แม้ว่าเรื่องโรคเรื่องอาการต่าง ๆ ที่จะชวนดูกันจะไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่เรื่องเดิม ๆ เรื่องนี้ที่เสี่ยงในช่วงฤดูร้อนก็จะชาชินหรือไม่ระมัดระวังไม่ได้ ยิ่งช่วงนี้มีการเตือน “เย็นหลงฤดูอากาศแปรปรวน” แล้วอีกไม่นานก็จะกลับมา “ร้อนจัด” อีก ก็ยิ่งควรเพิ่มการ “ระวังภัยสุขภาพ” ไม่ควรประมาท…

มีหลายโรคอาการที่เสี่ยงในฤดูร้อน

หากชะล่าใจอาจจะ “เดี้ยงในฤดูร้อน”

หรือรุนแรง “ถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้!!”

ทั้งนี้ “เตือนภัยโรค-อาการขาประจำช่วงฤดูร้อน” นี่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลเผยแพร่ที่น่าสนใจ-น่าตระหนัก ข้อมูลจากบทความการแพทย์ “ระวังโรคที่มากับหน้าร้อน” ที่เผยแพร่ไว้ทาง https://www.med.cmu.ac.th โดย กลุ่มงานสื่อสารองค์กร งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ้างอิงข้อมูลโดย อ.นพ.อุดมศักดิ์ ตั้งชัยสุริยา ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งที่เตือนให้ระวัง โดยสังเขปมีดังนี้…

เริ่มจาก…ระวัง “ผดผื่น”ซึ่งหน้าร้อนเด็ก ๆ ผู้สูงอายุ มักเป็นตามร่องพับ ใต้ร่มผ้า มีตุ่มแดง ระคายเคือง และอาจจะแสบด้วย ซึ่งถ้าผื่นมีการติดเชื้อจะมีลักษณะเป็นหนองเม็ดขาว ๆ ถ้ามีลักษณะติดเชื้อมากแนะนำให้รีบพบแพทย์เพื่อตรวจหารอยโรคและทำการรักษา อย่างไรก็ดี ในบทความดังกล่าวก็ยังได้มีการแนะนำ วิธีลดการเกิดป้องกันการเกิดผดผื่น คือเสื้อผ้าที่สวมใส่ควรเป็นเนื้อผ้าที่บางเบา อาบน้ำ รักษาสุขอนามัย รวมถึงพยายามอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอากาศเย็น

ถัดมา…ระวังอาการ “ตะคริว”ตะตริวที่เกิดจากความร้อน มักเป็นการสูญเสียเกลือแร่ในร่างกาย ในขณะที่เหงื่อออกมาก ดื่มน้ำน้อย มีเกลือแร่ทดแทนไม่เพียงพอ ทำให้เกิดตะคริว เช่น ที่น่อง หรือที่บริเวณอื่น ๆ ของร่างกาย ซึ่งถ้ามีอาการตะคริวที่น่อง ที่ขา ให้นั่งพัก และจับยืดขาเหยียดตรง กดปลายเท้าโน้มหาลำตัว เพื่อให้บริเวณน่องตึง ยืด คลาย และ วิธีป้องกันคือดื่มน้ำให้เหมาะสม ให้มีเกลือแร่เพียงพอ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่อากาศเย็น ใช้ผ้าเย็น ๆ เช็ดตามหน้า คอ แขน ขา สวมใส่เสื้อผ้าที่บางเบา ทั้งนี้ ระวังหากเป็นตะคริวในขณะเล่นน้ำ ขณะว่ายน้ำ อาจเป็นสาเหตุการจมน้ำเสียชีวิตได้!! ซึ่ง…

อย่าประมาทการเป็นตะคริวในน้ำ!!

เพราะ “จมนำเสียชีวิตมาเยอะแล้ว!!”

เตือนให้ระวังถัดมาคือ… ระวังอาการหน้ามืด “วูบ”จากอากาศร้อน กรณีนี้ในบทความดังกล่าวระบุไว้ว่า… ผู้สูงอายุ ผู้ที่ทำงาน ที่อยู่กลางแจ้งที่อากาศร้อนนาน ๆ ร่างกายจะสูญเสียน้ำ ถ้าดื่มน้ำและมีเกลือแร่ทดแทนไม่เพียงพอจะทำให้มีอาการวูบได้ โดย การป้องกันภาวะวูบควรหลีกเลี่ยงการทำงานในที่ร้อนนาน ๆ สวมเสื้อผ้าที่ระบายลมได้ง่าย ดื่มน้ำและเกลือแร่ให้เพียงพอ และการเปลี่ยนท่าทางก็ไม่ควรเปลี่ยนเร็ว เพราะจะทำให้เกิดอาการวูบได้ ซึ่งถ้าพบผู้มีอาการวูบหมดสติ ไม่ควรให้ดื่มน้ำ เพราะจะทำให้เกิดอาการสำลักน้ำได้ และ ถ้าผู้ที่วูบมีอาการผิดปกติรีบโทรฯ แจ้ง 1669 ทันที

