ตั้งแต่ต้นปี 2568 มา เราต่างก็ได้รับข่าวสารประเภทเรื่องส่วนตัวผัวเมียออกหน้าสื่ออยู่แบบคงไม่เรียกว่า บ่อย แต่เรียกว่า เกิดขึ้นมาทีมันก็ดังและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งต้องขอบคุณรายการโหนกระแสที่มีบางเทปเอาคู่กรณีมาเปิดหน้าท้าชนกันพูดให้รู้เรื่องกันไปข้าง ..คือเรื่องของคนอื่น โดยเฉพาะคนดัง มันมีคุณค่าข่าวเพราะสร้างความสนใจได้ และน่าเบื่อใครที่อวดฉลาดไปแสดงความเห็นว่า“ทำไมไม่สนใจเรื่องที่เป็นปัญหาบ้านเมือง” คือน่าส่งไปเรียนสื่อสารมวลชนเบื้องต้น ว่า หน้าที่ของสื่อ มีทั้งการเผยแพร่ข่าวสาร การเตือนภัย การนำเสนอเรื่องเพื่อให้เกิดประชามติ และการสร้างความบันเทิง และสื่อแต่ละสื่อก็มีลักษณะของตัวเองว่าจะเสนอเรื่องราวแนวไหน ถ้ารักจะดูสนทนาปัญหาบ้านเมืองก็ไปจูนหาช่องเอา

ขอเขียนถึงสักนิดเถอะว่าน่ารำคาญคนพวกนี้ ที่คิดว่า มาวิพากษ์วิจารณ์ว่าคนอื่นไร้สาระนี่เหมือนพวกมีปมอยากโชว์เหนือว่าตัวเองแคร์ปัญหาชาติบ้านเมือง ซึ่งก็อย่างที่บอกคือ สื่อมันมีเยอะแยะ อยากได้เนื้อหาแบบไหนหาเอาเลยจ้า ยิ่งอินเทอร์เนตยิ่งหาง่าย มาทำแสดงความเห็นแบบทะลุกลางปล้องด้วยเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับที่เขาพูดอยู่มันดูเสร่อ และเอาจริงก็คงเป็นพวกที่นั่งสาระแนเรื่องชาวบ้านอยู่นั่นแหละ แต่ยอมรับความเป็นตัวเองแบบนั้นไม่ได้ดูไม่เท่ ดูไม่ดี ทำตัวเหมือนคนประเภทเวลามีเซกส์ชอบคิดว่าตัวเองเป็นคนอื่น

อย่างไรก็ตาม ในการเป็นเรื่องราวความขัดแย้ง เราก็ได้รู้เรื่องเล่ห์ลวงอะไรต่างๆ หรือเรื่องไม่คาดคิด ที่มันมีโอกาสเกิดกับเรา กับคู่รักหรือในครอบครัวเราได้ เรื่องผัวเมียมันไม่ใช่“แค่ไว้เสือก” แต่หลายเรื่องมันเป็นบทเรียนที่น่าสนใจ น่าศึกษา ซึ่งไม่อยากใช้คำว่าถอดบทเรียน เพราะเอียนจะอ้วกกับคำนี้ หลังจากได้ยินใครสักคนในรัฐบาลนี้บอกว่าจะถอดบทเรียนเรื่องอุบัติเหตุที่ถนนพระรามสองอีกครั้งแล้วครั้งเล่า ..มีเสียงคนแถวๆ นี้ฝากด่ามาว่า “รัฐบาลประเทศนี้ ( เขาคงไม่ได้หมายถึงแค่รัฐบาลนี้ ) ถอดบทเรียนกันบ่อยกว่าถอดเสื้อผ้า ไปคิดเอาเองแล้วกันอาชีพอะไรที่ต้องถอดเสื้อผ้าบ่อย แถมย้ายค่ายกันบ่อยขึ้นอยู่กับเจรจาผลประโยชน์” อันนี้ก็ไม่ทราบเขาหมายถึงอาชีพอะไร

เรื่องหนึ่งที่ขอพูดถึงคือ “ความรุนแรงที่เกิดกับผู้หญิง” ซึ่งเคยได้อธิบายไปแล้วว่า ความรุนแรงไม่ใช่แค่การประทุษทางกาย แต่เป็นการกระทำที่ทำให้เกิดบาดแผลทางใจ ทั้งความเจ็บปวด ความรู้สึกด้อยคุณค่าตัวเอง กรณีที่น่าสนใจคือนักร้องเสียงนุ่ม“แสตมป์ อภิวัชร์” เป็นตัวอย่างที่ใช้สอนหญิงได้ว่า “ไปยุ่งกับเขา พอเขากลับไปดีกันเราก็หมา” เรื่องมันมาจากการที่นักร้องหนุ่มอยู่ๆ ไม่ทราบเกิดอะไรขึ้น ไปโพสต์โจมตีวงดนตรีหนึ่งทำนองว่า “จ้างคนไม่มีคุณธรรมจริยธรรมไว้ทำงาน” ชาวบ้านหากันใหญ่ และหวยออกที่วงทิลลี่เบิร์ด ซึ่งคนที่มีปัญหาเป็นฝ่ายซาวด์ในวงไม่ใช่นักร้อง

