เริ่มนับหนึ่งอย่างเป็นทางการแล้ว สำหรับสงครามการค้าโลก เวอร์ชัน ทรัมป์ 2.0 ภายหลังจาก โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ กดปุ่มเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโก ในอัตรา 25% และเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มจาก 10% เป็นอัตรา 20% เมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นประเทศคู่ค้าหลักของสหรัฐ ที่มีมูลค่าการค้ารวมกันเป็นสัดส่วนถึง 41% และยังเกินดุลการค้าสหรัฐมหาศาล
แม้ล่าสุด “ทรัมป์” ได้ระงับการขึ้นภาษีสำหรับสินค้านำเข้าจากเม็กซิโกและแคนาดา ที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงสหรัฐ–เม็กซิโก–แคนาดา (USMCA) ออกไปเป็นวันที่ 2 เม.ย. 68 แต่ก็ครอบคลุมสินค้าที่นำเข้าจากเม็กซิโกประมาณ 50% และสินค้าที่นำเข้าจากแคนาดา 38% เท่านั้น
จีน-แคนาดาโต้หนัก
ขณะที่ท่าทีของทั้ง 3 ประเทศ ได้ออกมาตอบโต้กลับแบบฉับพลัน โดยจีนได้ประกาศขึ้นภาษีตอบโต้สหรัฐทันที 10-15% ครอบคลุมสินค้าจำพวกอาหาร และสินค้าเกษตร เช่น เนื้อไก่ ผ้าฝ้าย รวมถึงถั่วเหลือง นอกจากนี้ยังขึ้นบัญชีดำบริษัทจากสหรัฐ 25 แห่ง ห้ามนำเข้า-ส่งออก-ลงทุนในจีน และที่สำคัญ “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีจีน ได้ส่งสารถึงสหรัฐอย่างดุเดือด โดยสถานเอกอัครราชทูตจีนนำข้อความจากแถลงการณ์รัฐบาล โพสต์บนทวิตเตอร์ ระบุ “ถ้าสงครามคือสิ่งที่สหรัฐต้องการ จะเป็นสงครามภาษี สงครามการค้า หรือสงครามอื่น ๆ เราพร้อมสู้จนถึงที่สุด”
ส่วน จัสติน ทรููโด ประธานาธิบดีแคนาดา ก็แถลงแบบดุเดือดเช่นกัน โดยระบุจะขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐ 25% มูลค่ารวมกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์แคนาดาเช่นกัน ทั้งสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม น้ำส้ม เนยถั่ว ไวน์ เบียร์ และกาแฟ สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า รองเท้า รถจักรยานยนต์ เครื่องสำอาง สินค้าอุตสาหกรรม อย่างกระดาษและเยื่อกระดาษ ไม่เพียงแค่นั้นยังเตรียมเปิดก๊อกสอง ขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐอีกหลายรายการ มูลค่ากว่า 125,000 ล้านดอลลาร์ อาทิ รถยนต์ รถไฟฟ้า ผักและผลไม้ เนื้อวัว เนื้อสุกร เป็นต้น
จ่อขึ้นภาษียกสอง
เห็นได้ว่า สงครามการค้าหนนี้ เปิดฉากมาก็บู๊กันถึงใจ และส่งผลกระทบต่อภาพรวมการค้าโลกอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยมหาวิทยาลัย เยลของสหรัฐ ได้ประเมินผลกระทบยกแรก จะกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐ 0.6% ขณะที่ธนาคารโลก ระบุการขึ้นภาษี 10% ของสหรัฐต่อคู่ค้าต่าง ๆ และฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจโลกอย่างน้อย 0.2% ขณะที่ธนาคารกลางแคนาดา มองว่าสงครามครั้งนี้ทำให้แคนาดามีความเสี่ยงเข้าสู่สภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจ การส่งออกจะหดตัว 8.5% ในปีแรก เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนในแคนาดา หดตัว 12% เช่นเดียวกับผู้บริโภคลดการจับจ่าย 2%
แม้ระเบิดจากสงครามการค้ายกแรกยังไม่กระทบไทยโดยตรงแต่ชะล่าใจไม่ได้เพราะระเบิดลูกสองตามมาติด ๆ หลังสหรัฐจ่อประกาศขึ้นภาษีนำเข้ารอบใหม่เป็นรายสินค้าที่ใช้กับทุกประเทศแทน โดยมีไทม์ไลน์การขึ้นภาษี ดังนี้ ภาษีนำเข้าเหล็ก อะลูมิเนียม จะเริ่มปรับขึ้น 25% ในวันที่ 12 มี.ค.นี้ หลังจากนั้นเตรียมขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ 25% วันที่ 2 เม.ย. รวมถึงสินค้าเซมิคอนดักเตอร์ ยา ไม้แปรรูป และทองแดง ซึ่งยังไม่นับรวม การทำ Reciprocal Tariff หรือภาษีต่างตอบแทน ซึ่งจะประกาศช่วงวันที่ 2 เม.ย.นี้เช่นกัน
7 สินค้าไทยอันตราย
