วันความสุขสากล หรือ International Day of Happiness มีที่มาจากมติของที่ประชุมสหประชาชาติในวันที่ 12 กรกฎาคม 2012 ที่กำหนดให้วันที่ 20 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันความสุขสากล เป็นวันที่คนทั่วโลกจะร่วมเฉลิมฉลอง ตระหนักถึงความสุขซึ่งเป็นพื้นฐานของมนุษย์ และเพื่อเรียกร้องให้แต่ละประเทศผลักดันและเข้าถึงนโยบายสาธารณะที่จะเพิ่มความสุขให้แก่ประชาชนทุกคน
วันความสุขสากล หลายคนอาจคุ้นหูหรือผ่านตามาบ้าง หากย้อนไปถึงที่มาที่ไปของวันนี้
แนวคิดนี้เริ่มมาจาก “ประเทศภูฏาน” ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องประเทศที่ผู้คนมีความสุขมากที่สุด และยังติดอันดับที่ 1 ในการวัดความรุ่งเรืองของชาติและความสำเร็จทางสังคมอีกด้วย ที่สำคัญยังใช้ ดัชนีมวลรวมความสุข หรือ Gross National Happiness Index (GNH) ซึ่งเป็นดัชนีมวลรวมความสุข ที่ไม่ได้ใช้ชี้วัดการพัฒนาประเทศด้วยตัวเลขทางเศรษฐกิจ แต่ให้คุณค่ากับจิตใจที่ดีของประชาชนเป็นหลัก
โดยทางสหประชาชาติได้สำรวจวัดระดับความสุขในแต่ละประเทศทั่วโลก มีปัจจัยความสุขที่สำคัญ เช่น รายได้ การมีงานทำ ความสัมพันธ์ที่ดี ความไว้วางใจกันในชุมชน การมีค่านิยมที่เอื้อต่อความสุขและศาสนา สุขภาพกาย สุขภาพจิต ความสัมพันธ์ในครอบครัว การศึกษา เสรีภาพทางการเมือง ความเข้มแข็งของเครือข่ายสังคม การไม่มีคอร์รัปชัน ความเท่าเทียมทางเพศและสังคม เป็นต้น มาเป็นตัวชี้วัดความสุขของประเทศต่างๆ อีกด้วย