ก่อนหน้านี้ แสตมป์เคยพูดบนเวทีคอนเสิร์ตอารมณ์ออกจะดราม่า ว่า “ภรรยาถูกคุกคามอย่างหนัก และได้ฟ้องคนคุกคามไปแล้ว” รถทัวร์แห่มาให้กำลังใจนักร้องหนุ่มกันเต็มลาน แต่พอมาคราวนี้ ดันมีคนเปิดหลักฐานว่า แสตมป์เองที่มีชู้ และเคยไปโอดครวญกับเพื่อนในทำนองว่า ..อยู่กับเมียคนนี้เหมือนอยู่ในนรก โดนยึดโน่นยึดนี่ไปหมด.. เจ้าตัวก็ออกมายอมรับแบบ…ไม่รู้เรียกว่าแมนๆ ได้หรือเปล่าว่า คบชู้จริง และเลิกแล้ว แต่ผู้หญิงคนนั้นยังตามราวีไม่เลิก แบบไปเจอกันในงานแล้วเขามองจนเมียแสตมป์ประสาทเสีย

สุดท้าย คนมาทีหลังก็เลยโดนฟ้องไป เจ้าตัวก็อยากจบเรื่องยอมจ่ายไปเป็นล้าน แต่ก็ถูกเอามาโจมตีอีก .. รถทัวร์หันหัวไม่ถูกไม่รู้จะไปลงลานไหนดี เพราะดูมันก็เป็นความผิดร่วม แต่..ที่สุดแล้ว ไม่ว่าในสังคมไทยหรือสังคมโลก ความเป็นปิตาธิปไตย ( patriarchy ) ระบบชายเป็นใหญ่ก็ชนะ .. ประกอบกับความมีชื่อเสียงก็ชนะ เคยมีคนที่ทำงานร่วมกับแสตมป์มาโพสต์ว่า เคยคุยกับนักร้องดัง ไม่อยากให้อำลาวงการเพราะเขารักงานเพลงที่แสตมป์แต่ง และก็มีคนมาให้กำลังใจแสตมป์เรื่อยๆ มีร้านแถวปากน้ำเอาไปออกคอนเสิร์ตหลังเกิดเหตุ

แล้วชีวิตแต่ละฝ่ายก็ดำเนินต่อไป ด้วยความรู้สึกแบบอิหลักอิเหลื่อของคนติดตามข่าว บ้างก็ว่า มันจะจบให้ผู้ชายลอยตัวง่ายๆ แบบนี้เลยรึ ตอนเป็นชู้ก็ฝีมือตัวเอง ด่าเมียตัวเองให้เพื่อนฟัง แล้วพอคุยกับเมียได้ก็รวมหัวกับเมียจัดการชู้ฟ้องฉ่ำ  แบบชู้ต้องร้องเพลง…แค่นี้เท่านั้นเองน่ะเหรอ ที่เธอตอบแทนที่รักมา….ไปกับเขาแล้วเขายังฟ้องเอาอีก.. แต่บางฝ่ายก็ว่า life goes on จะถล่มเขาเอาถึงตายกันเลยรึไง เมื่อต่างฝ่ายต่างเคลียร์กันได้แล้วก็เลิกแล้วต่อกันไปทำมาหากินกัน ใช้เหตุผลว่า “เลือกจะเสพผลงานไม่ได้เสพตัวตน” จะเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่แล้วแต่จะคิด เพราะถ้าเรื่องแนวๆ นี้เกิดกับคนที่คุณไม่ชอบ ก็จะหาเหตุผลมาอ้างการที่คุณจะร่วมลงโทษทางสังคมก็ได้ ร้อยแปดพันเก้ามีให้อ้างได้

“เป็นชู้เขาจบที่เราหมา” อีกคดีก็อินฟลูเอนเซอร์ ( เดี๋ยวนี้ไม่ทราบเขาวัดกันอย่างไรว่า ใครควรจะเป็น “ผู้มีอิทธิพลทางสังคม” หรือ influencer ) จ๊ะโอ๋ ที่น่าจะดังเพราะขายอาหารเสริมหรือเครื่องสำอาง ซึ่งเหตุการณ์ของจะโอ๋ก็เกิดมา 2-3 ปีแล้ว กลับถูกรื้อฟื้นมาเพราะมีปัญหากับสามีเก่า แถมโดนภรรยาเก่าของหนุ่ม กะลา คือจูน เพ็ญชุลี ทวงหนี้จากการฟ้องชู้ซะอีก ต้องเสียให้ทั้งสามีตัวเอง 4 ล้าน เสียให้ภรรยาของคนที่ไปยุ่งเกี่ยวด้วยอีก 4 ล้าน ..ประกอบกับการวางตัวของภรรยาหลวงทำให้เน็ตไอดอล ( หรืออินฟลูเอนเซอร์ ) รายนี้กลายเป็นตัวร้ายสมบูรณ์แบบ

