ต่อไม่ได้”

ขณะที่คนที่คิดจะซื้อคอนโดมีเนียม ก็ต้องหวาดผวา อาจยกเลิก หรือหมดความเชื่อมั่น ผลกระทบที่จะมีต่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่เวลานี้กำลังหืดขึ้นคอ จากปัจจัยเศรษฐกิจ ก็จะหนักหนาสาหัสเข้าให้อีก

สุดท้าย!! ก็จะกลายเป็นปัญหากระทบต่อระบบเศรษฐกิจที่กำลังยักแย่ยักยันเข้าให้อีก!

ณ เวลานี้ จากข้อมูลของตลาดคอนโดมีเนียม ในกรุงเทพฯ ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของภาคอสังหาริมทรัพย์ไทย มีสต็อกรอขาย มูลค่าไม่ต่ำกว่า 4.5 แสนล้านบาท ขณะเดียวกันยังมีอาคารใหม่ที่กำลังรอเข้าตลาดอีกมหาศาล ขณะที่ในไตรมาสแรกที่ผ่านมา มีคอนโดฯเปิดใหม่ นับกว่า 5,000 ยูนิต เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 67 %

แม้สมาคมสถาปนิกสยามฯ จะระบุว่า ปัจจุบันอาคารสูงในกรุงเทพฯ สาวนใหญ่ ถูกออกแบบให้รับมือกับแผ่นดินไหวขนาดปานกลาง หรือประมาณ 5-6 ริกเตอร์

แต่!! ก็มีปัจจัย เรื่องมาตรฐานก่อสร้างของแต่ละอาคาร และผลกระทบจากชั้นดินที่อาจทำให้แรงสั่นสะเทือนรุนแรงขึ้นในบางพื้นที่

ดังนั้น… ความเสี่ยงของอาคารสูงแต่ละแห่งจึงขึ้นอยู่กับปีที่สร้าง มาตรฐานที่ใช้ และการบำรุงรักษาโครงสร้างเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตามข้อมูลจากโซเชียล ได้แชร์ข้อมูลไว้ว่า การออกแบบอาคารสมัยใหม่ตั้งแต่ปี 50 เป็นต้นมา เน้นโครงสร้างให้มี “ความเหนียว”  ที่ออกแบบให้โก่งตัวและดูดซับแรงแผ่นดินไวได้ การเกิดรอยร้าว ทำให้มีเวลาในการอพยพ

ขณะที่ตึกเก่านั้นเน้นเรื่องความ “แข็งแกร่ง” ที่จะรับแรงแผ่นดินไหวได้น้อย ถ้าเกินขีดจำกัด จะพังทันที ไม่มีอาการที่จะเตือนล่วงหน้า

ขณะเดียวกันเรื่องของรอยร้าว ก็ไม่ได้แปลว่าอาคารอ่อนแอ แต่เป็น “สัญญาณเตือน” ว่ามีการเสียหายและควรให้วิศวกรตรวจสอบก่อนใช้งานต่อ

แต่ถ้าตึกใหม่ไม่ร้าวเลย อาจหมายถึง… แข็งแรงมาก แรงถึงขนาดที่แผ่นดินไหวยังไม่ถึงระดับที่ทำให้เกิดรอยร้าว หรือ… อาจเป็นเพราะไม่ได้ออกแบบให้มีความเหนียวตามมาตรฐาน

ดังนั้น ตึกที่ร้าวหลังแผ่นดินไหวเป็นเรื่องปกติของอาคารสมัยใหม่ เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้อาคาร แต่ต้องให้วิศวกรตรวจสอบความเสียหายก่อนกลับเข้าไปใช้งาน

ผลกระทบจากแผ่นดินไหวในครั้งนี้ กูรูทางด้านเศรษฐศาสตร์ อย่าง  “อมรเทพ จาวะลา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย บอกว่า กรณีนี้อาจทำให้ตลาดคอนโดฯ อาจถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เพราะได้รับผลกระทบมากที่สุด จากความกังวลถึงความปลอดภัย

เมื่อรวมกับความต้องการที่ซบเซาอยู่ในเวลานี้ อาจทำให้การตัดสินใจชะลอซื้อเพิ่มมากขึ้นไปอีก เพราะต้องรอการตรวจสอบความเสียหาย ขณะที่โครงการเก่าก็เสี่ยงตกกระแส เพราะคนซื้อลังเลที่จะลงทุนกับอาคารที่ไม่ได้ออกแบบให้รองรับภัยธรรมชาติ

สุดท้ายความต้องการซื้ออาจไปตกอยู่กับทางเลือกใหม่ อย่างบ้านแนวราบ หรือโครงการอสังหาฯที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงแผ่นดินไหวน้อยกว่า

ต้องยอมรับว่า จนถึงเวลานี้ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยกำลังเผชิญวิกฤติ “ความเชื่อมั่น” ที่ทั้งรัฐบาล ภาครัฐ ภาคเอกชน ต้องร่วมมือร่วมใจเพื่อดึงกลับมาให้ได้ ก่อนที่ทุกอย่างจะพังทะลาย!!

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”

อ่านบทความทั้งหมดคลิกที่นี่