วันที่ 10 มี.ค. ที่ประชุมวุฒิสภา พิจารณากระทู้ถามของนายชูชีพ เอื้อการณ์  สว.  ถาม “โกเกี๊ยะ”พิพัฒน์ รัชกิจประการ  รมว.แรงงาน เรื่องการดูแลผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เจ้ากระทรวงจับกังบอกว่า “ต้องมีการวางแผนอนาคตให้แรงงานที่จะเกษียณ” แนวทางหนึ่งคือ ส่งเสริมการตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ ปัจจุบันสถานประกอบการต่างๆมีการดำเนินการตั้งสหกรณ์ได้กรณีที่มีพนักงาน 50 คนขึ้นไป ปัจจัยที่สำคัญคือเจ้าของกิจการจะร่วมสนับสนุนได้อย่างไร และผู้ใช้แรงงานพนักงานในบริษัทจะรวมกลุ่มจัดตั้งสหกรณ์อย่างไร

 “ตอนนี้อยู่ในช่วงของการทำประชาพิจารณ์คาดว่าน่าจะเสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือน มี.ค.นี้ ว่าหากเกษียณอายุ 60 ปีไปแล้ว ยังมีอายุอีก 20 ถึง 30 ปี จะมีเงินอะไรให้สามารถยังชีพอยู่ได้หากไม่มีบุตรหลานคอยดูแล กระทรวงแรงงานคิดทุกวิถีทางที่จะใช้เงินประกันสังคมลงทุน หากอีก 2 ปีข้างหน้าได้ดอกผลดี  จะพิจารณาต่อว่ากองทุนประกันสังคมจะให้เงินสำหรับสงเคราะห์ผู้เกษียณอายุเพิ่มขึ้นจำนวนเท่าไรเพื่อยังชีพ ซึ่งคนไทยมีอายุเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 80 ปี”

อธิบายความได้ว่า ถ้าสำนักงานประกันสังคม ( สปส.) เอาเงินไปลงทุน ถ้ามันได้ดอกออกผลดีๆ อย่างมีนัยยะสำคัญ ( ไม่ต้องพึ่งแค่เงินผู้ประกันตนส่ง ) จะง่ายขึ้นในการเพิ่มเงินเกษียณ

แต่กลายเป็นว่า ตอนนี้กองทุนประกันสังคมถูกจับตาแรงมาก ว่า“ใช้เงินไม่คุ้มค่า” เรื่องนี้ดัน “สส.ไอซ์”รักชนก ศรีนอก สส.กรุงเทพ เขตบางบอน พรรคประชาชน ( ปชน.) เป็นดาวรุ่งพุ่งแรงไปเลย เมื่อออกมาเปิดเผยเรื่อง “การใช้เงินที่ไม่ค่อยจะเข้าท่า”  สส.ไอซ์ตั้งคำถามว่า “ทำไมบอร์ดแพทย์จะไปดูงานต่างประเทศ 2.2 ล้าน” ถามหาผลประโยชน์จากการดูงาน ไม่ใช่ให้เป็นเรื่อง“จัดงบท่องเที่ยวทิ้งทวน” และถามหาความคุ้มค่า ความจำเป็นเหมาะสมในการทำงบจัดทำปฏิทิน ..โดยเรื่องปฏิทินนี่จ่ายปีละ 50 ล้านบาท ระหว่างปี 2560-2568 รวม 450 ล้านบาท  รมว.พิพัฒน์ตอบว่า “ก็พร้อมทบทวนถ้าคนไม่ต้องการ” ก็ไม่รู้ว่า “การทบทวน”นั้นใช้การสำรวจแบบใด  

สปส. ถูกตั้งข้อสังเกตว่า “ยังอยู่ในการบริหารรูปแบบกึ่งๆ ภาครัฐ” ซึ่งเทอะทะ แม้ว่าไทยเราจะเริ่มเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมแล้ว  แต่ก็ยังมีบอร์ดย่อย อย่างเช่นบอร์ดแพทย์ประกันสังคม บอร์ดแพทย์ทุนทดแทน  บอร์ดกองทุนเงินทดแทน บอร์ดตรวจสอบ การตั้งงบดูงานของบอร์ดแพทย์ทำให้รู้สึกว่า “บอร์ดเล็กกับบอร์ดใหญ่ยังไม่ได้เกี่ยวข้องกันอย่างเข้มแข็งนัก ดูเหมือนบอร์ดใหญ่ยังกำกับดูแลได้ยาก”

