เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร ให้เริ่มขั้นตอนการยุบกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นไปตามหนึ่งในคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ ตั้งแต่ช่วงการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว
ทั้งนี้ ทรัมป์กล่าวว่า นางลินดา แมคแมน ซึ่งผู้นำสหรัฐขอให้เป็น “รมว.ศึกษาธิการคนสุดท้าย” ใช้อำนาจทั้งหมดที่มีอยู่ตามกฎหมาย “ส่งคืน” อำนาจในเรื่องนี้ กลับไปให้แต่ละรัฐบริหารจัดการกันเอง

ผู้นำสหรัฐคนปัจจุบันกล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการของประเทศ เป็นหน่วยงานที่ “หลอกลวง” และไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานให้ได้ตามเป้าหมาย เพราะการศึกษาของสหรัฐอยู่ในอันดับที่ 40 ของโลก ตามผลการสำรวจจากหน่วยงานหลายแห่ง แต่เมื่อพูดถึงเรื่องค่าใช้จ่าย การศึกษาของสหรัฐกลับแพงที่สุดในโลก
ขณะที่พรรคเดโมแครตและหน่วยงานเกี่ยวกับการศึกษาอีกหลายแห่ง วิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้อย่างหนัก และแสดงความกังวลว่า จะส่งผลกระทบต่อโครงการสำคัญหลายโครงการ ทั้งโครงการอาหารกลางวัน การมอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียน และโครงการกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งตอนนี้มีผู้กู้ยืมเกือบ 43 ล้านคน และคิดเป็นมูลค่าหนี้รวมกันราว 1.69 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 57 ล้านล้านบาท )
ยิ่งไปกว่านั้น ระบบการศึกษาของจีนมีคุณภาพดีกว่าของสหรัฐมาก คืออยู่ในกลุ่ม 5 อันดับแรกของโลก ถือเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ชัดเจนมากขึ้นไปอีก ว่ากระทรวงศึกษาธิการของสหรัฐไร้คุณภาพ และสมควรถูกปิด เนื่องจากทำงานได้ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่เคยได้รับไปมหาศาล นอกเหนือจากการที่หน่วยงานแห่งนี้ “เป็นแหล่งซ่องสุมของแนวคิดฝ่ายซ้ายมาเนิ่นนาน”

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นเดือนมี.ค. แมคแมนประกาศมาตรการลดจำนวนบุคลากรภายในกระทรวงศึกษาธิการ เจ้าหน้าที่ซึ่งต้องพ้นจากตำแหน่ง จะได้รับอีเมลแจ้งให้พักงาน ตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค. ที่ผ่านมา และทุกคนจะยังคงได้รับเงินเดือนตามปกติ จนถึงวันที่ 9 มิ.ย. นี้ โดยทุกสำนักงานและทุกแผนกของกระทรวงศึกษาธิการ จะได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวหลังเสร็จสิ้นขั้นตอน และจะเหลือบุคลากรในทุกหน่วยงานรวมกัน 2,183 คน
ปัจจุบัน กระทรวงศึกษาธิการสหรัฐ มีเจ้าหน้าที่ 4,133 คน และได้รับงบประมาณสนับสนุนปีละประมาณ 238,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 8 ล้านล้านบาท ) ถือเป็นกระทรวงขนาดเล็กที่สุด ในบรรดาหน่วยงานระดับกระทรวงทั้ง 15 แห่งของสหรัฐ
แม้รัฐธรรมนูญของสหรัฐระบุชัดเจน ว่าการก่อตั้งและยุติการดำเนินงานของหน่วยงานระดับกระทรวงแห่งใด ต้องผ่านการอภิปรายและลงมติเห็นชอบโดยสภาคองเกรส จึงเป็นไปได้ว่า รายละเอียดในคำสั่งของทรัมป์ น่าจะหมายถึงการลดจำนวนบุคลากร และขอบเขตอำนาจของกระทรวงศึกษาธิการให้มากที่สุด “อย่างน้อยในตอนนี้”
อย่างไรก็ตาม หากแผนการดังกล่าวประสบความสำเร็จในที่สุด “ไม่ว่าด้วยวิธีการใดก็ตาม” จะถือเป็นการที่ทรัมป์สามารถปฏิบัติตามหนึ่งในการให้คำมั่นสัญญาครั้งสำคัญ ตั้งแต่ข่วงหาเสียงเลือกตั้งปีที่แล้ว และเป็นเรื่องที่ฝ่ายขั้วอำนาจเก่าในพรรครีพับลิกันเคลื่อนไหวมานาน
กระทรวงศึกษาธิการสหรัฐเป็นหน่วยงานระดับกระทรวงอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2522 ในสมัยประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ โดยแยกออกมาจากกระทรวงสาธารณสุข แต่การก่อตั้งครั้งแรกต้องย้อนไปถึงสมัยประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสัน ในช่วงสงครามกลางเมืองอเมริกา เมื่อปี 2410 ซึ่งหลังจากนั้น การกำหนดและขับเคลื่อนนโยบายเกี่ยวกับการศึกษาของสหรัฐ อยู่ภายใต้การบริหารของหน่วยงานหลายแห่ง
การก่อตั้งกระทรวงศึกษาธิการอย่างเป็นทางการของสหรัฐ ในยุครัฐบาลคาร์เตอร์ สร้างความไม่พอใจอย่างหนักให้กับประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ผู้นำคนต่อมา ซึ่งเรียกกระทรวงศึกษาธิการว่า “หน่วยงานราชการไร้สาระ” ที่เป็นการรวบอำนาจของรัฐบาลวอชิงตัน ในการจัดการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชน ทั้งที่เรื่องนี้ควรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของแต่ละรัฐ หรือการบริหารระดับท้องถิ่นมากกว่า ซึ่งจะมีความเข้าใจมากกว่า ว่าเด็กในพื้นที่ของตนเองควรได้รับการศึกษาอย่างไร

