ทำท่าจะกลายเป็นอีกมหากาพย์เรื่องยาวแน่นอน ปัญหา ขบวนการสวมสิทธิชาวบ้าน นำชื่อไปขอที่ดินทำกินของ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.)แต่ชื่อไปโผล่อยู่ในแปลงปลูกทุเรียน และยังรุกเข้าไปใน เขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแควระบมและป่าสียัด หมู่ 20 บ้านห้วยนา,หมู่ 14 บ้านเขากล้วยไม้ ต.คลองตะเกรา อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา
ภาพโดรนมุมสูงที่ทีมข่าวเดลินิวส์ เกาะติดนำเสนอชี้พิกัดเป้าหมาย ตั้งแต่ สว.ชีวะภาพ ชีวะธรรม ประธานกมธ.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ถือเป็นหัวหอกนำสื่อจากส่วนกลางไปลงพื้นที่ตั้งแต่เดือน ก.พ. ทำให้เห็น อาณาจักรแปลงทุเรียนขนาดใหญ่ สุดลูกหูลูกตาลงต้นเสร็จเรียบร้อยนานแล้ว วางระบบแบบมาตรฐาน ขุดอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ฯลฯ
รัฐพยายามแก้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินให้กับชาวบ้านทั่วประเทศมาหลากหลายรูปแบบ ต้องมาเจอขบวนการเล่นแร่แปรธาตุ ปล่อยให้ที่ดินหลุดไปอยู่ในมือ “กลุ่มทุนใหญ่” หนำซ้ำทำท่าจะเป็น “นอมินี” ให้ต่างชาติอีกด้วย
หากไปไล่ดูข้อมูล สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี จัดตั้งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์ประการสำคัญคือ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองที่ดินโดยการจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้แก่ ราษฎรที่ยากไร้และเกษตรกร การกระจายสิทธิการถือครองให้แก่ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่ได้รุกล้ำ โดย มีมาตรการป้องกันการเปลี่ยนมือไปอยู่ในครอบครองของ “ผู้ที่มิใช่เกษตรกร” และ “ผู้ยากจน”
โดยที่ดินของรัฐที่นำมากำหนดเป็นพื้นที่เป้าหมายจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน แบ่งได้เป็น 9 ประเภท คือ ป่าสงวนแห่งชาติ, ป่าชายเลน, ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน, ที่ดินสาธารณ ประโยชน์, ที่ราชพัสดุ, ที่ดินสงวนเพื่อการนิคมในนิคมสร้าง ตนเอง, ป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484, ป่าไม้ถาวร และที่นิคมสหกรณ์ ปัจจุบัน กรมป่าไม้ มอบที่ดินให้ สคทช. ไปแล้ว 7.2 ล้านไร่ ตามวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ทำกิน เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่ คทช.กำหนดสามารถถือครองที่ดินได้ตามความเหมาะสม ไม่เกินรายละ 20 ไร่
สื่อตีแผ่ปัญหา ที่ดิน คทช. ถูกสวมสิทธิแล้วนำไปเปลี่ยนมือ กลายเป็นของ “กลุ่มนายทุน” นำไปใช้ปลูกสวนทุเรียนนับพันไร่ ทำให้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ออกมาสั่งการให้ นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ ทำหนังสือถึง ผวจ.ทุกจังหวัด ในฐานะ ประธาน คทช.จังหวัด เร่งตรวจสอบที่ดินของ คทช.นำไปจัดสรรให้ชาวบ้าน ย้ำชัดหากตรวจพบทำผิดเงื่อนไขของ คทช. นอกจากยกเลิกเพิกถอนแล้ว ต้องเอาผิดตามกฎหมายไม่มีข้อยกเว้น โดยเฉพาะภาคตะวันออกที่เป็นข่าวนำไปให้ “ทุนจีน” ปลูกสวนทุเรียน ให้เร่งลงพื้นที่สำรวจติดตามรายงานความคืบหน้าทุก 10 วัน
ขณะเดียวกัน ชุดพยัคฆ์ไพร กรมป่าไม้ และ ตำรวจ ปทส. โชว์นำกำลังเจ้าหน้าที่ออกจับกุมดำเนินคดีพื้นที่บุกรุกป่า-ขุดภูเขา ทั้งหมด 14 คดี เนื้อที่ 3,700 ไร่ อยู่ใน จ.จันทบุรี 11 คดี, ตราด 2 คดี และ ฉะเชิงเทรา 1 คดี มีทั้ง พื้นที่อนุญาต คทช., อยู่ระหว่างสำรวจ คทช.ยังไม่จัดคนลง และ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ
นโยบายดี ๆ ภาครัฐอุตส่าห์ทำเพื่อแก้ปัญหาให้ผู้ยากไร้คนจนได้มีที่ดินไว้ทำกิน แต่มี ’ไอ้โม่ง“ หน่วยงานไหนบ้าง? ไปร่วมขบวนการทุจริต เอาชื่อชาวบ้านไปสวมสิทธิให้ ’กลุ่มนายทุน“ ได้ขยายทำอาณาจักรสวนทุเรียนแปลงใหญ่ หนำซ้ำยังเปลี่ยนมือไปให้ “ทุนต่างชาติ“ ได้ที่ดินทำกินทำเลสวยอยู่ในป่าสงวนฯ
คดีรุกป่า-ขุดภูเขา ต้องสืบสวนขยายผลไปให้ถึงที่สุด อย่าให้เป็นเหมือนที่ถูกวิจารณ์ จับเก่งแต่ตายายเก็บเห็ดหาของป่า แต่ “นายทุนใหญ่” ปล่อยหลุดมือ!!.
……………………………………….
เชิงผา