สุนี วิลเลียมส์ และ แบร์รี วิลมอร์ สองนักบินอวกาศที่ตกค้างอยู่ในสถานีอวกาศนานาชาตินอกโลกมากกว่า 270 วันแล้ว กำลังจะได้กลับสู่พื้นโลกในไม่ช้านี้ หลังจากที่การเดินทางกลับบ้านของพวกเขาโดนเลื่อนออกไปครั้งแล้วครั้งเล่า
ตามกำหนดการเดิม วิลมอร์ วัย 62 ปีและวิลเลียมส์ วัย 59 ปีจะขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่เพียง 8 วันเท่านั้น หลังจากที่พวกเขาเดินทางสู่ที่หมายด้วยยานขนส่งโบอิง สตาร์ไลเนอร์ เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2567
ด้วยเหตุผลและความขัดข้องทางเทคนิคหลายประการ โดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ทำให้การเดินทางเที่ยวกลับของพวกเขาต้องโดนยกเลิกไปหลายครั้ง แต่ในที่สุดก็มีข่าวว่า ทั้งคู่กำลังจะได้กลับสู่พื้นโลกภายในเดือนมี.ค.นี้

แต่แม้ว่าจะได้กลับบ้านแล้ว ปัญหาของนักบินอวกาศทั้งสองอาจจะไม่ได้จบลงแค่นั้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือสุขภาพร่างกายของพวกเขา เนื่องจากการใช้ชีวิตอยู่ในสภาพไร้น้ำหนักเป็นเวลานานย่อมส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างเลี่ยงไม่ได้
กรณีตัวอย่างก่อนหน้านี้ของ วาเลรี โปลยาคอฟ นักบินอวกาศชาวรัสเซีย คนที่ใช้เวลาในอวกาศนานที่สุดถึง 437 วัน ส่วนเจ้าของสถิติชาวอเมริกันคือ แฟรงก์ รูบิโอ ซึ่งใช้ชีวิตนอกโลกอยู่นานถึง 371 วันระหว่างปี 2565-2566
เมื่อทั้งโปลยาคอฟและรูบิโอกลับมายังโลก พวกเขาทั้งคู่ก็สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของร่างกายบางอย่าง มีภาพถ่ายของรูบิโอขณะออกจากยานอวกาศโดยต้องมีคนคอยพยุงและหามออกมา เขาถูกส่งตัวไปตรวจร่างกายหลังจากนั้น นอกจากนี้ยังมีนักบินอวกาศหญิงชาวอเมริกันชื่อไฮเดอมารี สเตฟานีชิน-ไพเพอร์ ซึ่งเป็นลมในพิธีต้อนรับกลับบ้านเมื่อปี 2549

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ร่างกายของนักบินอวกาศเหล่านี้เกิดความผิดปกติและดูเหมือนจะส่งผลให้สุขภาพย่ำแย่ลงก็คือสิ่งที่เรียกว่า “แรงโน้มถ่วง”
หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดที่สุดหลังจากที่นักบินอวกาศเหล่านี้เดินทางกลับบ้านก็คือ การสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ จากข้อมูลที่รายงานโดยสำนักข่าวบีบีซีระบุว่า การปฏิบัติภารกิจในอวกาศเป็นเวลานานกว่า 6 เดือน อาจทำให้นักบินอวกาศสูญเสียมวลกล้ามเนื้อและกระดูกได้มากถึง 30%
เมื่ออยู่ในสภาวะไร้น้ำหนักหรือไม่มีแรงโน้มถ่วง นักบินอวกาศก็ไม่จำเป็นต้องใช้แรงกล้ามเนื้อในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การเดิน การยืน หรือการยกของหนัก ซึ่งอาจทำให้กล้ามเนื้อของร่างกายฝ่อลงได้
องค์การการบินและอวกาศแห่งสหรัฐหรือนาซายังระบุเพิ่มเติมด้วยว่า ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่อยู่นอกโลก กระดูกที่แบกรับน้ำหนักของร่างกายของนักบินอวกาศจะสูญเสียความหนาแน่นของแร่ธาตุในองค์ประกอบของกระดูกโดยเฉลี่ย 1 – 1.5% ต่อเดือน จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจที่นักบินอวกาศจะรู้สึกเหมือนยืนได้ไม่มั่นคงเมื่อพวกเขากลับมายังพื้นโลก
การเปลี่ยนแปลงของร่างกายยังไม่จบเพียงแค่นั้น เมื่อนักบินอวกาศสก็อตต์ เคลลี่ของสหรัฐกลับจากนอกโลกและถูกส่งตัวไปรับการประเมินทางการแพทย์ ผลปรากฏว่า สมองส่วนรับรู้และประมวลผลเพื่อตัดสินใจของเขาทำงานช้าลงและแม่นยำน้อยลง, แบคทีเรียในลำไส้เปลี่ยนแปลง, น้ำหนักลดลง และดีเอ็นเอมีแนวโน้มว่าจะได้รับความเสียหายเนื่องจากการได้รับรังสีอวกาศ
นั่นหมายความว่า วิลมอร์และวิลเลียมส์ ต้องเผชิญหน้าปัญหาเหล่านี้
ดร. วินัย คุปตะ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านปอดและทหารผ่านศึกกองทัพอากาศสหรัฐ แสดงความเห็นว่านักบินอวกาศทั้งคู่จะต้องเข้ารับการฟื้นฟูร่างกาย “อย่างน้อย 6 สัปดาห์” หลังจากกลับถึงบ้าน
ที่มา : ladbible.com
เครดิตภาพ : AFP