เนื้อความดังกล่าวข้างต้น และรวมถึง… “เวลาที่คำเฉพาะเจาะจงแบบนี้ถูกใส่เข้ามาประกบกันกับวิถีธรรมชาติ การรักษาทางเลือก สมุนไพร หรือคำวิทยาศาสตร์ มันอาจจะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือบางอย่าง เพราะมันเป็นคำที่ดูน่าเชื่อถือ” …นี่เป็น “เทคนิคหลอก” ซึ่งนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนได้สะท้อนไว้ เกี่ยวกับถ้อยคำที่ดูเผิน ๆ เหมือนไม่มีอะไร แต่เมื่อมีเทคนิค-มีวิธีการผนวกใช้…
ถ้อยคำเช่นนี้สามารถ “โน้มน้าวจูงใจ”
“ให้หลงเชื่อ” จน “เป็นเหยื่อเฟคนิวส์”
ทั้งนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการเผยข้อมูล “เทคนิค” ที่บรรดา “เฟคนิวส์สุขภาพ” นิยมใช้เพื่อ “หลอกล่อ” ให้ตกหลุมพรางเป็น “เหยื่อเฟคนิวส์” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากเวทีเสวนา “Cofact Live Talk” ที่ดำเนินรายการโดย สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคี โคแฟค (ประเทศไทย) โดยมีนักวิชาการคือ ผศ.ดร.นิษฐา หรุ่นเกษม อาจารย์ สาขานิเทศศาสตร์ คณะการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร มาเปิดประเด็น-มาแชร์ปัญหาเรื่องนี้ หลังพบว่า ไทยมีเหยื่อเฟคนิวส์ด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ท่ามกลางปัญหาจากข่าวลวง ข้อมูลบิดเบือน รวมถึงข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ซึ่งปรากฏบนโลกออนไลน์เป็นจำนวนมาก
กับ “เรื่องสุขภาพ” นั้น “ก็มีเฟคนิวส์”
มี “มากขึ้นเรื่อย ๆ”ตั้งแต่โควิด-19 ดุ
สำหรับสถานการณ์เรื่องนี้ ในเวทีเสวนาดังกล่าวทาง ผศ.ดร.นิษฐา นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ ได้ระบุไว้ว่า… ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพที่ถูกส่งเข้ามาในฐานข้อมูลบนเว็บไซต์ cofact.org ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2562 จนถึงเดือน พ.ย. 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,726 รายการ ซึ่งเมื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ก็พบประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะนับตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ระบาด ที่พบว่า… ประเภทข้อมูลที่พบมากที่สุด คือ อาการของโรค การป้องกันตนเอง การรักษา การฉีดวัคซีนซึ่งข้อมูลนี้สะท้อนว่า…การที่มีข่าวลวงจำนวนมากเช่นนี้น่าจะมีสาเหตุจาก “ความลังเลใจด้านข้อมูล” ของผู้คนจำนวนไม่น้อย

นอกจากข้อมูลตัวเลขข้างต้นแล้ว ทางนักวิชาการท่านเดิมยังเปิดเผยไว้อีกว่า… จากการรวบรวมข้อมูลที่ถูกส่งเข้ามาบนฐานข้อมูลยังพบเรื่องน่าสนใจคือ… ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพที่ไม่จริง ที่พบบ่อย ๆ ที่มักมีการโพสต์และแชร์ส่งต่อกันบ่อย ๆ นั้น พบข้อมูลที่หลากหลายมาก อาทิ ข่าวลวงเกี่ยวกับสุขภาพจิต หรือ ข่าวลวงเกี่ยวกับสมุนไพรรักษาโรค เป็นต้น โดยนอกจากหัวข้อข้างต้นที่มักจะพบได้บ่อยในกลุ่ม “เฟคนิวส์สุขภาพ” แล้ว ก็ยังมี ข้อมูลลวงเกี่ยวกับโภชนาการ เกี่ยวกับการบริโภคอาหาร เกี่ยวกับการควบคุมน้ำหนัก เช่น ทฤษฎีกินตามกลุ่มเลือด หรือแม้แต่หัวข้อเกี่ยวกับโรคและการรักษา ที่…