กรณี “วูบ” นี่ในบทความเผยแพร่โดย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังระบุไว้ด้วยว่า… เกิดได้หลายสาเหตุ เช่น เปลี่ยนท่าทางเร็ว ก้มหยิบสิ่งของนี่ก็อาจหน้ามืดได้ ซึ่งนอนพักก็จะดีขึ้น แต่…ถ้า วูบโดยมีอาการนำที่เจ็บหน้าอกร้าวมาแขนด้านซ้าย ขึ้นมาบริเวณกราม หน้ามืดใจสั่น มักเป็นภาวะวูบจากหัวใจขาดเลือด …นี่ก็ต้องตระหนักไว้!!

ต่อด้วย…ระวัง “ท้องเสียอาหารเป็นพิษ”ช่วงอากาศร้อนเชื้อแบคทีเรียจะฟักตัว ปล่อยสารพิษออกมา หรือเชื้อแบคทีเรียบางชนิดมีตัวเชื้อปะปนในอาหาร เมื่อกินอาหารเข้าไปเชื้อก็ฟักตัวในลำไส้ และทำให้เกิดอาการถ่ายเหลว อาเจียน ปวดท้อง สูญเสียเกลือแร่ บางรายอาจถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือด และทำให้เกิดอาการช็อก ตามมา ซึ่งมีคำแนะนำคือ…หากไข้ขึ้นสูงร่วมกับอาเจียน ถ่ายเหลวเป็นมูกเลือด ตัวเย็น หน้าซีด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะจะนำสู่ภาวะช็อกได้ แต่ถ้ามีอาการเล็กน้อยให้ดื่มน้ำผสมเกลือแร่สำหรับท้องเสีย จิบบ่อย ๆ จะทำให้ร่างกายไม่อ่อนเพลีย ไม่ควรกินยาหยุดถ่าย หลีกเลี่ยงการดื่มนม งดอาหารรสจัด และงดกินของเปรี้ยว ให้เน้นอาหารที่ถูกสุขลักษณะอนามัย ทั้งนี้ อาหารที่อาจทำให้ท้องเสียอาหารเป็นพิษ เช่นอาหารที่อุ่นบ่อยๆ อาหารที่วางไว้โดยไม่มีการคลุมปิด มีแมลงวันตอม …ก็ต้องระวังให้ดี!!

ปิดท้ายโรคอันตรายที่ต้องระวัง… ระวัง “โรคฮีทสโตรก”ซึ่งบทความที่เผยแพร่ไว้ทาง https://www.med.cmu.ac.th โดยกลุ่มงานสื่อสารองค์กร งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่อ้างอิงข้อมูลโดย .นพ.อุดมศักดิ์ ตั้งชัยสุริยา ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ระบุถึง “ฮีทสโตรก” ไว้ว่า…มักเกิดในผู้สูงอายุ ผู้ที่ทำงาน ที่อยู่กลางแจ้งที่อากาศร้อนนาน ๆ โดยสูญเสียเกลือแร่ อ่อนเพลีย อาเจียน ซึม ชักเกร็ง มีไข้สูง ร่างกายไม่สามารถระบายเหงื่อ ระบบร่างกายส่วนต่าง ๆ ผิดปกติ ทำให้เสียชีวิตได้!! ซึ่งถ้าพบผู้มีอาการเข้าข่ายให้ย้ายผู้ป่วยเข้าที่ร่ม จัดให้นอนหงาย ยกขาสูง ถอดเสื้อแล้วเช็ดตัวด้วยผ้าชุบน้ำเย็น หรือประคบน้ำแข็งใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน หรือพ่นละออง รวมถึง รีบโทรฯ แจ้ง 1669 ทันที ด้วย

ก็สะท้อนต่อข้อมูลที่ “น่าตระหนักไว้”

กับ “อาการ-โรค” ที่มัก “ดุฤดูร้อน”…

ย้ำว่า “ถึงเดี้ยง” และ “ถึงดับ” ได้!!.

ทีมสกู๊ปเดลินิวส์