บทบาทหน้าที่ของบอร์ดประกันสังคม คือเป็นตัวแทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างในเรื่องต่างๆ อาทิ เสนอความคิดเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการในการประกันสังคม วางระเบียบเกี่ยวกับการรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินของกองทุน โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง และพิจารณาให้ความเห็นต่อรัฐมนตรีในการตราพระราชกฤษฎีกา การออกกฎกระทรวง และระเบียบต่าง ๆ พิจารณางบดุลและรายงานการรับจ่ายเงินของกองทุน

กลุ่มประกันสังคมก้าวหน้า ( ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการผลักดันของพรรคอนาคตใหม่ คนที่มีบทบาทมากคือ นายษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ )  ในส่วนตัวแทนผู้ประกันตน  เปิดเผยข้อมูลการใช้เงินว่า พบว่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 4,000 ล้านบาทในปี 2563 เป็น 5,281 ล้านบาทในปี 2564 และพุ่งสูงถึง 6,614 ล้านบาทในปี 2566  ซึ่งไม่ทราบว่า “เอาไปลงทุนอะไร คุ้มค่าหรือไม่” ที่สำคัญคือ “ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ” ที่มีถึง10% ของเงินสมทบประจำปี นี่เอาไปทำอะไรบ้าง โดยเฉพาะงบบริหารงานบุคคล คิดจะปรับลดหรือไม่หากใช้เอไอมากขึ้น

เมื่อประกันสังคมต้องการลงทุน คนไทยในฐานะผู้ส่งประกันก็ต้องยิ่งจับตาว่า ใช้คุ้มค่ารับได้หรือไม่ ไม่ใช่ให้กองทุนมันล่มไปในอีกไม่กี่สิบปี ก็เกิดจังหวะเหมาะเจาะ เมื่อ  สส.ไอซ์ ก็เปิดประเด็นเกี่ยวกับการใช้เงินของ สปส.มาเรื่อยๆ เช่น การขอข้อมูลการใช้เงินทำโครงการในนามของ กมธ.ติดตามงบประมาณ  แต่กลับปรากฏว่า มีหนังสือเวียนใน สปส. กำชับหน่วยงานภายในสำนักงานฯ เรื่องการจัดส่งเอกสารตามที่มีบุคคลภายนอกขอเอกสาร ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบ และหากมีการเปิดเผยถือว่าผิดระเบียบราชการ  จน สส.ไอซ์ขู่จะใช้กฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการขอเปิดเอกสาร บอกว่า อยากให้ผู้ประกันตนทราบว่า สปส.ใช้เงินอย่างไร  

เมื่อวันที่ 10 มี.ค. ก็ไปที่หน้าอาคาร SKYY9 Centre พระราม 9  พร้อมกับสหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี พรรค ปชน.ร่วมกันแถลงข่าวกรณีสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ซื้ออสังหาริมทรัพย์ย่านพระราม 9 ที่มีข้อสงสัยถึงปัญหาธรรมาภิบาล  

ไอซ์ รักชนก กล่าวว่า สปส.ซื้อตึกมูลค่า 3 พันล้านบาท ด้วยราคา 7 พันล้านบาทในปี 2565-2566  เป็นตึกร้างสร้างยังไม่เสร็จตั้งแต่ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง มีบริษัทแห่งหนึ่งซื้อตึกไปปรับปรุงซ่อมแซม แล้วก็ประจวบเหมาะกับช่วงที่ สปส. ปรับแก้ระเบียบต่างๆ ทำการศึกษา และมีการตัดสินใจลงทุนพอดี  ในช่วงปลายปี 2565 ตึกนี้มีอัตราการเข้าทำกำไรหรืออัตราการเช่าอยู่ที่ 1%  สปส. เข้าซื้อโดยมีการทำแผนงานที่สวยหรูเกินจริง อ้างถึงผลตอบแทนที่จะได้รับอย่างเหมาะสม จะมีผู้เช่าภายใน 2 ปี แรก 60% แต่เมื่อเริ่มดำเนินการกลับมีผู้เช่าในปีแรกเพียง 1-2% เท่านั้น

ปัจจุบัน สปส.รายงานมีคนเข้าใช้ตึกประมาณ 40% แต่เป็นตัวเลขที่น่าสงสัย น่าจะมีการรวมผู้เช่าที่คาดว่าจะเข้ามาใช้ในอนาคตด้วย และตัวเลขจริงอาจอยู่ที่ 20-30% เท่านั้น ยังมีค่าบริหารจัดการรวมกับค่า ค่าจ้างกองทุนในการบริหารอยู่ที่ประมาณ 50 ล้านบาท ต่อให้มีคนมาเช่าใช้ 100% ก็ต้องใช้เวลา 30 ปีกว่าจะคืนทุน

