เนื้อความข้างต้นเป็นคำแถลงโดย องค์การยูเนสโก เมื่อ 21 ก.พ. ที่ผ่านมา เนื่องใน “วันภาษาแม่สากล” ที่ย้ำความสำคัญ “ภาษา” แสดงความเป็นห่วงหลังมีแนวโน้ม “ภาษาแม่–ภาษาถิ่น” ในหลายพื้นที่ทั่วโลก เสี่ยงสูญหายเพิ่มขึ้น ซึ่ง ในไทย–คนไทยก็น่าตระหนัก…
“ภาษามีคุณค่า” ที่ “มากกว่าสื่อสาร”
“รักษาภาษาแม่” นั้น “มีความสำคัญ”
สำคัญมิใช่แค่บางวัน…แต่เป็นรุ่นสู่รุ่น
เกี่ยวกับ “ข้อกังวล” ที่องค์การยูเนสโกมีต่อ “ภาษาแม่” หรือ “ภาษาถิ่น” ซึ่งขณะนี้พบว่า…มีแนวโน้มที่ภาษาท้องถิ่น หรือภาษาแม่ของคนแต่ละเชื้อชาตินั้น กำลังเผชิญกับการสุ่มเสี่ยงที่จะสูญหายไปตลอดกาลเพิ่มมากขึ้น ทางยูเนสโกก็ยังได้มีการระบุไว้ว่า… ปัจจุบันนี้ นอกจากภาษาหลักที่เป็นภาษาสากลแล้ว มีภาษาอยู่ทั้งหมดในโลกประมาณ 8,324 ภาษา หากแต่ที่ยังมีการใช้งานมีอยู่ราว 7,000 ภาษา โดยภาษาบางส่วนได้สูญหายไปแล้ว และบางส่วนก็กำลังจะหายไป ดังนั้นเพื่อรักษา “ภาษาท้องถิ่น” เหล่านี้ไม่ให้สูญหายไป จึงกำหนดให้ทุก ๆ วันที่ 21 ก.พ. ของทุกปีเป็น “วันภาษาแม่สากล”
แต่ก็มิใช่ว่าควรหวนตระหนักแค่ปีละวัน
ขยายความเกี่ยวกับ “ภาษาแม่” ทางองค์การยูเนสโกได้ให้นิยามไว้ว่า หมายถึง…ภาษาของกลุ่มชนต่าง ๆ ในทุกประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นภาษาใหญ่ หรือภาษาเล็ก ที่มนุษย์ใช้สื่อสารกันในครอบครัว ชุมชน และสังคมของตนเอง เพื่อเป็นเครื่องมือสื่อสารในวิถีชีวิต และเพื่อแสดงอัตลักษณ์ของกลุ่มคน …นี่เป็นคำจำกัดความ “ภาษาแม่”
ที่องค์การยูเนสโกชี้ว่า “ต้องปกป้อง!!”

และขยายความ “ความสำคัญของภาษาแม่” ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลจากบทความวิชาการ “ภาษาแม่-ภาษาเรา-ภาษาโลก” ที่จัดทำโดย ศาสตรา บุญวิจิตร ซึ่งมีการเผยแพร่ไว้ผ่าน วารสารเสียงชนเผ่า ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. โดยได้อธิบายถึงภาษาแม่ไว้ โดยสังเขปมีว่า… “ภาษาแม่” ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Mother tongue” หรือ “Native language” ซึ่งเราอาจจะเรียกว่าเป็นภาษาที่ 1 (First language) ของมนุษย์ เนื่องจากเป็นภาษาแรกที่มนุษย์ได้เรียนรู้และได้รู้จักจากการพูดคุยกับแม่ เป็นภาษาแรกที่มนุษย์ใช้สื่อสาร-ได้ยิน