การเลือกขึ้นภาษีสินค้าทั้ง 7 กลุ่ม ที่จะทยอยเริ่มขึ้นในเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากที่ผ่านมาสหรัฐขาดดุลการค้าสินค้ากลุ่มนี้เป็นมูลค่าสูงมาโดยตลอด อีกทั้งภาษีนำเข้าสหรัฐต่ำกว่าคู่ค้า ทำให้สหรัฐต้องมีการขึ้นตอบโต้ เพื่อสนับสนุนภาคการผลิตสินค้าในประเทศแทน ซึ่งแน่นอนผลจากการขึ้นภาษีรอบนี้ ที่จะเก็บทั้งหมดทุกประเทศ จะทำให้สินค้าของไทยได้รับผลกระทบไปด้วยแบบเต็ม ๆ แต่จะมากน้อยเพียงใด

คำตอบคือมากโขทีเดียว เพราะสินค้าทั้ง 7 กลุ่มนี้ ไทยได้พึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐอเมริกามากถึง 21% โดยเฉพาะ เซมิคอนดักเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไทยพึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐสัดส่วนสูงถึง 34% ของการส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไปตลาดโลกทั้งหมด รองลงมา เหล็ก ส่งออกไปสหรัฐสัดส่วน 18% และอะลูมิเนียม ส่งออกไปสหรัฐสัดส่วน 15%
อิเล็กทรอนิกส์โคม่า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินผลทางตรงต่อการส่งออกของไทยว่ามีพอสมควร เนื่องจากมูลค่าการส่งออก 7 ประเภทสินค้าของไทยไปยังสหรัฐ รวมอยู่ที่ 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นประมาณ 40% ของการส่งออกทุกสินค้าของไทยไปยังสหรัฐ และคิดเป็น 7.4% ของมูลค่าการส่งออกทุกสินค้าของไทยไปตลาดโลก โดยเฉพาะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงผลิตภัณฑ์ปลายน้ำอย่างเครื่องใช้ไฟฟ้า และยิ่งเมื่อในระยะหลัง การลงทุนในไทยส่วนใหญ่แล้วมาจากนักลงทุนจีน ทำให้มีความเสี่ยงที่สินค้าส่งออกจากไทยจะถูกกีดกันมากขึ้นกว่าเดิม
สำหรับสินค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไทยส่งออกไปสหรัฐ มากเป็นอันดับต้น ๆ และมีความเสี่ยง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องอุปกรณ์ส่งรับเสียง ภาพ ข้อมูลอื่น ๆ และอุปกรณ์สำหรับสื่อสารในระบบเครือข่ายทางสาย ไร้สาย ไดโอด ทรานซิสเตอร์ และกลอุปกรณ์กึ่งตัวนำ หม้อแปลงไฟฟ้า เครื่องส่งสำหรับวิทยุ กล้อง เป็นต้น
ทั่วโลกแข่งกันเดือด
ส่วนอีก 6 ประเภทสินค้าที่เหลือ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่คงจำกัดกว่า เนื่องจากไทยมีการส่งออกสินค้ากระจายตัวไปทั้งจีนและอาเซียน จึงช่วยบรรเทาผลกระทบได้ แต่ในทางกลับกันก็อาจมีสินค้าบางประเภทที่ได้รับอานิสงส์จากส่วนต่างอัตราภาษีนำเข้าใหม่ เมื่อเทียบกับเดิมที่เสียเปรียบคู่ค้าอื่น เช่น อะลูมิเนียมเดิมไทยถูกเก็บภาษี 10% อยู่แล้ว หากทุกประเทศโดน 25% เท่ากัน อะลูมิเนียมจากไทยจะมีส่วนต่างน้อยกว่าคู่ค้า เป็นต้น

ขณะที่ผลกระทบทางอ้อมคือมาตรการครั้งนี้ จะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ในโลก ก็ต้องหาตลาดส่งออกทดแทนสหรัฐ ทำให้ผู้ผลิตไทยต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งในตลาดไทยและตลาดส่งออกอื่น ๆ ซึ่งส่งผลให้ภาพรวมของการส่งออกของไทยลดลง 0.5% จากเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ 2-3%
หอการค้าจี้ตั้งทีมพิเศษ
ด้านท่าทีของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ย้ำ รัฐบาลให้เตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของสหรัฐ ซึ่งเสี่ยงกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและโลกอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการที่ไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกขึ้นภาษี เนื่องจากเป็นหนึ่งในประเทศที่สหรัฐ ขาดดุลการค้าลำดับที่ 11 และกังวลด้วยว่าจากมาตรการภาษีของสหรัฐกับทั่วโลก อาจทำให้มีสินค้าจากต่างประเทศทะลักเข้าสู่ไทย จะสร้างแรงกดดันต่อการส่งออกของไทยด้วย โดยขอให้รัฐบาลเร่งตั้ง “ทีมพิเศษ” ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและมีภาครัฐและภาคเอกชนที่มีอำนาจสั่งการระดับกระทรวง เพื่อวางแผนรับมือและกำหนดแผนเชิงรุกกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงของนโยบายเศรษฐกิจการค้าของสหรัฐกับทั่วโลก
กระทบแสนล้าน บ.
