เรื่อง “นายกฯ Gen Y” เกิดเป็นไวรัลฮือฮา ท่ามกลางทีม “ครม.” ที่คละเคล้าไปด้วยคนรุ่น “Baby Boomer” และคน “Gen X” โดยในจำนวนนี้ ผู้ที่อายุมากสุด 76 ปี คือ ชูศักดิ์ ศิรินิล ส่วน ผู้ที่อายุน้อยสุด 37 ปี คือ จิราพร สินธุไพร ซึ่งทั้งคู่เป็น “รัฐมนตรี” รัฐบาลชุดนี้ ทั้งนี้ ภายหลังเรื่องนี้กลายเป็นกระแส นี่ก็ดูจะชวนให้สังคมไทยหันกลับมาสนใจ “ศัพท์ทางด้านประชากร”กันอีกครั้ง…
ไทยในตอนนี้เป็น “ยุครุ่นอายุดิจิทัล”
ประกอบด้วย “คนหลายเจเนอเรชั่น”
และคน “เจเนอเรชั่นใหม่ก็มี” ด้วย??
เกี่ยวกับ “ความหลากหลาย” ของ “เจเนอเรชั่น (Generation)”หรือเรียกสั้น ๆ ว่า“เจน (Gen)”นั้น แม้จะเคยได้ยินได้ฟังกันบ่อย ๆ แต่ก็น่าพินิจกันชัด ๆ อีกครั้งว่า…สรุปแล้ว แต่ละ Generation แต่ละ Gen หมายถึงประชากรกลุ่มใดรุ่นใดกันบ้าง? ซึ่งคำอธิบาย-นิยามคนแต่ละ Gen นั้นก็เป็นข้อมูลที่น่าสนใจ และวันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็มีข้อมูลมาสะท้อนต่อ…
จะมีทั้งหมดกี่รุ่น?…จะมีรุ่นอะไรบ้าง?
ลองมาพิจารณาจากข้อมูลคำอธิบาย…
ข้อมูลคำอธิบาย Generation หรือGenที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำมาสะท้อนต่อนี้ มาจากชุดข้อมูลเผยแพร่ของ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ชื่อ “คุณภาพชีวิตต่างวัยของผู้มีงานทำ” โดย รศรินทร์ เกรย์, อุมาภรณ์ ภัทรวาณิชย์, อักษราภัค หลักทอง, เจตพล แสงกล้า ซึ่งได้อธิบาย “ลักษณะประชากรต่างวัย” ไว้ดังต่อไปนี้…
การจำแนกประชากรตามรุ่นต่าง ๆ หรือเรียกว่า เจเนอเรชั่น (Generation) นั้น ได้ นิยามตามปีเกิดของประชากร ซึ่งอาจถูกกำหนดไว้ค่อนข้างหลากหลายและแตกต่างกันไปในแต่ละการศึกษา อย่างไรก็ตาม แต่ก็ยังคงเป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน โดยที่ ประชากรในแต่ละเจเนอเรชั่นจะมีคุณลักษณะ มีรูปแบบการใช้ชีวิต มีพฤติกรรม ที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ ในการแบ่งประชากรไทยออกเป็นรุ่นต่าง ๆ นั้นจะนิยม “แบ่งตามปีเกิด” ซึ่งจะแบ่งเป็น “เจเนอเรชั่นต่าง ๆ” ดังต่อไปนี้…

กลุ่ม “Greater Generation”เป็นกลุ่มประชากรที่ เกิดปี พ.ศ. 2486 หรือปีก่อนหน้า, กลุ่ม “Baby Boomer” เป็นกลุ่มประชากรที่ เกิดปี พ.ศ. 2487–2505, กลุ่ม “Generation X” เป็นกลุ่มประชากรที่ เกิดปี พ.ศ. 2506–2520, กลุ่ม “Generation Y” เป็นกลุ่มประชากรที่ เกิดปี พ.ศ. 2521–2538 ซึ่งนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน แพทองธาร ชินวัตร ระบุว่าเป็นคนเจเนอเรชั่นนี้, กลุ่ม“Generation Z”เป็นประชากรที่ เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 เป็นต้นมา และมีอายุไม่น้อยกว่า 15 ปี