ด้านผลการสำรวจความคิดเห็นชาวอเมริกันโดยองค์กรอิสระเกี่ยวกับการศึกษา “ออลฟอร์เอด” ( All4Ed ) เมื่อปี 2567 ระบุว่า 58% ของกลุ่มตัวอย่าง ไม่ว่าจะสนับสนุนพรรครีพับลิกันหรือพรรคเดโมแครต ไม่ต้องการให้มีการยุบกระทรวงศึกษาธิการ
ขณะที่นายเท็ด มิตเชลล์ ประธานสภาอเมริกันเพื่อการศึกษา ซึ่งเป็นหนึ่งในเอ็นจีโอชนาดใหญ่ที่เคลื่อนไหวด้านการศึกษาในสหรัฐ กล่าวว่า คำสั่งของทรัมป์ไม่ต่างอะไรกับ “ละครการเมือง” ไม่ใช่การคำนึงถึงผลประโยชน์ของอเมริกันชนอย่างแท้จริง
มิตเชลล์เสนอด้วยว่า ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ คือทำเนียบขาวและสภาคองเกรส ควรให้ความสำคัญเกี่ยวกับการปฏิรูปการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์อย่างแท้จริงแก่ประชาชนทุกภาคส่วน ไม่ใช่การใช้อำนาจฝ่ายเดียว เพื่อตัดงบประมาณ หรือถึงขั้นต้องการปิดหน่วยงานเช่นนี้
นับจากวันที่ทรัมป์จรดปากกาลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร อนาคตของกระทรวงศึกษาธิการสหรัฐไม่แน่นอนอีกต่อไป หากมีการเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภาคองเกรสจริง อาจได้รับความสนับสนุนในขั้นตอนของสภาผู้แทนราษฎร ที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากเหนือพรรคเดโมแครต 218 ต่อ 213 เสียง
กระนั้น ในการลงมติของวุฒิสภา การสั่งปิดหน่วยงานระดับกระทรวงแห่งใดก็ตาม ต้องการเสียงสนับสนุนของวุฒิสภา ไม่น้อยกว่า 60 จากทั้งหมด 100 เสียง แม้ตอนนี้พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมาก 53 เสียง แต่ยังขาดอีกอย่างน้อย 7 เสียง และท่าทีของพรรคเดโมแครต ณ เวลานี้ คือ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการยุบกระทรวงศึกษาธิการ.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : AFP