จากทั้ง 2 กรณี เสียงที่พยายามฝืนกระแสคือ“ให้โทษผู้ชายบ้าง ตบมือข้างเดียวมันไม่ดัง” ก็เหมือนจะมีคนหันมาเออๆ คะๆ ไปตามเรื่องนิดๆ หน่อยๆ จากนั้นก็ไปรุมฝ่ายหญิงแทน ..ดูๆ “มาตรการลงโทษทางสังคม” ไม่ค่อยจะได้ผลในสังคมไทยเท่าไรหรอก ไม่ทราบว่าเพราะคนไทยชอบให้โอกาสหรืออะไร แต่จากสองกรณีนี้ ดูฝ่ายชายเขาก็ยังทำมาหากินต่อได้ เพราะมีแฟนคลับบอก..เสพผลงานไม่ใช่ตัวตน… หรืออาจเป็นวิธีคิดชายเป็นใหญ่ ที่ผู้ชายได้รับการโอบอ้อมจากสังคมมากกว่า ทั้งจากเพื่อนผู้ชายด้วยกัน จากมิตรภาพแบบ brotherhood ไปไหนไปกันต้องเข้าข้างกัน ..หรือเพราะวิธีคิดที่มาจากสุภาษิตสอนหญิง ทำให้หญิงใดไม่ทำตามบรรทัดฐานดูสมควรจะถูกลงโทษ

สรุปได้แค่ว่า ใครอยากไปยุ่งผัวคนอื่นต้องหัดร้องเพลงนี้ให้เป็น “รับคำขอโทษเป็นเงินสดเท่านั้น ผู้หญิงหน้าด้านขึ้นศาลไม่ต้องร้องไห้ ฉันแค่คนถูกหลอกให้รักจะเอาเงินมากมายมาจากไหน ฉันก็เตือนตั้งแต่คราวนั้นไง เพิ่งตาสว่างขอโทษได้ไหมอยากให้เธอนั้นให้อภัย หยุดพล่ามซะที..ฉันจะเอาเงิน” เพลงของพร จันทพร และเนย ภัสวรรณ คนไปยุ่งผัวชาวบ้านควรหัดร้องไว้เพราะมันสื่อสารเข้าใจง่ายดีว่า“เมียหลวงเขาฟ้องได้ และผู้ชายลอยตัว ( ตรงวรรคฉันแค่คนถูกหลอกให้รัก )” แล้วจะได้ตระหนักชะงักบ้างว่า ความสนุกตื่นเต้นไม่กี่ครั้ง ไม่คุ้ม เผลอๆ ไปเจอผู้ชายแปลกๆ ที่ไล่หาคบผู้หญิงไปเรื่อยเพื่อหาเรื่องยืมเงินแล้วไม่คืน ..ความจริงเผยเมื่อไรคงเห็นกระแสว่า“โง่เอง”กับ“ชายชั่ว”คำไหนดังกว่ากัน

มีคนถามว่า “คดีดาราคดีไหนบ้างที่การกดดันทางสังคมสำเร็จ” นั่งนึกๆ ก็นึกออกคดีนึง ที่เรื่องเกิดมาหลายปีแล้ว  อดีตนักร้องสาวที่กำลังอนาคตรุ่ง มีคดีขับรถชนแล้วเจ้าตัวคงตกใจไม่ยอมลงจากรถ เท่านั้นเอง กระแสสังคมแบนหนักทุกทิศทาง ไม่สนับสนุนงานจนนักร้องสาวหายจากวงการไปเงียบๆ.. ตอนนั้นแม่นักร้องก็เคยออกรายการแบบเดียวกับโหนกระแสนั่นแหละ คือรายการ “ถึงลูกถึงคน” ทางช่อง 9 จัดโดยสรยุทธ สุทัศนะจินดา ไปพูดกับครอบครัวเหยื่อ