นอกจากนี้ก็ยังมีกลุ่มเจเนอเรชั่น“ซี–แอลฟา(Z-alpha)” ที่เป็น “ประชากรกลุ่มใหม่” ที่หมายถึงผู้ เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2547-2556 ซึ่งในมุมมองของนักประชากรศาสตร์ ต่างก็มองว่า… “คนเจเนอเรชั่นใหม่” กลุ่มดังกล่าวนี้…ในอนาคตจะสำคัญกับสังคมไทยมากขึ้น ซึ่งคนเจเนอเรชั่นก่อนจะต้องไม่มองข้ามคนรุ่นนี้ …เหล่านี้เป็นเจเนอเรชั่นที่ “แบ่งตามปีเกิด”
ทั้งนี้ “คำจำกัดความ” ถึง “ลักษณะทางประชากร” ของคนแต่ละเจเนอเรชั่นนั้น ในชุดข้อมูลนี้ก็มีการอธิบายไว้ดังนี้… เริ่มจาก Baby Boomer กลุ่มนี้ มักถูกมองเป็นพวกอนุรักษ์นิยมหรือหัวเก่า มีนิสัยยึดมั่น ไม่เปลี่ยนแปลงอะไรง่าย และคนเจเนอเรชั่นนี้ ส่วนใหญ่เติบโตมาในภาคเกษตรกรรม ช่วงที่ประเทศไทยเป็นชนบท มีประชากรไม่หนาแน่นมาก
ถัดมาGeneration X กลุ่มนี้เป็นประชากรที่ เกิดมาท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง และ เกิดมาในช่วงที่ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากประเทศซีกโลกตะวันตกหลายอย่าง ดังนั้นจึง มักจะมีนิสัยชอบความเสี่ยง ยินดีรับการเปลี่ยนแปลงให้ความสำคัญต่อสัมพันธภาพ รักอิสระและชอบให้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูก
ต่อด้วย Generation Y ซึ่งนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ระบุว่าเป็นคนเจเนอเรชั่นนี้ ประชากรไทยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เกิดในช่วงที่ประเทศไทยมีการเติบโต ความเป็นเมืองสูงขึ้น ครัวเรือนมีขนาดเล็กลง เป็นช่วงที่เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์กับอินเทอร์เน็ตก้าวหน้า ถูกมองว่า มีความเป็นสากล เชื่อมั่นตนเอง ทะเยอทะยาน ชอบหาโอกาสใหม่ ปรับตัวเก่ง มีความคิดริเริ่มมีประสิทธิภาพในการใช้เทคโนโลยี สงสัยในทุกสิ่งจนมีการเรียกคน Gen Y นี้ว่า “Generation Why”
สำหรับGeneration Zเป็นกลุ่มที่เกิดมาพร้อมความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสื่อสาร มองสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตเป็นเหมือนอวัยวะชิ้นที่ 33 ติดออนไลน์ เป็นมนุษย์ข้อมูล กลัวอนาคต มีความอดทนต่ำอย่างไรก็ตาม มัก เปิดกว้างความคิดและวัฒนธรรม ยอมรับความแตกต่าง รวมถึงมีทักษะติดต่อกับคนต่างชาติ ที่มากกว่าคนเจเนอเรชั่นอื่น ๆ
ส่วน Generation Z-alpha ที่นักประชากรศาสตร์มองว่าในอนาคตจะยิ่งสำคัญมากขึ้น ถูกมองเป็นเจเนอเรชั่นที่ฉลาดที่สุด เพราะคุ้นเคยการใช้ชีวิตอยู่กับเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลง จึงมีมุมมองต่างจากคนรุ่นก่อน ๆและมักจะแสดงความเป็นตัวเองในด้านที่ไม่เหมือนใคร รวมถึงมักเป็นกลุ่มที่มุ่งทำอาชีพที่สร้างรายได้จากความชอบของตัวเอง
เหล่านี้เป็น “Generation” หรือ “Gen”
“รุ่นประชากร” กลับมา “เป็นที่สนใจ”
รวมถึงการ “จับจ้องนายกฯ Gen Y”.
ทีมสกู๊ปเดลินิวส์