ด้านนักวิชาการอย่าง ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหา วิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้เสี่ยงสูงจะโตต่ำกว่า 3% เพราะจากการขึ้นกำแพงภาษีกับแคนาดา เม็กซิโกและจีนไป จะส่งผลทางอ้อมต่อไทย 20,000-25,000 ล้านบาท ส่งผลให้จีดีพีไทยลดลงไป 0.1-0.5% และหากขึ้นภาษีรถยนต์อีกจะกระทบกับไทย 60,000-65,000 ล้านบาท มีผลต่อจีดีพี 0.35-0.4% ทำให้จีดีพีไทยโตเพียง 2.6-2.8% แต่ซ้ำร้ายกว่านั้น หากทรัมป์ขึ้นภาษีสินค้าไทยและทั่วโลก ผลกระทบก็จะแรงขึ้นเป็น 100,000- 150,000 ล้านบาท ฉุดจีดีพีลดลง 0.5-0.7% ทำให้เศรษฐกิจไทยทั้งปี จะเหลือโต 2.3- 2.5%
แต่! ที่น่าห่วงกว่านั้นการที่ไทยยังคงเกินดุลการค้ากับสหรัฐ 45,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงขึ้นจากอันดับ 12 เป็นอันดับ 11 ของโลก ก็ยิ่งทำให้ไทยอาจถูกเพ่งเล็งจากรัฐบาลสหรัฐเพิ่มขึ้น และอาจนำไปสู่การขึ้นภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าจากไทยเพิ่มเติมอีก ซึ่งหากไทยไม่สามารถปรับตัวให้ทัน ก็อาจส่งผลให้การส่งออกไทยแย่ลงทันที
รัฐบาลไปทางไหน?
เรียกว่า มองแนวโน้มในอนาคต แทบจะไม่มีเรื่องดีเกิดขึ้น ซึ่งท่าทีของรัฐบาล ในช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ได้ตั้งคณะทำงานนโยบายการค้ากับสหรัฐ โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน เพื่อให้การกำหนดนโยบายด้านการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐ มีทิศทางที่ชัดเจน และเกิดประโยชน์สูงสุดประเทศ อย่างไรก็ตามผ่านมา ณ วันนี้ ทิศทางของรัฐบาลไทยในการรับมือสงครามการค้าจากสหรัฐ ยังไม่มีความชัดเจนมากนักว่าจะเดินหน้ากันอย่างไร
โดยเฉพาะแนวทางแก้ปัญหาเกินดุลของสหรัฐ ซึ่งไทยยังได้ดุลในระดับสูง จะมีการลดลงมาอย่างไร และไทยจะนำเข้าสินค้าอะไรจากสหรัฐเข้ามาเพิ่ม โดยไม่กระทบต่อภาคการผลิตในประเทศ หรือการปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ ที่เคยเก็บอัตราแพงให้ลดลงได้อย่างไร เพื่อแลกกับการไม่ถูกอเมริกาขึ้นภาษีจากไทย ตลอดจนการดูแลภาคการลงทุนของสหรัฐ ไม่ให้ถูกแรงกดดัน จนถอนการลงทุนกลับประเทศไป ตลอดจนผลกระทบทางอ้อมจากสินค้าจีนที่จะเข้ามาตีตลาดไทยเพิ่มขึ้น
สิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นเรื่องที่ภาคเอกชนมีความกังวล และร้อนใจมากขึ้นทุกวัน และต้องการให้รัฐบาลเร่งออกแรง ทำงานเชิงรุกในเรื่องของการส่งออกสินค้า ว่าจะเดินหน้าหรือมีกลยุทธ์อย่างไร รวมไปถึงการทำงานเชิงรับ เพื่อที่จะรับมือกับสินค้าที่เตรียมทะลักเข้ามาอย่างชัดเจน โดยเฉพาะสินค้าจากจีน
เพราะ… สงครามการค้า ณ วันนี้ยังเพิ่งแค่เริ่มนับหนึ่ง ยังมีนับสอง สาม สี่ ตามมาอีก หากรัฐบาลยังมะงุมมะงาหรา แบบเดิมตามโลกไม่ทัน มีหวังภาคการส่งออกที่เป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยกว่า 60% ย่อมพัง และคราวนี้ภาพเศรษฐกิจใหญ่ของทั้งประเทศก็จะพังจนไม่เหลือชิ้นดี!!