ทั้งนี้ “เรื่องราวระหว่างไรเดอร์กับผู้สูงวัย” ที่ทำให้ผู้พบเห็น-ผู้ได้รับรู้เกิดความ “ประทับใจ” นั้นก็ทำให้เกิดการลบล้างภาพจำกรณีไรเดอร์แย่ ๆ บางคนได้มากทีเดียว และว่าด้วย “ไรเดอร์ยุคดิจิทัล”ยุคที่เมืองไทยเป็น“ยุคสังคมผู้สูงวัย”นั้น..

มีนักวิชาการสะท้อน “มุมมองใหม่”

ฉายภาพ “บทบาทใหม่ของไรเดอร์”

ในฐานะ “สายใยครอบครัวยุคดิจิทัล”

ประทีป นัยนา

ภาพสะท้อนนี้ ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อ มาจากบทความ “ไรเดอร์…ญาติคนใหม่ขวัญใจผู้สูงวัยในครอบครัวยุคดิจิทัล” โดย ประทีป นัยนา นักวิจัยโครงการ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม (IPSR) มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีการเผยแพร่ไว้ใน www.theprachakorn.com ที่ฉายภาพ “บทบาทใหม่ไรเดอร์” ไว้ว่า… มีพัฒนาการและความสำคัญเพิ่มขึ้นจากเดิม โดยเฉพาะหลังโครงสร้างสังคมไทยได้เปลี่ยนจากครอบครัวใหญ่เป็น ครอบครัวเดี่ยว มากขึ้น และจากการที่ไทยเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ส่งผลให้ หลาย ๆ ครอบครัวต้องทิ้งผู้สูงอายุให้อยู่ลำพังโดยปัจจัยนี้เองที่ทำให้…

ไรเดอร์เข้ามามีบทบาท” เกี่ยวข้อง

ในฐานะ “สายใยเชื่อมความสัมพันธ์”

ทั้งนี้ นักวิจัยสถาบันวิจัยประชากรและสังคมท่านดังกล่าวสะท้อนผ่านบทความไว้ โดยสังเขปมีว่า… ในอดีตครอบครัวไทยนิยมอยู่ร่วมกันหลายรุ่น ทำให้การดูแลผู้สูงอายุเป็นเรื่องง่าย แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนไป ลูกหลานจำนวนมากต้องย้ายถิ่นฐาน ทำให้ต้องทิ้งให้ผู้สูงอายุอยู่ลำพังในชนบทหรือพื้นที่ห่างไกล หรือแม้แต่ในสังคมเมือง จากการที่ผู้คนจำเป็นต้องเร่งรีบ ก็มีหลายครอบครัว จำเป็นต้องทิ้งให้ผู้สูงอายุอยู่บ้านลำพัง ด้วยเหตุนี้เอง “ไรเดอร์”จึงเป็น “ญาติคนใหม่ในยุคดิจิทัลของผู้สูงวัย” หลาย ๆ ครอบครัว โดย “ไรเดอร์ยุคใหม่” ไม่เพียงทำหน้าที่ ส่งอาหารและของใช้จำเป็นให้ผู้สูงอายุ เท่านั้น แต่ยังเป็น…

สายใยเชื่อมโยงความรักความห่วงใย

เชื่อมโยงระหว่างสมาชิกในครอบครัว

ในบทความดังกล่าวทางผู้จัดทำยังได้ชี้ให้เห็นอีกว่า… ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญในปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดการย้ายถิ่นฐานของคนรุ่นใหม่จากชนบทสู่เมืองเพื่อหางานทำ และทำให้ผู้สูงอายุจำนวนมากจึงต้องอาศัยอยู่ตามลำพัง ขาดการดูแลใกล้ชิดจากลูกหลานเหมือนในยุคอดีต และยิ่งดูตัวเลขแนวโน้มการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุในครัวเรือนไทยที่อยู่ตามลำพังของปี 2567 จะพบว่า… ไทยมีผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพังสูงถึงร้อยละ 12.9 ซึ่งสัดส่วนเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปีนับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา โดยสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างครัวเรือนแล้วก็มีกรณีที่สวนทางกัน..

สวนทางคือ…“ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น” แต่

ได้รับการดูแลจากครอบครัวน้อยลง”

จากการเปลี่ยนแปลงไปที่มีบริบทเช่นนี้ ด้วยเหตุนี้นี่เองที่ทำให้ บริการไรเดอร์กลายเป็น “ตัวกลางสำคัญ” ที่ช่วย เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างลูกหลานในเมืองกับผู้สูงอายุในชนบท โดยไรเดอร์ไม่เพียงส่งของจำเป็นหรืออาหาร แต่ยังทำหน้าที่เป็น “ช่องทางส่งความรักของลูกหลานไปถึงผู้สูงอายุ” อีกทั้งในแง่ “คุณภาพชีวิตสุขภาพ” ผู้สูงอายุจำนวนมากก็อาจจะต้อง “พึ่งพาไรเดอร์”เพื่อให้ช่วยไปรับสิ่งของจากลูกหลาน หรือแม้แต่ยา อาหาร และของใช้จำเป็น เนื่องจากปัญหาสุขภาพและปัญหาทางร่างกาย โดยบริการจากไรเดอร์นั้น “ช่วยลดความกังวล” และ “เพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้สูงอายุ”

แต่ทั้งนี้ ประทีป นัยนา ก็ได้ระบุไว้ด้วยว่า… แม้ไรเดอร์จะเข้ามาเป็นสะพานเชื่อมสายใยความผูกพันครอบครัวยุคใหม่ แต่กระนั้นก็มี “ข้อควรระวัง” เช่นกัน โดยเฉพาะจาก ปัญหา “มิจฉาชีพ” แฝงตัวเข้ามา ซึ่งกรณีนี้อาจทำให้ผู้สูงอายุบางส่วนรู้สึกไม่ปลอดภัยหรือกังวลใจ ดังนั้น การเลือกใช้บริการจากแพลตฟอร์มที่น่าเชื่อถือและมีระบบตรวจสอบที่รัดกุมจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ผู้สูงอายุรู้สึกมั่นใจและปลอดภัยมากขึ้น …เป็น “คำเตือน” ที่ระบุไว้ในบทความดังกล่าว

อย่างไรก็ดี โดยสรุปแล้วนักวิจัยโครงการ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ก็สะท้อนไว้ว่า… ภายใต้สังคมยุคใหม่ และการที่บริบทโครงสร้างสังคมเปลี่ยนไป ทำให้บทบาทหน้าที่ “ไรเดอร์ยุคปัจจุบัน”จึงไม่ได้เป็นเพียงผู้ส่งของ แต่ยังช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว โดยความสัมพันธ์นี้ยังสะท้อนภาพของครอบครัวไทยยุคดิจิทัล ที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการดูแลความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ รวมถึงบางครั้งยัง “ช่วยเติมความรู้สึกอบอุ่นหัวใจให้ผู้สูงอายุ” ด้วย ด้วยเหตุนี้ “อาชีพไรเดอร์ยุคใหม่” ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้ส่งของ ยังกลายเป็น ส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันในสังคมดิจิทัล ด้วย โดยที่ “ไรเดอร์”

ช่วยทั้งเรื่อง “ลดช่องว่างในครอบครัว”

ช่วย “เติมเต็มความอบอุ่นใจผู้สูงวัย”

ไม่เพียง “ส่วนหนึ่งในสังคมดิจิทัล”

ยังเป็น “ส่วนสำคัญในสังคมสูงวัย”.

ทีมสกู๊ปเดลินิวส์