ประเด็นใหญ่ของการตั้งวงถกกันในครั้งนี้ ก็เป็นเรื่องของการวางแผนรับมือกับนโยบายทัมป์ 2.0 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้มาตรการทางด้านภาษี
แม้ว่าก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะระงับการขึ้นภาษี 25% สำหรับสินค้านำเข้าจากเม็กซิโก และแคนาดาที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงสหรัฐฯ-เม็กซิโก-แคนาดา (USMCA) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา ออกไปก่อนเป็น วันที่ 2 เม.ย. 68 นี้ หรือประมาณอีก 1 เดือนข้างหน้า
แต่สินค้าภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวใช่ว่าจะครอบคลุมทุกสินค้าแบบ 100% เต็มซะเมื่อไหร่? เพราะตามข้อตกลงแล้วจะครอบคลุมเพียงแค่ประมาณ 50% ของสินค้าที่นำเข้าจากเม็กซิโก และอีก 38% ของสินค้าที่นำเข้าจากแคนาดา
นั่นหมายความว่า… ทั้งสงครามการค้า ทั้งสงครามภาษี ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว!!
หากประเทศไทย ยังคงนิ่งเฉย ไม่ทำอะไรให้เป็นรูปธรรมชัดเจน ไม่ช้า…ก็เร็ว เศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน โดยเฉพาะ 7 กลุ่มสินค้าที่จะมีผลแน่นอน
เพราะสินค้าทั้ง 7 กลุ่มนี้ ไทยส่งออกไปสหรัฐ มากถึง 21% ทีเดียว โดยเฉพาะ เซมิคอนดักเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ไทยส่งออกสูงถึง 34% ของการส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไปตลาดโลกทั้งหมด
รองลงมาได้แก่ เหล็ก ที่ส่งออกไปสหรัฐ ในสัดส่วน 18% อะลูมิเนียม ส่งออกไปสหรัฐ สัดส่วน 15% เป็นต้น โดยมูลค่ารวมก็อยู่ที่ประมาณ 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 40%ของการส่งออกทุกสินค้าของไทยไปสหรัฐ
ด้วยเหตุนี้!! จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใด ๆ ที่ภาคเอกชนทั้ง 3 สถาบัน จะออกดรง ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งตั้ง “ทีมพิเศษ” ขึ้นมา เพื่อร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์การเจรจาต่อรองกับสหรัฐ อย่างเร่งด่วน ก่อนที่ภาคการส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบ
ภาคเอกชนย้ำว่า ก่อนหน้านี้เคยเรียกร้องไปแล้ว แต่รัฐบาลยังคงนิ่งเฉย จึงทำให้เกิดความไม่สบายใจ เพราะเวลาก็ใกล้เข้ามาเหมือนไฟลนก้นทุกวี่ทุกวัน หากรัฐบาลยังนิ่งเฉย ปัญหาใหญ่จะตามมาได้
ที่สำคัญที่สุด!! ข้อเสนอให้ตั้งทีมพิเศษ นี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าเอกชนเองต้องการเรียกร้อง หรือต้องการผลประโยชน์แอบแฝงอื่นใด เพียงแค่ต้องการให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่แท้จริง
เพราะหาก”ทรัมป์” ตัดสินใจขึ้นภาษีสินค้าจากไทย และทั่วโลก ก็เชื่อได้ว่าผลกระทบขั้นต่ำที่จะเกิดขึ้นกับการส่งออกไทยนั้นจะมีถึง 1-1.5 แสนล้านบาท
นั่นหมายความว่า…จะทำให้จีดีพีไทยลดลงมากถึง 0.5-07% ความหวังที่รัฐบาลต้องการเห็นจีดีพีในปี 68 นี้เติบโตให้ได้ 3.5% ก็คงได้แต่…นอนฝันเท่านั้น
นอกจากเรื่องของการตั้งทีมพิเศษ แล้ว… หอการค้าไทยยังสนับสนุนให้ไทยนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารจากสหรัฐ เพิ่มขึ้น เพื่อลดแรงกดดัน
อย่างเช่น พืชอาหารสัตว์ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และถั่วเหลือง อาหารทะเล เช่น ปลาแซลมอนแช่แข็ง หอยเชลล์ และปลาทูน่า รวมไปถึงสินค้าเกษตรอื่น รวมทั้ง พลังงาน
เพราะอย่าลืมว่าเวลานี้ ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐมากถึง 45,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงขึ้นจากอันดับ 12 เป็นอันดับ 11ของโลก แล้ว จึงยิ่งทำให้ไทยอาจถูกเพ่งเล็งจากสหรัฐมากขึ้น
การแสดงความเต็มใจของไทย เพื่อที่จะนำเข้าสินค้าจากสหรัฐเพิ่ม อาจช่วยบรรเทาแรงกดันจากสหรัฐ และช่วยสร้างความสมดุลทางการค้าเพิ่มมากขึ้น
แต่!! ก็อาจมีผลต่อเกษตรกรไทย ไม่น้อยเช่นกัน ที่ต้องวัดกึ๋นรัฐบาลว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้ลดแรงกดดันจากสหรัฐได้ ขณะเดียวกันก็ต้องปกป้องผลประโยชน์ของเกษตรกรและผู้ผลิตในประเทศ
เอาเป็นว่า จนถึงเวลานี้คงต้องรอดูว่า เมื่อรัฐบาลยอมเปิดทำเนียบรัฐบาลตั้งวงถกกับเอกชน ก็ต้องมาลุ้นกันว่า “ทีมพิเศษ”ตามข้อเรียกร้องจะเกิดขึ้นได้หรือไม่?
……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”