“แบรนด์ไทยได้เปรียบด้านความเชื่อมั่นเรื่องคุณภาพ แต่การสร้างโอกาสยังมีอุปสรรคจากการขาดความเข้าใจในเรื่องกฎระเบียบที่เข้มงวดซึ่งถ้าผู้ผลิตไทยศึกษากฎระเบียบเหล่านี้ และเตรียมเอกสารที่จำเป็นให้ครบถ้วนก็น่าจะเพิ่มโอกาสให้กับตัวเองได้” เป็น “ข้อคิดเห็น” ที่ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ้ (สคต.นครเซี่ยงไฮ้) ได้แนะนำไว้ถึงโอกาสของผู้ประกอบการไทย ที่มีโอกาสสามารถจะเจาะตลาด “ธุรกิจความงามในจีน” ที่วันนี้คอลัมน์นี้มีข้อมูลมาสะท้อนต่อ…
เกี่ยวกับข้อมูลเรื่องนี้ ทาง สคต.นครเซี่ยงไฮ้ โดย CHANIKAN SUAIPHROMRAT ให้รายละเอียดไว้ว่า นิยามธุรกิจความงามของจีนนั้น จะหมายถึงบริการที่ใช้เทคนิคและวิธีการทางความงามมืออาชีพ เพื่อดูแลฟื้นฟูผิวพรรณของร่างกาย ตลอดจนปรับปรุงแตกแต่งรูปร่างและใบหน้าให้สวยงาม โดยจะแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ 1.การดูแลความงามทั่วไป ที่เป็นการใช้เครื่องสำอางและอุปกรณ์ที่ไม่ใช่เครื่องมือแพทย์ และ 2.การดูแลความงามด้วยเวชกรรม ที่เป็นการใช้วิธีทางการแพทย์ที่ไม่ได้ศัลยกรรม แต่จะใช้ผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ และวิธีการทางการแพทย์ที่ทันสมัย เพื่อตอบสนองความต้องการด้านความงาม โดยข้อมูลจาก iiMedia Research คาดการณ์ว่า ธุรกิจความงามในจีนของปี 2025 มีแนวโน้มเติบโต และอาจมีมูลค่าถึง 318,600 ล้านหยวน เนื่องจากผู้บริโภคเต็มใจที่จะจ่ายค่าใช้จ่ายในระดับที่สูง และนอกจากตลาดผลิตภัณฑ์ความงามจะเติบโตดีแล้ว “ธุรกิจเวชกรรมความงามแบบเบา” ก็มีแนวโน้มขยายตัวด้วย โดยธุรกิจที่ให้บริการประเภทนี้มีการเติบโตสูงขึ้นเรื่อย ๆ อาทิ บริการประเภทการฉีด การฟื้นฟูผิวแบบไม่ผ่าตัด การใช้เลเซอร์ การร้อยไหมหรือเทคนิคอื่น ๆ เพื่อเสริมความงาม เนื่องจากผู้บริโภคมองว่าสะดวกและปลอดภัย โดยข้อมูลปี 2023 พบว่า ขนาดตลาดธุรกิจอุปกรณ์เวชกรรมความงามของจีนมีมูลค่าถึง 77,480 ล้านหยวน และคาดว่าจะเติบโตต่อไปเรื่อย ๆ จากความต้องการที่สูงขึ้น นี่เป็นตัวเลขข้อมูลที่ผู้ประกอบการไทยน่าสนใจ
อย่างไรก็ตาม แต่การที่ผู้ประกอบไทยจะบุกเข้าไปแบ่งสัดส่วนในตลาดนี้ได้นั้น สคต.นครเซี่ยงไฮ้ ได้ให้คำแนะนำในเรื่องดังกล่าว่า ตลาดความงามในจีนกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและบริการเวชกรรมความงามแบบเบา ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ผลิตไทยที่ต้องการขยายตลาดไปจีน อย่างไรก็ตาม แต่การเข้าสู่ตลาดจีนจำเป็นต้องเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคและแนวโน้มของตลาดอย่างลึกซึ้ง ซึ่ง ผู้บริโภคจีนให้ความสำคัญกับคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ ซึ่งแบรนด์ไทยได้เปรียบในเรื่องนี้ หากเน้นการสื่อสารที่จุดเด่นนี้ ผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ชต่าง ๆ ที่นิยมในคนจีน ก็น่าจะจะช่วยสร้างความน่าสนใจและเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญให้กับแบรนด์ได้มาก แต่ก่อนจะเข้าไปขยายตลาดในจีน ผู้ประกอบการไทยก็จำเป็นต้องศึกษาเรื่องกฎระเบียบที่การนำเข้าและการจำหน่ายให้ละเอียดและเตรียมเอกสารที่จำเป็นให้ครบถ้วนเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานำเข้า ซึ่งหากทำได้ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งตลาดต่างประเทศที่ สร้างโอกาส-สร้างเม็ดเงิน ให้กับผู้ประกอบการไทยได้อย่างแน่นอน.
ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ [email protected]
ขอขอบคุณข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ้ (สคต.นครเซี่ยงไฮ้)