ก็ไม่รู้ว่า ตัวแปรอะไรกันแน่ที่ทำให้กรณีคือแบนคนพ้นวงการบันเทิงได้ ให้คิดๆ ดูก็น่าจะเป็นเพราะมันเป็นคดีที่ถึงชีวิต เพราะในช่วงไม่นานต่อมาก็มีข่าวดาราสาวหน้าคมไปมีเรื่องกับดารารุ่นพี่หน้าเด็ก ฟาดๆ ฟันๆ กันจนดารารุ่นพี่ได้ฉายาเมียหลวงลวงสังหาร ต่อมาก็เห็นดาราหน้าคมยังเล่นโลดแล่นในวงการได้ตามปกติ ..ไม่แน่ว่า ถ้าเป็นเรื่องแนวๆ ผัวๆ เมียๆ นี่คนไทยเดี๋ยวก็ลืม หรือคิดว่าเดี๋ยวเขาก็เคลียร์กันได้ ไม่ต้องไปแบนอะไรเยอะ

เมื่อวันที่ 19 มี.ค. ก็มีกรณีดาราสาว“ดิว อริสรา ทองบริสุทธิ์”ถูกครหาว่า เอากระเป๋าแบรนเนม – เครื่องประดับของ น.ส.วาสนา อินทะวงหรือ เมย์  นักธุรกิจชื่อดัง มูลค่าร่วม 26 ล้านบาท โดยมีข่าวว่า ข้าวของดังกล่าวถูกนำไปหมุนขายตามที่ต่างๆ ในราคาขาดทุน เพราะเป็นสินค้าที่ไม่มีใบรับประกันจากชอป ว่าเป็นของแท้ ราคาก็ถูกกดลงเป็นเท่าตัว ..จากนั้นในโลกโซเชี่ยลฯ ก็ช่วยกันขุดว่า ในอดีตเคยมีพฤติกรรมอะไรบ้าง จากที่เคยโชว์รวยจนในโลกโซเชี่ยลฯ สร้างวลี “อยากมีอาชีพเป็นดิว อริสรา”  ในรายการ หนุ่ม-กรรชัย กำเนิดพลอย ตั้งคำถามว่า “ดิวเอาเงินไปใช้อะไรเยอะแยะ” ในที่สุดเจ้าตัวก็ยอมรับว่า “เอาไปลงทุนแล้วเจ๊งหมดเลย และยอมรับเรื่องใช้เงินเกินตัว”

เรื่องแบบนี้ก็สอนให้รู้ว่า “เราไม่สามารถเชื่อใครจากชีวิตที่เขาสร้างภาพในโลกโซเชี่ยลฯได้” เพราะก็มีกรณีที่เอาของชาวบ้านหรือของเช่ามาอวดรวย สร้างเครดิตในอินสตาแกรมในโลกโซเชี่ยลฯ ใช้ชีวิตติดแกลม Glamorous ( เห็นชอบเขียนว่าใช้ชีวิตติด“แกรม” มันไม่ใช่ มันต้องติด“แกลม” ) ให้เห็นบ่อยๆ ดิว อริสราไม่ใช่คนแรก ..ในโลกทุนนิยมนี้ “เปลือก”มันสำคัญ และหลายคนตั้งหน้าตั้งตาแบกมันไว้ เพราะเชื่อว่า “สังคมตัดสินความเป็นตัวเราจากเปลือกนั้น ว่าเรา มี หรือ เป็น อะไร” ไม่มีใครอยากดูเป็น“ไอ้ขี้แพ้” จนลืมคิดถึงความพังทลายเมื่อวันหนึ่งเปลือกถูกดึงออก แล้วจะใช้ชีวิตอยู่ต่อไปอย่างไรในวันที่ถูกสังคมมองด้อยค่าไปแล้ว ..บทเรียนของคนในเรื่องนี้คือ“หัดประมาณตน”

สำหรับคนเป็นเจ้าหนี้ ก็ยังต้องระวัง“ลูกหนี้ทีเด็ด” อีกประเภทหนึ่ง ที่ทวงเมื่อไรฟ้องกลับข้อหาทำให้เสื่อมเสีย ซึ่งลูกหนี้ทีเด็ดรายนี้ก็เปรี้ยวเข็ดฟันสำหรับหลายๆ คน เพราะขนาดค่าจ้างทนายยังจะหาเรื่องเบี้ยวบอกแพงไป จนเห็นแล้วยังคิดว่า ที่ออกมาแสดงตัวแบบนี้ครอบครัวไม่อายเหรอ ? เรื่องเงินๆ ทองๆ ทำให้เสียคนกันมาเยอะ บางทีแค่คบกันนานหรือดูเป็นคนครอบครัวดี มีหลักมีฐานน่าเชื่อถือ ก็รับประกันคนไม่ได้หรอก

จริงๆ ในข่าวบ้านๆ ทะเลาะตบตีกันออกสื่อ มันก็มีสาระบางอย่างสอนใจแฝง หรืออาจสอนกฎหมายไปด้วย อย่าเพิ่งประเมินค่า“ข่าวเบา” ต่ำเกินไป ไม่แน่ว่า ข่าวเบามันก็อาจนำไปสู่การยกระดับทางสังคม การรู้เท่าทันก็ได้.  

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่