เรื่อง “อ้วน” ไม่ใช่ภาวะปัจเจกอีกต่อไป เนื่องจาก ความอ้วนนำมาสู่การเป็นโรคไม่เรื้อรัง หลัก ๆ คือ “โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคมะเร็ง” ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคสูง ทำให้คนป่วยสูญเสียปีสุขภาพดี กระทบกับการทำงาน

ถ้าเราลดความอ้วนลงได้ ก็จะถือเป็นการช่วยเหลือประเทศได้อีกทางหนึ่ง“ นี่คือคำกล่าวของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ในงานรณรงค์วันโรคอ้วนโลก (World Obesity Day 2025) “เปลี่ยนระบบใหญ่ เพื่อชีวิตเล็กๆที่ดีขึ้น ลดเสี่ยงโรคอ้วน ห่างไกล NCDs” แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องเกินจริง

นายสมศักดิ์ ระบุว่า โรคอ้วนเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญทุกกลุ่มวัย ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย จิตใจ สังคม และเศรษฐกิจ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรค NCDs กระทรวงสาธารณสุขได้ขับเคลื่อนนโยบายคนไทยห่างไกลโรค NCDs มุ่งเน้นส่งเสริมวิถีชีวิตเพื่อสุขภาพ การป้องกันและควบคุมปัญหาโรคอ้วนนับเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยน 4 ระบบ ได้แก่ 1. เปลี่ยนระบบอาหารในสถานศึกษา ให้มีคุณภาพมากขึ้น 2.เปลี่ยนการตลาดอาหารให้ลดหวาน มัน เค็ม 3. เปลี่ยนระบบบริการสุขภาพ มีการคัดกรองด้านโภชนาการ เพื่อให้ผู้ที่เป็นโรคอ้วนได้รับการส่งต่อและดูแลอย่างเหมาะสม 4.เปลี่ยนสภาพแวดล้อมเพิ่มการมีกิจกรรมทางกาย เพื่อลดความเสี่ยงโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในทุกกลุ่มวัย

ขณะที่ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย ก็ได้เปิดผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยในเด็กและเยาวชน ล่าสุด ซึ่งพบว่า ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนในเด็ก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเด็กเล็กอายุ 1-5 ปี มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน เพิ่มขึ้นจาก 5.8 เปอร์เซ็นต์ เป็น 10.6 เปอร์เซ็นต์ และเด็กวัยเรียนเพิ่มขึ้นจาก 5.8 เปอร์เซ็นต์ เป็น 15.4 เปอร์เซ็นต์

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยยังมีเด็กเป็นโรคอ้วนสูงเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มอาเซียน รองจากมาเลเซียและบรูไน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่นำไปสู่โรคอ้วนในวัยผู้ใหญ่ โดยข้อมูลล่าสุดจากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย ปี 2563 พบว่า ประชาชนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป เป็นโรคอ้วนสูงถึง 42.4 เปอร์เซ็นต์ โดยพฤติกรรมการบริโภคอาหาร กิจกรรมทางกาย สภาพแวดล้อม และระบบบริการสุขภาพ เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคอ้วนและโรค NCDs

อย่างไรก็ตาม ผู้แทนองค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำประเทศไทย Dr.Jos Vandelaer WHO Representative to Thailand ยังได้ชื่นชมที่ประเทศไทยมีนโยบายและแนวทางในการจัดการโรคอ้วน เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สำหรับวันโรคอ้วนโลก ปี 2568 (World Obesity Day 2025) กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมอนามัย รณรงค์ภายใต้แนวคิด ทั้งนี้ วิธีการลดน้ำหนัก แก้โรคอ้วน ป้องกันเอ็นซีดี ที่กระทรวงสาธารณสุขพยายามรณรงค์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งทำข้อมูลไว้น่าสนใจ คือ “การนับคาร์บ” หรือการกินคาร์โบไฮเดรตในปริมาณที่พอเหมาะ จะมีผลดีคือ 1. คุมระดับน้ำตาลในเลือด การกินคาร์โบไฮเดรตในปริมาณที่พอเหมาะ โดยเฉพาะคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ และไม่ทำให้ร่างกายต้องหลั่งอินซูลินมากเกินไป และยังช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2

2. ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด การกินคาร์โบไฮเดรตที่ดีช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides) และคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ในเลือด ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด

3. ลดการสะสมไขมันในร่างกาย (Preventing Fat Accumulation) การกินคาร์โบไฮเดรตแปรรูปในปริมาณมากทำให้ร่างกายไม่สามารถใช้พลังงานได้หมด ส่งผลให้มีการเก็บสะสมพลังงานส่วนเกินในรูปของไขมัน โดยเฉพาะบริเวณหน้าท้อง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง ดังนั้นการนับคาร์บ ลดคาร์โบไฮเดรตจึงสามารถช่วยลดการสะสมไขมันในร่างกายได้

4. ลดการอักเสบในร่างกาย (Reducing Inflammation) คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ธัญพืชที่ไม่ขัดสี มีใยอาหารสูง จะช่วยลดการอักเสบในระดับเซลล์และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งและโรคเรื้อรังอื่น ๆ

5. สนับสนุนระบบเผาผลาญ (Enhancing Metabolism) การบริโภคคาร์โบไฮเดรตในปริมาณที่เหมาะสมช่วยให้ระบบเผาผลาญของร่างกายทำงานได้อย่างสมดุล โดยไม่ต้องดึงพลังงานจากโปรตีนหรือไขมันมาใช้ ซึ่งช่วยปกป้องมวลกล้ามเนื้อและลดความเสี่ยงต่อภาวะคีโตซิส (Ketosis)

สิ่งสำคัญคือเสริมด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้ผ่องใสด้วย.