เพราะมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ในหลายเหตุผล โดยเฉพาะการก่อให้เกิดการ “จงใจเบี้ยวหนี้” หรือ มอรัลฮาดซาร์ด ซึ่งสุดท้ายกลายเป็นปัญหาเวียนวนจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเข้าให้อีก
อย่างไรก็ตามในเมื่อ”ทักษิณ” พูด รัฐบาลพ่อเลี้ยง ก็ต้องทำ โดยเวลานี้อยู่ในขั้นตอนของการเจรจากับบรรดาสถาบันการเงิน ที่มือเศรษฐกิจอย่าง “พิชัย ชุณหวชิร” ได้ให้เวลาอีก 1-2 สัปดาห์
ในมุมของคนที่เป็น”ลูกหนี้” ย่อมเห็นด้วยเป็นเรื่องธรรมดา เพราะในเมื่อหมดที่ไป เมื่อรัฐยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ โดยเฉพาะการปลดออกจากเครดิตบูโร ที่จะช่วยเพิ่มลมหายใจให้อีกระลอก
ส่วนมุมของแบงก์ หรือสถาบันการเงิน แม้มีความเป็นห่วงอยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น เพราะลูกหนี้เหล่านี้ทางแบงก์ได้เสียเงินตั้งสำรองหนี้ไว้ 100% อยู่แล้ว
แต่…ถ้ารัฐบาลยอมยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือโดยรับซื้อหนี้ก้อนหนี้ออกไปบ้าง ก็เท่ากับช่วยปลดเปลื้องภาระในระดับหนึ่ง แม้ได้รับเงินค่าซื้อหนี้เพียงเสี้ยวเดียวจากที่ตั้งสำรองหนี้สูญไปแล้วก็ตาม
ในอีกทาง!! แบงก์ก็ยังมีโอกาสที่จะสามารถขยายสินเชื่อให้เพิ่มขึ้นได้ด้วยเช่นกัน
ขณะที่ในมุมของกูรู นักวิชาการ หรือภาคสังคม ย่อมไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน เพราะจะทำให้เกิดการจงใจเบี้ยวหนี้แน่ ๆ คนที่เคยส่งหนี้ตามปกติ ก็จะคิดว่าคนที่ทำดีแต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือ เพราะฉะนั้น ก็ปล่อยให้เป็นหนี้เสียไปซะ เดี๋ยวรัฐก็เข้ามาปลดหนี้ให้
นี่…คือเรื่องของความจริง ชาวบ้านชาวช่อง คิดกันอย่างนี้ทั่วบ้านทั่วเมือง!!
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศของสวนดุสิตโพล พบว่า 62.19% ต่างเห็นด้วยกับนโยบายนี้ เพราะจะช่วยรวมหนี้ทั้งหมดมาไว้ที่เดียว ดอกเบี้ยถูกลง ช่วยให้คนที่มีหนี้สบายใจขึ้น ไม่เครียด มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่เสียประวัติทางการเงิน
ขณะที่อีก 37.81% ไม่เห็นด้วย โดยไม่แน่ใจเรื่องความโปร่งใส อาจมีผลประโยชน์แอบแฝง ทำให้คนขาดวินัยทางการเงินและกู้เพิ่ม อาจกลายเป็นหนี้เสีย ส่งผลกระทบต่อการเงินของประเทศในอนาคต
ที่ไปที่มาของนโยบาย “ซื้อหนี้” ครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะที่ผ่านมาไม่ว่ารัฐบาลไหนก็แก้ปัญหา “หนี้” โดยใช้วิธีนี้ทั้งนั้น
แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อหนี้ที่มีหลักประกัน จึงไม่ได้เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันมากนัก เพราะอย่างไรก็มีหลักประกันที่สามารถนำมาจำหน่ายแปรกลับคืนมาเป็นรายได้ แม้ไม่เต็ม 100%
ในเมื่อ “การแก้หนี้” ถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลเพื่อไทย จะอย่างไรก็ต้องทำให้บังเกิด ทำให้ได้ ทำให้สำเร็จ เพราะนอกจากผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ ยังเป็นผลลัพธ์ทางการเมืองอีกด้วย เรื่องนี้? จริงแท้แน่นอน!!
เอาเป็นว่า หนี้ก้อนแรกที่รัฐบาลต้องการแก้ ก็จะเป็นหนี้ที่มีมูลหนี้ต่ำกว่า 1 แสนบาท ที่มีค้างอยู่ประมาณ 1.24 แสนล้านบาท หรือ 10% ของหนี้เสียทั้งหมด ส่วนจำนวนคนมีถึง 3.5 ล้านคน หรือ 65%
หากทำได้!! ก็เท่ากับว่าจะช่วยลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือน ลงไปได้ด้วยเช่นกัน แม้ไม่ได้ลดลงเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ลดลง ซึ่งก็ช่วยเสริมเครดิตของประเทศไม่ให้ถูกลดอันดับ
“พิชัย” ระบุไว้ว่า เมื่อซื้อหนี้มาแล้วก็ต้องดึงลูกหนี้มาเจรจาไม่ใช่ปล่อยลอยตัว เบื้องต้นลูกหนี้กลุ่มนี้ยังติดประวัติเครดิตบูโรอยู่ แต่จะทำให้หลุดเร็วขึ้น โดยใช้มาตรการให้ลูกหนี้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้นและไม่เกี่ยวกับเครดิตบูโรที่ติดอยู่ เพื่อนำไปทำมาหากิน
ทั้งนี้ทั้งนั้น…หนี้เสียเหล่านี้จะเป็นกลุ่มลูกหนี้รหัส 21 หรือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่ก่อนหน้านั้นเคยเป็นลูกค้าที่ดี แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ โดยไม่ได้ช่วยเหลือลูกหนี้แบบหว่านแหทุกคนแต่ช่วยเฉพาะกลุ่มเท่านั้น เพื่อป้องกันการเบี้ยวหนี้
เอาเป็นว่าภายในเดือนมี.ค.นี้ คงได้เห็นว่าความพยายามของรัฐบาลในครั้งนี้จะเป็นไปตามที่หลายคนคิดหรือเปล่า!!
……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”