เมื่อไม่นานมานี้ พล.อ. มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา เยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการ แม้พล.อ.มิน อ่อง หล่าย เคยเยือนรัสเซียมาแล้วหลายครั้ง นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 อย่างไรก็ตาม การเยือนครั้งนี้ “มีความพิเศษและแตกต่าง” เนื่องจากเป็นการเยือนอย่างเป็นทางการ ครั้งแรกตามคำเชิญของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย
ยิ่งไปกว่านั้น จีนซึ่งเป็นประเทศทรงอิทธิพลสูงสุดในเอเชีย และเป็นหนึ่งในประเทศพันธมิตรสำคัญของเมียนมา ยังไม่เคยเชิญให้พล.อ.มิน อ่อง หล่าย เยือนกรุงปักกิ่งอย่างเป็นทางการ เช่นเดียวกับไทย ประเทศซึ่งมีพรมแดนติดกับเมียนมาเป็นระยะทางยาวที่สุด ยังไม่เคยเชิญให้พล.อ.มินอ่อง หล่าย เดินทางมายังกรุงเทพมหานครอย่างเป็นทางการ นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร
ในโอกาสนี้ ผู้นำทั้งสองประเทศร่วมกันเป็นสักขีพยาน พิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) เกี่ยวกับความร่วมมือ ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิต 110 เมกะวัตต์ แต่อาจเพิ่มเป็น 330 เมกะวัตต์ในอนาคต ซึ่งเป็นการต่อยอดจากการลงนามร่วมกันในเอ็มโอยู เมื่อปี 2566 เกี่ยวกับการยกระดับความร่วมมือด้านนิวเคลียร์ ที่ตอนนั้นมีการระบุเกี่ยวกับการเตรียมก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ด้วย
ขณะเดียวกัน ทั้งสองประเทศยังลงนามร่วมกันในเอ็มโอยู เกี่ยวกับความร่วมมือด้านการสำรวจอวกาศ และการพัฒนาอวกาศเพื่อสันติภาพ ซึ่งเป็นการต่อยอดความร่วมมือที่ดำเนินงานร่วมกัน มาตั้งแต่ปี 2565 โดยตอนนี้ เมียนมามีศูนย์วิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมเป็นของตัวเองแล้ว ซึ่งเป็นการก่อสร้างโดยได้รับความสนับสนุนจากรัฐบาลมอสโก และรัสเซียยังเสนอที่จะแบ่งปันข้อมูลที่ได้จากดาวเทียมสอดแนม ให้กับรัฐบาลทหารเมียนมา เพื่อวัตถุประสงค์ทางทหารด้วย

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ประเด็นเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และท่าเรือในเขตตะนาวศรี ซึ่งเมียนมาและรัสเซียเคยหารือร่วมกัน ตั้งแต่ก่อนการเยือนกรุงมอสโกครั้งนี้ของพล.อ.มิน อ่อง หล่าย ไม่ได้มีฝ่ายใดหยิบยกขึ้นมาหารือเพิ่มเติม โดยโครงการนี้รวมถึงการสร้างท่าเรือ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ถ่านหิน และโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่า น่าจะเกี่ยวข้องกับการที่ กระบวนการเจรจาอื่นที่เกี่ยวข้อง “ยังมีความไม่แน่นอน”
ทั้งนี้ พล.อ. มิน อ่อง หล่าย เพิ่งกล่าวเมื่อไม่นานมานี้ด้วย ว่า “เมียนมากำลังจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปที่เสรีและยุติธรรม” โดยพรรคการเมืองอย่างน้อย 53 พรรค ยื่นเอกสารเพื่อแสดงความจำนงส่งผู้สมัครร่วมชิงชัยในการเลือกตั้งครั้งใหม่ “ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุด ในเดือน ธ.ค. 2568 หรือภายในเดือน ม.ค. 2569” ทว่าพรรคที่ร่วมแข่งขัน ไม่มีพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ( เอ็นแอลดี ) ของนางออง ซาน ซูจี

นอกจากนี้ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย กล่าวว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งของเมียนมา จะเชิญคณะผู้สังเกตการณ์นานาชาติให้เข้าร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งน่าจะรวมถึงคณะผู้แทนของรัสเซียและเบลารุส
อนึ่ง สภากลาโหมและความมั่นคงแห่งรัฐของเมียนมา มีมติเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ขยายระยะเวลาการบังคับใช้คำสั่งสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ ออกไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน เนื่องจาก “ยังมีเรื่องเร่งด่วนและจำเป็นอีกหลายอย่าง” ที่รัฐบาลทหารต้องเร่งดำเนินการและให้บรรลุผลตามแผนการ เพื่อฟื้นฟูเสถียรภาพและความมั่นคงของชาติ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมสำหรับจัดการเลือกตั้งทั่วไป
การที่รัฐธรรมนูญของเมียนมาระบุด้วยว่า การเลือกตั้งไม่อาจเกิดขึ้นได้ภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หมายความว่า การเลือกตั้งที่รัฐบาลทหารเคยให้คำมั่นสัญญาไว้ว่าจะเกิดขึ้น “ภายในปี 2568” จะไม่เกิดขึ้นภายในระยะเวลา 6 เดือนแรกของปีนี้
แม้พล.อ.มิน อ่อง หล่าย กล่าวถึงกำหนดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ของเมียนมา “ชัดเจนที่สุด” นับตั้งแต่ผ่านพ้นการยึดอำนาจ และเป็นกำหนดการที่สอดคล้องกับเงื่อนไขของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่หากประเมินตามสถานการณ์จากที่ผ่านมา การประกาศไทม์ไลน์ดังกล่าวของรัฐบาลทหารเมียนมา จึงยังไม่อาจยึดถือเป็นการให้คำมั่นสัญญาได้อย่างเต็มร้อยนัก

ทว่าเหนือสิ่งอื่นใด การเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการของพล.อ.มิน อ่อง หล่าย ในครั้งนี้ ซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางการถูกปิดล้อมและโดดเดี่ยวจากประชาคมโลก นับตั้งแต่เกิดการยึดอำนาจ จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญในทางการทูตของรัฐบาลทหารเมียนมา และน่าจะเป็นการเปิดประตู ให้เมียนมายังคงสามารถได้รับความช่วยเหลือ และความสนับสนุนเพิ่มเติมจากรัฐบาลมอสโกในหลายด้าน ที่ชัดเจนคือ ทางการทหาร และการพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง โดยทั้งสองประเทศจัดการซ้อมรบร่วมกัน เมื่อปีที่แล้ว
นอกจากนั้น การจับมือกับปูติน ยังน่าจะเป็นการเพิ่มหลักประกันให้กับรัฐบาลทหารเมียนมา ว่าได้รับการยอมรับจากหนึ่งในประเทศมหาอำนาจ บนเวทีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ( ยูเอ็นเอสซี ) จากการที่รัสเซียเป็นหนึ่งในสมาชิกถาวร ให้ยังคงสามารถมีพื้นที่หายใจ จากมาตรการกดดันทางการทูต และการคว่ำบาตรบนเวทีระหว่างประเทศได้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม การที่ผู้นำทั้งสองประเทศต่างมี “ชนักติดหลัง” ด้วยกันทั้งคู่ การกระชับความร่วมมือครั้งนี้ ย่อมต้องมีการตกลงและแลกเปลี่ยนกัน มากกว่าที่เปิดเผยออกมาอย่างไม่ต้องสงสัย.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : AFP