ทั้งในเรื่องของการลดค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดจำนอง จาก 3% เหลือ 0.01% หรือล้านละ 30,000 บาท ลดเหลือล้านละ 300 บาท ในราคาที่อยู่อาศัยไม่เกิน 7 ล้านบาท ซึ่งหมดอายุลงไปเมื่อ 31 ธ.ค.67 ที่ผ่านมา
โดยเชื่อกันว่าในอีกไม่ช้าไม่นาน หรือเผลอๆ อาจออกมาให้เห็นกันชัด ๆ ภายในสัปดาห์หน้ากันทีเดียว เพราะเป็นมาตรการที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่เป็นภาคเศรษฐกิจใหญ่ มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมาก เรียกร้องกันมาโดยตลอด
ข้อเสนอของภาคเอกชน เอง ต้องการให้ภาครัฐต่อมาตรการนี้ออกไปอีก 1 ปี หรือต้องการให้หมดอายุในวันที่ 31 ธ.ค. 68 นี้แทน เพื่อหวังให้เกิดการกระตุ้นกำลังซื้อ ในกลุ่มของตลาดกลาง-ล่าง ที่มีขนาดของตลาดใหญ่ที่สุดรวมกันแล้วประมาณ 50-60% ทีเดียว
แม้ว่าเรื่องนี้ อำนาจหน้าที่โดยแท้จริงแล้ว ต้องขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย ที่ต้องนำเสนอให้ครม.พิจารณา ก็ตาม แต่ก็เชื่อว่ามาตรการนี้คงเกิดขึ้นได้แน่ ๆ
ภาคเอกชนมั่นอกมั่นใจว่า มาตรการนี้จะเกิดขึ้นได้โดยเร็ว เพราะจากการเดินสายหารือกับทุกหน่วยงาน ทุกองคาพยพ ที่เกี่ยวข้องแล้วก็ได้รับการส่งสัญญาณที่ดีไม่น้อยทีเดียว
หรือแม้แต่การผ่อนคลายในเรื่องของมาตรการแอลทีวี หรือมาตรการบังคับเงินดาวน์แพงในการขอสินเชื่อซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 เป็นต้นไป ที่ขุนคลัง พิชัย เอง ก็ย้ำไว้ชัดเจนว่า มีแนวโน้มที่ดีจากแบงก์ชาติเช่นกัน
ต่อให้เวลานี้ ดูๆไปแล้วประชาชนคนไทย ยังจมอยู่ในอาการไม่มีกินไม่มีใช้ เพราะสารพัดปัญหาที่ถาโถมเข้ามาโดยเฉพาะปัญหาหนี้สินครัวเรือน ที่กลายเป็นหอกข้างแคร่ ของรัฐบาล เพราะก้าวข้ามเท่าไหร่ก็ไม่พ้นเสียที
แต่เอาเข้าจริง ในบรรดาคนที่อยากมีบ้านเป็นของตัวเอง ก็ยังมีอยู่จำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะในระดับคนชั้นกลาง ที่สำคัญ ยังเป็นระดับที่ยังพอมีกำลังหรือพอมีเงินที่จะซื้อบ้านได้
แถมยังมีโครงการบ้านเพื่อคนไทย ของประชาชนสำทับเข้ามาอีก ก็แสดงให้เห็นเด่นชัดว่า ยังพอมีกำลังซื้อในเรื่องของอสังหาริมทรัพย์ เพียงแต่ขาดปัจจัยหนุนที่สำคัญ
หากมาตรการที่เป็นเหมือนยาแรงและยาเร็วทั้งนี้ หากมาตรการยาเร็วและยาแรง ออกมาได้ทันกับการจัดงานมหกรรมบ้านและคอนโด ซึ่งเป็นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ที่ใหญ่ที่สุด ก็ถือเป็นจังหวะที่ดี ที่ทำให้การตัดสินใจซื้อบ้านเกิดเร็วขึ้น
บรรยากาศของการจับจ่ายใช้สอนในภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจ ก็จะได้เกิดอาการคึกคัก นั่น!! ก็หมายความว่าจะเกิดแรงเหวี่ยงในระบบเศรษฐกิจ เพิ่มขึ้นด้วย
ไม่ใช่เฉพาะประชาชนคนอยากมีบ้านเท่านั้น แต่จะช่วยเป็นหยาดฝนให้กับบรรดาผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เอง ที่ตอนนี้กำลังขาดสายป่าน จากกำลังซื้อบ้านหดหาย
หากมีหยาดฝนเข้ามาปะพรม ก็เท่ากับว่า การหายใจหายคอ ก็มีเพิ่มมากขึ้น บรรดาหนี้สิน หรือหุ้นกู้ ที่ออกไว้ก่อนหน้านี้ก็จะได้รับการชำระ นั่นหมายถึงระบบเศรษฐกิจก็จะไม่ตุปั๊ดตุเป๋
เพราะอย่าลืมว่า ทุกวันนี้ ภาคอสังหาริมทรัพย์มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก โดยคิดเป็นสัดส่วนกว่า 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)
หากรวมธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องด้วยแล้ว ก็จะมีมูลค่าสูงถึง 5.2% ของจีดีพี ซึ่งในช่วงปี 2565-2566 ถือเป็นจุดสูงสุดมูลค่าของอุตสาหกรรมนี้มีมูลค่าสูงถึง 1.1 ล้านล้านบาท ทีเดียว
ดังนั้นในนาทีนี้ ถ้ารัฐออกมาตรการมาสนับสนุน เหมือนกับการออกหมัดคู่ การชกในสังเวียนธุรกิจหมัดก็จะเพิ่มน้ำหนักทำให้หวังผลได้เร็วขึ้นและมากขึ้นด้วย
แต่ถ้าความหวัง ความคาดหวัง ต่อมาตรการอสังหาริมทรัพย์ จะยังไม่เกิดขึ้นทันทีทันใดในสัปดาห์หน้า ภาคเอกชนก็ได้แต่คาดหวังว่าก็ควรจะมา หากจะล่าช้าไปสักหน่อย ก็พอรับได้ เพียงแต่คาดหวังให้เกิดขึ้นเท่านั้น
เพราะอย่างที่บอก หากยังปล่อยให้เรื่องของอสังหาริมทรัพย์อึมครึมต่อไป ย่อมมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจแน่นอน เรื่องนี้คงต้องจับตาดูกันอย่ากระพริบทีเดียว!!
……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”