“เป็นเทคนิค” มุ่งให้เกิดการเชื่อมโยง…
“ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร–เครื่องสำอาง”
ทั้งนี้ ที่ก็ “อินเทรนด์” มาแรง ก็ยังมี “เฟคนิวส์เกี่ยวกับเรื่องของการนอน” โดย “ทริกที่พบบ่อย” ก็อย่างเรื่องของวิธีการนอนให้หลับได้ดีมากขึ้น ที่มีทั้งการแนะนำเกี่ยวกับการนอนตะแคง หรือแม้แต่ใส่ถุงเท้าแล้วจะช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น เป็นต้น ซึ่งจากการสำรวจดังกล่าวนี้ก็พบเรื่องน่าตกใจว่า… ส่วนใหญ่มักเป็นข้อมูลลอย ๆ ที่ไม่มีการอ้างอิงแหล่งที่มา
ขณะที่ ถ้อยคำที่นิยมนำมาใช้ ที่พบข้อมูลส่งต่อกัน ก็คือการใช้ ศัพท์ภาษาอังกฤษ–ศัพท์เฉพาะการแพทย์ ซึ่งเป็น คำวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ เพื่อให้เหยื่อลดความลังเลใจ …นี่เป็น“เทคนิค”ที่ “เฟคนิวส์สุขภาพ”นิยมใช้
และนอกจากนี้ ที่ก็น่าตกใจ ที่ ผศ.ดร.นิษฐา แชร์ไว้ คือยังพบว่า… “ข้อมูลลวงสุขภาพ” ที่ถูกแพร่ออกมา จะ เล่นกับความเปราะบางของคนเช่น โรคเรื้อรังมีค่าใช้จ่ายสูงในการรักษา ขณะที่ผู้ป่วยก็อยากหายไว ๆ หายขาด ด้วยค่าใช้จ่ายที่ตนแบกรับได้ ซึ่งกลุ่มขบวนการนี้ ใช้ข้อมูลนำเสนอเป็นทางเลือกโดยอ้างความง่าย–ราคาถูก เช่น ต้มดื่มวันละ 1 แก้วในราคาแค่ 10 บาท หรือวัตถุดิบมีขายในตลาด ราคาไม่แพง โดยคำเหล่านี้มักปรากฏเพื่อให้เกิดการเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายในการรักษากับแพทย์ที่สูง …นี่เป็นอีกเทคนิคที่ “เฟคนิวส์” พุ่งเป้า “เหยื่อเฟคนิวส์” โดยเฉพาะ “กลุ่มเปราะบางที่อยากหายป่วย”
เพิ่มเติมกรณี นิยมใช้วิธีผูกกับคำวิทยาศาสตร์ เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ ยัง มีการผสมระหว่างโบราณกับปัจจุบัน โดยที่พบบ่อย ๆ มีตั้งแต่ ใช้ถ้อยคำกระตุ้นให้อยากเชื่อ–อยากลอง เช่น หายใน 7 วัน นับวันรอได้เลย, อ้างความเป็นข้อมูลลับ หรือคนทั่วไปไม่ค่อยรับรู้ แล้วให้รีบตัดสินใจ เช่น บอกให้รีบแชร์ก่อนถูกลบ หรือเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะรู้ความจริง, อ้างบุคคลหรือผู้เชี่ยวชาญที่ดูน่าเชื่อถือ เช่น อ้างชื่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหนึ่ง กับโรคที่ไม่ใช่ความเชี่ยวชาญของแพทย์คนนั้น
“ยิ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง หรือผู้สูงอายุที่อยากจะหายไว ๆ จากโรคหรืออาการที่เป็นอยู่ แม้จะมีคำเตือนบ่อย ๆ แม้จะมีกรณีตัวอย่างให้เห็นเรื่อย ๆ แต่พอมาเจอกลยุทธ์ เจอเทคนิค เจอกลวิธีแบบนี้ ก็ถูกหลอมละลายได้ทุกที นี่ก็เพราะข่าวลวงสุขภาพเหล่านี้รู้วิธีจี้ปมความเปราะบางนั่นเอง” …เหล่านี้เป็นการ “ถอดรหัส” ถึง“เทคนิคยอดฮิต”…
ที่ “ข่าวลวงสุขภาพ” นั้น “มักนิยมใช้”
เป็นเทคนิค “จี้ใจเหยื่อ” เพื่อ “จูงใจ”
เฟคนิวส์ “ให้เหยื่อหลงเชื่อ-หลงกล”.
ทีมสกู๊ปเดลินิวส์