โครงการฯมีจุดเริ่มต้นกม.14+500 ของทางหลวงหมายเลข 4142(ทล.4142) พื้นที่ต.ดอนสัก อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี  มุ่งหน้าทิศตะวันออกผ่านพื้นที่เกษตรกรรม สวนยางพารา และสวนปาล์ม ก่อนตัดผ่านทล. 4142 บริเวณ กม.35+700  ต.ควนทอง อ.ขนอม จ. นครศรีธรรมราช จากนั้นมุ่งหน้าทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านทางหลวงชนบทหมายเลข นศ.4004 ผ่านสวนปาล์ม และอ่าวประทับ มุ่งหน้าทิศตะวันออก ตรงไปเกาะสมุย  หลบพื้นที่ช่องลึก(เหว) ในทะเล และหลบแนวเขตปะการัง โดยตัดผ่านแนวปะการังส่วนที่แคบที่สุด(กว้าง 170 เมตร) เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับแนวปะการัง และเข้าเชื่อมเกาะสมุยบริเวณเนินเขาแหลมสอ  ผ่านพื้นที่โล่งสวนมะพร้าว และมีจุดสิ้นสุดโครงการเชื่อมต่อทล. 4170 บริเวณกม.9+000  ต.ตลิ่งงาม  อ.เกาะสมุย  ระยะทางรวม 37.41  กม..

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)   ยังอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม  โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 27-29 มี.ค. 2568  ได้จัดประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 คาดว่าจะศึกษาเสร็จสิ้นภายในปี 2569 

จากนั้นจะเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อเสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ขออนุมัติโครงการ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2572 และเปิดบริการปี 2576

โครงการฯ มีวงเงินลงทุนประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท  เบื้องต้นกทพ. มีแนวคิดให้เป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP)  รูปแบบโครงสร้างมีทั้งถนนระดับดิน ระยะทางประมาณ 15 กม. และโครงสร้างสะพานข้ามทะเลระยะทางประมาณ22 กม.  หากก่อสร้างได้สำเร็จจะถูกบันทึกเป็นสะพานข้ามทะเลยาวที่สุดของประเทศไทย  (***ปัจจุบันเจ้าของสถิติคือสะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 หรือสะพานไสกลิ้ง-หัวป่า/สะพานเอกชัย)  ระยะทาง 5.5 กม. ข้ามทะเลสาบสงขลา  เชื่อมการเดินทางระหว่างอ.ควนขนุน  จ.พัทลุง กับ อ.ระโนด จ.สงขลา)

รูปแบบถนนเป็นทางพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร ความกว้างช่องจราจรละ 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 1 เมตร มีเกาะกลางแบบแท่งปูน (Concrete barrier) บนเขตทางกว้าง 40 เมตร มีรั้วกั้นตลอดแนวเส้นทางโครงการท้ังสองฝั่งเพื่อความปลอดภัย

ส่วนรายละเอียดการออกแบบสะพานทางด่วน 22 กม. ทอดยาวในทะเลขนาด 4 ช่องจราจร ความกว้างช่องจราจรละ 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 1 เมตร มีเกาะกลางแบบแท่งปูน โครงสร้างสะพานในทะเลไม่กีดขวางการสัญจรทางทะเล และไม่ทำให้ค่าก่อสร้างและการบำรุงรักษาสูงเกินไป  ตัวสะพานในทะเล แบ่งเป็น 3 องค์ประกอบ  1.สะพานหลัก มีรูปแบบเป็นสะพานขึง (Cable-stayed Bridge)  2.สะพานรองมีรูปแบบเป็นสะพานคานขึง (Extradosed Bridge) และ 3.สะพานทั่วไป

1.สะพานหลัก เป็นสะพานขึงขนาดใหญ่ที่มีช่วงสะพานยาวเป็นพิเศษ เหมือนสะพานทศมราชัน(***ช่วงสะพานยาว450เมตร ขนาด 8 ช่องจราจร กว้าง 42 เมตร กว้างที่สุดในประเทศไทย )   รองรับการเดินเรือขนาดใหญ่ อาทิ เรือขนส่งก๊าซ เรือขนส่งน้ำมัน เรือเฟอร์รี่ และเรือรบหลวงลอดผ่านสะพาน สำหรับปฏิบัติภารกิจกรณีฉุกเฉิน เป็นต้น  มีความสูงจากระดับน้ำทะเล ถึงท้องสะพานสูงประมาณ 50 เมตร ความยาวช่วงสะพาน 250-300 เมตร 

2.รูปแบบสะพานคานขึง เป็นสะพานแบบคานคอนกรีตที่ติดตั้งสายเคเบิลเช่นเดียวกับสะพานขึงแต่มีความสูงของเสาเหนือพื้นสะพานที่เตี้ยกว่าสะพานขึง   จะก่อสร้างสะพานคานขึงริมชายหาดเกาะสมุย เชื่อมฝั่งเกาะสมุย ตอม่อสะพานไม่อยู่ในแนวปะการัง สะพานจึงต้องมีความยาวช่วง 220-250 เมตร 

3.สะพานทั่วไป ออกแบบให้รองรับการสัญจรของเรือประมงในพื้นที่ มีความสูงจากระดับน้ำทะเล ถึงท้องสะพาน ประมาณ 15 เมตร   เป็นสะพานแบบคานคอนกรีตช่วงสะพานยาว 60 เมตร ระยะทางประมาณ  21.53- 21.45 กม.  ค่าก่อสร้างถูกกว่าสะพานขึง และสะพานคานขึง 

อีกความพิถีพิถันในการออกแบบสะพานในทะเลให้คงทนต่อสภาวะแวดล้อมทางทะเลเป็นพิเศษ ต้านทานคลื่นในทะเล รวมถึงแรงลม และแผ่นดินไหว รวมทั้งป้องกันเรือขนาดใหญ่ชนตอม่อสะพานขึงด้วย

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการกทพ. บอกว่า  ผลการรับฟังความคิดเห็นในทุกครั้ง  เป็นเรื่องน่ายินดีที่โครงการได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน และผู้ประกอบการในพื้นที่ ได้มีทางเลือกเดินทางเข้าออกเกาะสมุยที่สะดวกรวดเร็วและปลอดภัยมากขึ้น  ขณะเดียวกันขอขอบคุณผู้บริหารสายการบินบางกอกแอร์เวย์สที่ให้การสนับสนุนมั่นใจว่าโครงการฯจะไม่กระทบกับปริมาณผู้ใช้ท่าอากาศยานสมุย  เพราะเป็นคนละกลุ่มเป้าหมาย 

ทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุยจะจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง  ประชาชนและนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางได้ตลอดเวลา 24 ชม. เพิ่มทางเลือกจากการเดินทางทางอากาศ และทางเรือ  ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในเกาะสมุย และบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่และสนับสนุนระบบเศรษฐกิจของประเทศ 

อดใจรอ…อีกทางเลือกเดินทางเชื่อมเกาะสมุย ด้วยสะพานทางด่วนข้ามทะเลยาวที่สุดของประเทศไทย และแห่งแรกที่ผสมผสาน 3 รูปแบบก่อสร้างทั้งสะพานทั่วไปสะพานขึงและสะพานคานขึง

……………………………………………….
นายสปีด

***ห้ามคัดลอกเนื้อหาและภาพในบทความนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

คลิกอ่านบทความทั้งหมดที่นี่…