ย้อนกลับไปเมื่อปี 2481 เยอรมนีซึ่งในเวลานั้นคือ “อาณาจักรไรช์ที่สาม” ภายใต้การปกครองของนายอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำพรรคนาซี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และอิตาลี ลงนามร่วมกันในข้อตกลงมิวนิก ว่าด้วยการยอมรับ ให้เยอรมนีผนวกดินแดนส่วนที่เรียกว่า “ซูดเอเทินลันด์” ( Sudetenland ) ซึ่งหมายถึงพื้นที่ทางเหนือ ทางใต้ และทางตะวันตกของเชคโกสโลวาเกีย โดยประชากรส่วนใหญ่ในบริเวณนั้นมีเชื้อสายเยอรมัน และสื่อสารโดยใช้ภาษาเยอรมัน

นายเนวิลล์ แชมเบอร์เลน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรในเวลานั้น และบรรดาประเทศที่ร่วมลงนาม โดยเฉพาะฝรั่งเศส ให้คำมั่นจะช่วยเหลือเชคโกสโลวาเกีย เพื่อชดเชยกับการต้องสูญเสียดินแดน และไม่มีส่วนร่วมกับการเจรจาครั้งนี้ ที่เกิดขึ้นเพียงเพราะกลุ่มมหาอำนาจไม่ประสงค์ทำสงครามกับเยอรมนีอีก โดยแชมเบอร์เลนถึงขั้นการันตี ว่า “โลกจะมีสันติภาพอย่างยั่งยืน”
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นไม่นาน กองทัพนาซีภายใต้การนำของฮิตเลอร์ เดินหน้าผนวกเชคโกสโลวาเกียทั้งหมดภายในอีก 1 ปีต่อมา ตามด้วยการผนวกเมืองไคลเพดา หรือเมเมิล ของลิทัวเนีย โดยที่ไม่มีมหาอำนาจประเทศใด “กล้าออกหน้า” จากการที่ต่างฝ่ายต่างไม่มีความเป็นเอกภาพร่วมกันอย่างแท้จริงอยู่แล้ว
ฮิตเลอร์จึงดำเนินการต่อไป เดินหน้าสู่การพยายามผนวกเมืองกดานสค์ หรือที่เรียกเป็นภาษาเยอรมัน ว่าเมืองดานซิก กลับคืนจากโปแลนด์ ซึ่งหากประสบความสำเร็จ จะกลายเป็นเส้นทางเชื่อมสู่ภูมิภาคปรัสเซียตะวันออก ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ มุ่งสู่ภูมิภาคตะวันออกของอาณาจักรปรัสเซีย
แต่เมื่อไม่ประสบความสำเร็จตามแผน ฮิตเลอร์และกองทัพนาซีจึงตัดสินใจใช้มาตรการทางทหารเพื่อกดดัน สร้างความไม่พอใจให้กับสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส ซึ่งมี “ผลประโยชน์หลายเรื่อง” ในเมืองกดานสค์ นำไปสู่การประกาศสงครามกับเยอรมนี ซึ่งหนึ่งในเหตุผลหลัก คือเพื่อปกป้อง “ผลประโยชน์” ของตัวเอง ในเมืองกดานสค์
หลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติ ชาวโลกมีความเชื่อมั่นและความคาดหวัง ว่าโลกจะไม่เผชิญกับการสู้รบในแบบที่ทหารของประเทศหนึ่ง เคลื่อนย้ายกำลังพลข้ามพรมแดนไปยังอีกประเทศหนึ่ง “ในระดับที่ใหญ่และลุกลามมากขนาดนี้อีก” จนกระทั่งความขัดแย้งปะทุขึ้นที่ภูมิภาคดอนบาส ในภาคตะวันออกของยูเครน เมื่อเดือนเม.ย.ปี 2557
เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งในภูมิภาคดอนบาส ยุโรปแสดงตัวเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก ในการขับเคลื่อนกระบวนการตามแนวทางการทูต การเจรจาเกิดขึ้นที่กรุงมินสก์ เมืองหลวงของเบลารุส นำไปสู่การลงนามในข้อตกลงมินสก์ฉบับดั้งเดิม เมื่อเดือนก.ย.ปี 2557 โดยผู้ที่ลงนามในข้อตกลงฉบับแรก คือองค์การความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป ( โอเอสซีอี ) เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำยูเครน ผู้แทนกองกำลังในภูมิภาคดอนบาส และนายเลโอนิด คุชมา อดีตประธานาธิบดียูเครน
หลังจากนั้น มีการปรับปรุงข้อตกลงตามมาอีกหลายฉบับ และการประชุมระดับผู้นำหลายต่อหลายครั้ง ระหว่าง เยอรมนี ฝรั่งเศส รัสเซีย ยูเครน และเบลารุส ในฐานะประเทศซึ่งเป็นสถานที่ลงนาม อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงมินสก์แทบไม่มีผลในทางปฏิบัติ เนื่องจากไม่มีฝ่ายใด “ให้ความสำคัญ” ถึงขั้นที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงฉบับนี้
ท่าทีของสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสต่อเมืองกดานสค์ “แตกต่างอย่างสิ้นเชิง” เมื่อเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเชคโกสโลวาเกีย “ซึ่งมีผลประโยชน์น้อยกว่า” เรื่องราวแบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อนานกว่า 8 ทศวรรษที่แล้ว กำลังวนกลับมาเกิดขึ้นกับยูเครนราวกับเป็น “เดจาวู”