ในบทความดังกล่าวทางผู้เขียนได้แจกแจงถึง “ความสำคัญ” ของภาษาแม่เอาไว้ว่า… ถือเป็นภาษาแรกที่คนใช้กันในครอบครัวและชุมชน ก่อนที่จะไปเรียนรู้ภาษาใหม่ที่เป็นภาษาอื่น ๆ โดย ภาษาแม่เป็นภาษาที่เป็นธรรมชาติที่สุดของมนุษย์อย่างไรก็ตาม แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงของโลก ทำให้ปัจจุบันคนมักหลีกเลี่ยงการพูดภาษาถิ่นหรือภาษาแม่ของตัวเอง เนื่องจากพบปัญหาว่า… คนที่พูดภาษาท้องถิ่นอย่างเดียว หรือพูดภาษาประจำชาติไม่ชัด มักถูกตีตราเป็นพลเมืองชั้นสอง (Minority people) ซึ่งจะได้รับการปฏิบัติจากรัฐหรือสังคมในอีกระดับหนึ่ง รวมถึงอาจถูกดูถูกเหยียดหยาม “ถูกด้อยค่า”
หลายคนจึง “หลีกเลี่ยงใช้ภาษาแม่”
ภาษาแม่ “ถูกลดความสำคัญ–ถูกลืม”
ทั้งนี้ ในบทความชี้ไว้ถึง “ความสำคัญของภาษาแม่” ต่อไปว่า… มีงานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่า มีอิทธิพลต่อพัฒนาการของเด็กโดยตรง ซึ่งการที่ครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งมีการใช้ภาษาแม่ในครอบครัวเพื่อพูดคุยสื่อสารกับเด็ก…ภาษาแม่ที่ใช้ระหว่างกันยังทำหน้าที่ เป็นสะพานสร้างความผูกพัน ระหว่างเด็กกับแม่ และเด็กกับสมาชิกครอบครัว หรือชุมชนนั้นด้วย
“ภาษาแม่สำคัญต่อการสร้างกรอบความคิด อารมณ์ และทัศนคติที่มีต่อโลกของเด็ก ซึ่งเด็กที่เติบโตมากับการใช้ภาษาแม่ในครอบครัวหรือชีวิตประจำวันจะกลายเป็นคนที่มีแนวโน้มจะเป็นคนที่รู้จักยอมรับผู้อื่น และเหยียดหรือก้าวร้าวต่อผู้อื่นน้อย ดังนั้นภาษาแม่จึงสัมพันธ์กับจิตใจผู้คนและสังคมด้วย” …เป็นอีกใจความสำคัญในบทความ
อย่างไรก็ตาม ทาง ศาสตรา บุญวิจิตร ระบุไว้ว่า… แม้ภาษาแม่จะมีคุณค่าและความสำคัญ แต่ปัจจุบันภาษาแม่ต่าง ๆ บนโลกนี้กลับค่อย ๆ เลือนหายไป เนื่องจากภาษาแม่ไม่ได้ถูกนำมาใช้เป็นภาษาทางการ หรือภาษาราชการ รวมถึงไม่ถูกใช้ในโรงเรียนหรือสถานศึกษา อีกทั้งการที่ถูกคนบางส่วน“ดูถูกเหยียดหยามการใช้ภาษาแม่”หรือบางประเทศมีการ “ห้ามใช้ภาษาแม่เพราะถูกมองเป็นภัยเซาะกร่อนความมั่นคง” เหล่านี้ก็ส่งผลให้ภาษาแม่ภาษาถิ่นค่อย ๆ เลือนหายจากวิถีชีวิต
“ประเทศไทยเองก็กำลังเผชิญกับปัญหาดังกล่าวเช่นเดียวกัน โดยไทยมีภาษาแม่หรือภาษาท้องถิ่นมากมายถึง 70 ภาษา แต่ปัจจุบันหลาย ๆ ภาษาได้สูญหายไปแล้ว เนื่องจากไม่ถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน และอีกหลาย ๆ ภาษาก็มีโอกาสสุ่มเสี่ยงที่จะสูญหายตามไปด้วย” …เป็น “สถานการณ์เสี่ยงภาษาแม่ในไทย” ที่มีการระบุไว้-น่าตระหนัก
“น่าคิด”…แม้ “ไม่ใช่ภาษาหลักในชีวิต”
แต่ “ก็ไม่ควรให้ภาษาแม่สูญหายไป”
และ “ควรหากลไกทำให้ยังอยู่ในวิถี”.
ทีมสกู๊ปเดลินิวส์