“ทำไม สปส. ถึงตัดสินใจใช้เงิน 7 พันล้านบาทในการลงทุนตึกแห่งเดียว แทนที่จะกระจายความเสี่ยงไปยังแหล่งอื่นๆ สปส. ไม่มีประสบการณ์ในการบริหารสินทรัพย์แบบนี้ แล้วทำไมถึงยังลงทุนในตึกแห่งนี้  ขอให้ช่วยกันขุดว่าตึกนี้มีใครเป็นเจ้าของ  ตึกนี้ปรับปรุงเสร็จเมื่อต้นปี 2565 หลังจากพร้อมใช้งานก็พร้อมขายต่อให้ สปส. เป็นการตกแต่งหน้าตาของตึกโดยรู้อยู่แล้วว่า สปส. พร้อมจะซื้อเลยหรือไม่  ในปีที่มีการลงทุนซื้อตึกนี้ก็เป็นช่วงที่ใกล้เลือกตั้งพอดี มีพรรคการเมืองใดมาหากินโดยโดยเอาส่วนต่างของประกันสังคมไปเป็นทุนทรัพย์ในการเลือกตั้งหรือไม่” สส.ไอซ์ตั้งข้อสังเกต              

สส.สหัสวัต กล่าวว่า นายกฯ ควรตั้งกรรมการสอบสวนเรื่องนี้และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการซื้อตึกนี้โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีอำนาจในการอนุมัติคือเลขาฯ สปส. ซึ่งในขณะนั้นคือนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปัจจุบันเป็นปลัดกระทรวงแรงงาน  รวมถึงอดีต รมว.แรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วยหรือไม่

 ทำเอา “อดีต รมว.แรงงาน เฮ้ง สุชาติ ชมกลิ่น” ซึ่งขณะนี้เป็น รมช.พาณิชย์ โต้ทันทีว่า การซื้อตึก ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม รัฐมนตรีไม่มีสิทธิเข้าไปยุ่งเกี่ยวแม้กระทั่งรับรู้  การซื้อขายนั้นจะใช้การประเมินโดยบริษัทที่มีใบอนุญาตจากตลาดหลักทรัพย์ การเช่าที่ในตึกขณะนี้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด 60 %  มีการเช่าอยู่ 50%   ตอนนี้รายได้ที่เข้ามามันมีกำไรเป็นบวกหมดแล้ว คนที่ออกมาพูดว่าลงทุนคืนทุน 30 ปี นั้น บ่งบอกว่าไม่มีความรู้เรื่องการลงทุน สปส. ลงทุนเพื่อเอาผลตอบแทนรายปี ที่มากกว่าการฝากธนาคาร  เอาเงินมาลงทุนตรงนี้ได้ผลตอบแทน 3-5% ต่อปี

“ในพื้นที่ตรงนั้นค่าก่อสร้าง ค่าที่ก็ขึ้น อีก 10 ปี ตึกราคาขึ้นไปเป็น 1.2 หมื่นล้านบาท ได้กำไรทั้งตึก  คนพูดไม่ใช่นักลงทุน ไม่มีความรู้ แล้วก็ไม่รู้ว่าเรื่องนี้มาเกี่ยวโยงกับผมอย่างไร หรือเป็นเพราะเหตุผลทางการเมืองที่ผมต้องแข่งขันกับนายสหัสวัต ที่จังหวัดชลบุรีหรือเปล่า  ผมไม่ทราบว่า ใครเป็นเจ้าของตึก  การลงทุนของ สปส.ไม่ได้ซื้อตึกเดียว มีการลงทุนนอกประเทศหลายหมื่นล้านบาท”

 “ขอถามกลับว่า ตึกที่ซื้อนี้ เป็นทรัพย์สินของประกันสังคม ที่ดินขึ้นราคาทุกวันหรือไม่ แล้วยังเป็นที่เช่าด้วย วันหนึ่งราคาขึ้นขายได้กำไรมหาศาล แถมได้ค่าเช่าด้วย แบบนี้ไม่ถือว่าคุ้มหรือ มาบอกว่าคืนทุน 30 ปี แล้วไม่คิดหรือว่า ในอีก 30 ปี ตึกนี้ราคาจาก 7 พันล้านบาท จะขึ้นเป็น 2 หมื่นล้านบาท คนพูดกล่าวถึงใครก็ขอให้รับผิดชอบคำพูดตัวเอง”    

คราวนี้ฝ่ายการเมืองเปิดหน้าเล่นกันแล้ว เรื่องการติดตามการใช้งบประกันสังคมจึงยิ่งน่าติดตาม ทั้งในแง่พิทักษ์ผลประโยชน์ผู้ประกันตน และในเชิงเกมการเมืองชิงคะแนนนิยม ประชาชนผู้ติดตามคงคิดว่า ใครผิดต้องโดนลงโทษ.

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่