ความขัดแย้งในภูมิภาคดอนบาส บานปลายกลายเป็นการที่รัสเซียปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่ขัดแย้ง เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2565 เพียงไม่กี่วันหลังรัฐบาลมอสโกให้การรับรองสถานะอิสระ แก่ “สาธารณรัฐโดเนตสก์” และ “สาธารณรัฐลูฮันสก์”
เป้าหมายของรัสเซียกับการสู้รบครั้งนี้ชัดเจนมาตลอด หนึ่งในนั้นคือ ต้องการให้ยังคงมี “รัฐกันชน” กั้นขวางระหว่างรัสเซียกับยุโรป เพื่อป้องปรามองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ( นาโต ) จากการขยายอิทธิพลทางทหาร ไม่ให้ประชิดพรมแดนทางตะวันตกของประเทศไปมากกว่านี้
รัฐบาลมอสโกประกาศเงื่อนไขสำคัญ ซึ่งรวมถึงการที่ยูเครนต้องไม่เป็นสมาชิกนาโต ทว่าท่าทีไม่ขัดเจนของนาโต บวกกับการที่สมาชิกนาโตหลายประเทศมอบความสนับสนุนทางทหารให้แก่ยูเครนอย่างเปิดเผย รัสเซียจึงมองแล้วว่า ไม่เหลือทางเลือกอื่น นอกจาก “การสร้างแนวกันชนขึ้นมาเอง” นั่นคือภูมิภาคดอนบาส ซึ่งแรกเริ่มรัสเซียยังคงแสดงเจตจำนงไว้เพียงเท่านี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อสงครามยืดเยื้อและขยายวงมากขึ้น เงื่อนไขของรัฐบาลมอสโกจึงชัดเจนตามไปด้วย และเพิ่มขึ้นเช่นกัน ยกระดับเป็นการยื่นคำขาด ว่ายูเครนต้องไม่มีทางได้เข้าเป็นสมาชิกนาโต และดินแดนทั้งหมดที่อยู่ภายใต้การยึดครองของกองทัพรัสเซีย “ถือเป็นดินแเดนภายใต้อธิปไตยของรัฐบาลมอสโก”
ตอนนี้ สถานการณ์ด้านความมั่นคงในภูมิภาคดอนบาส และพื้นที่ส่วนอื่นของยูเครน ตลอดจน “อนาคต” ของยูเครน กำลังเผชิญกับ “จุดพลิกผันอย่างฉับพลัน” เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐเป็นสมัยที่สอง ซึ่งมีการเดินหน้าเจรจาฟื้นฟูความสัมพันธ์กับรัฐบาลมอสโก
ยิ่งไปกว่านั้น นายพีต เฮกเซธ รมว.กลาโหมสหรัฐ ประกาศชัดเจนว่า ยูเครน “ไม่มีทาง” ได้เข้าเป็นสมาชิกนาโต เพราะเรื่องนี้จะยิ่งทำให้สงครามยืดเยื้อ สอดคล้องกับที่ทรัมป์กล่าวด้วยว่า ความต้องการเกี่ยวกับนาโตของยูเครน “คือชนวนเหตุทั้งหมดของสงคราม” และเฮกเซธกล่าวด้วยว่า “ยูเครนจะกลับไปมีดินแดนเท่าปี 2557 ไม่ได้อีก”

หนำซ้ำยังมีประเด็นระหว่างทรัมป์ กับประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ซึ่งถกเถียงกันอย่างดุเดือดต่อหน้าสาธารณชน ภายในทำเนียบขาว เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา ถึงขั้นที่ทรัมป์กล่าวว่า “ถ้ายูเครนไม่ทำข้อตกลง สหรัฐจะออกไปเอง” และตามด้วยการที่รัฐบาลวอชิงตันระงับความสนับสนุนทางทหารและข่าวกรองให้แก่รัฐบาลเคียฟ
อนาคตของยูเครนนับจากนี้จะดำเนินไปในทิศทางใด ไม่ได้ขึ้นอยู่กับยูเครนและรัสเซียเพียงเท่านั้นอีกต่อไป ตัวแปรสำคัญตอนนี้ อยู่ที่สหรัฐ “ซึ่งถือไพ่เหนือกว่า” ทั้งยูเครน และยุโรป ที่กำลังอยู่ในภาวะหวาดหวั่นและไม่มั่นใจ ว่ารัฐบาลวอชิงตันจะกดดันเซเลนสกีอย่างไร เมื่อทรัมป์ถึงขั้นกล่าวว่า “จะไม่ทนอีกนานนัก” ส่วนบรรดาทีมงานของผู้นำสหรัฐกล่าวว่า เซเลนสกี “ควรลงจากตำแหน่ง”
แม้จะต่างบริบท ต่างช่วงเวลา แต่ความล้มเหลวของข้อตกลงมิวนิก ซึ่งนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่สอง และข้อตกลงมินสก์ “ที่เป็นเพียงเศษกระดาษไปแล้ว” คือบทเรียนสำคัญซึ่งเปรียบเทียบได้กับปัญหาของยูเครนในตอนนี้ ซึ่งผู้นำตามเกมไม่ทัน ว่าการมีเรื่องกับมหาอำนาจฝ่ายหนึ่ง และหวังให้มหาอำนาจอีกฝ่ายช่วย
อย่างไรก็ตาม ในโลกของผลประโยชน์ ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร มีเพียงคำว่า “แบ่งกันลงตัว” หรือไม่เท่านั้น เหลือเพียงยูเครน ซึ่งต้องบอบช้ำและพังทลายจนหมดสิ้น เพียงเพราะความต้องการของคนเพียงไม่กี่คน.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : AFP