ญัตติกล่าวหานายกฯ คือ ไม่มีคุณสมบัติและไม่มีความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายบริหารด้วยประการทั้งปวง ขาดภาวะผู้นำ ขาดวุฒิภาวะ ขาดความรู้ความสามารถ และขาดเจตจำนงในการบริหารราชการแผ่นดินที่แก้ปัญหาให้แก่ประเทศชาติและประชาชน ส่งผลทำลายภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของประเทศชาติ จงใจลอยตัวอยู่เหนือปัญหาและไม่มีความรับผิดชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ เพียงเพราะเห็นแก่ผลประโยชน์ของตนเอง บิดา ครอบครัว และพวกพ้องเป็นตัวตั้ง อยู่เหนือผลประโยชน์ของส่วนรวม

ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีพฤติการณ์เอาเปรียบประชาชน เอาเปรียบสังคม โกหกหลอกลวง ไม่ดำเนินการตามนโยบายที่ให้สัญญาไว้กับประชาชน เป็นนั่งร้านช่วยเหลือต่างตอบแทนกลุ่มบุคคลที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย บริหารบ้านเมืองผิดพลาดล้มเหลวอย่างร้ายแรงทั้งในด้านการเมือง การปฏิรูปกองทัพ ความมั่นคง เศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม ทำลายนิติรัฐ ทำลายระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา

เจตนาและปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันภายใต้การบริหารงานของตนเอง ทั้งยังทุจริตเชิงนโยบาย บริหารบ้านเมืองเพื่อเอื้อผลประโยชน์แก่พวกพ้องและกลุ่มทุน แต่งตั้งบุคคลที่ขาดความเหมาะสม ขาดความรู้ความสามารถ หรือไม่ซื่อสัตย์สุจริตไปเป็นรัฐมนตรีหรือตำแหน่งสำคัญอื่น สมัครใจยินยอมให้นายทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นบิดา ชี้นำ ชักใย ให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการอันเป็นเรื่องสำคัญของชาติบ้านเมือง ประพฤติตนเป็นเสมือนนายกรัฐมนตรีหุ่นเชิด โดยมีบิดาเป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริงที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อการใช้อำนาจ

ซึ่งจริงๆ การที่นายกฯอิ๊งค์ทำงานแค่ 5 เดือนก็เถียงกันระหว่างวิปฝ่ายค้านกับวิปรัฐบาล ว่า จะให้เวลาเท่าไร ฝ่ายค้านขอไป 5 วัน โดยบอกว่า เพื่อครอบคลุมประเด็นทั้งหมด คอการเมืองฝั่งหนึ่งเขามองว่า จะอภิปรายกราดแบบกระทบชิ่งหน่วยงานโน้นหน่วยงานนี้ไปทั่ว แต่เวลาลงมติจะได้ครั้งเดียวจบ แบบเด็ดหัวได้ก็ไปทั้งรัฐบาล ..ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็แบะท่าว่า “อย่าเยอะ อภิปรายนายกฯ คนเดียว นายกฯทำงานมาแค่ 5 เดือน เอาไปวันเดียวพอ เสร็จเที่ยงคืนโหวตเช้าอีกวัน”  แล้วก็ตีฝีปากโต้กันไปมา ทาง“เอิร์ธ”ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒนสกุล ประธานวิปฝ่ายค้านแขวะกลับว่า สมัยเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้านก็เคยขออภิปราย “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ ยาว เฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์คนเดียวโดนไป 30 ชม.

ส่วนท่าทีของนายกฯ อิ๊งค์ ก็ยังไม่พูดอะไรมาก ถามไปบางครั้งหัวเราะด้วยซ้ำ บอกว่า “ก็ขอความร่วมมือพรรคร่วมรัฐบาลช่วยตอบด้วย เพราะเพิ่งโดนอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรก” ซึ่งเท่าที่ดูประเด็นที่ถูกพูดถึงมาก ฝ่ายค้านขย่มถี่ๆ ก็เชื่อได้ว่า นายกฯอิ๊งค์น่าจะถูกอภิปรายเรื่องแรก คือ “ล้มเหลวในการกระตุ้นเศรษฐกิจ” เพราะจีดีพีโตรั้งท้ายประเทศในอาเซียน หุ้นตกระเนระนาดตลอด และนโยบายแจกเงินหมื่น “ไม่ได้สร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจได้จริง” ทั้งยังกลายเป็นภาระด้านงบประมาณที่รัฐบาลต้องใช้หนี้ ขณะที่ประชาชนก็ลำบาก

คำตอบก็น่าจะประมาณว่า นายกฯอิ๊งค์ก็ชูตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เกิดจากเงินหมื่น และบอกว่า ในการแจกกลุ่มสาม ( ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด ) ในช่วงสงกรานต์ ( ถ้าไม่เลื่อนนะ ) จะกระตุ้นการบริโภค การท่องเที่ยวดึงเม็ดเงินเข้าประเทศได้มาก ส่วนเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ มีมาตรการระยะต้น ระยะกลาง ระยะยาวอยู่แล้ว เร่งการเบิกจ่ายงบประมาณ ส่งเสริมต่างชาติมาลงทุนในประเทศ ส่วนการช่วยเหลือ SMEs ก็ต้องประสานทางธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) เรื่องการลดดอกเบี้ย เปิดโอกาสผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงสินเชื่อได้หรือไม่ ยืนยันรัฐบาลไม่ได้ทำเรื่องเดียว

เมื่อฝ่ายค้านถล่มความล้มเหลวของเงินดิจิทัลซ้ำ เชื่อได้ว่า นายกฯอิ๊งค์ก็โยน “รองหนิม”จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง หรือ “รองออฟ”เผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลังตอบ

ต่อมา ฝ่ายค้านอาจถามถึงความจริงใจในการแก้ปัญหาคอลเซนเตอร์ และตั้งข้อสังเกตว่า “ไทยตัดไฟฟ้าที่ส่งไปขายที่แม่สายช้าเกินไป” คราวนี้นายกฯอิ๊งค์ก็คงตอบทำนอง..ได้เป็นคนสั่งการเองให้ตัดไฟ ส่วนนอกนั้น ขอให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทยตอบในฐานะกำกับดูแลการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ( กฟภ.) หลังจากนั้น นายกฯอิ๊งค์ก็ใช้โอกาสนี้ชี้แจงผลงานการกวาดจับแก๊งค์คอลเซนเตอร์ทั้งฝั่งเมียนมา ฝั่งปอยเปตไป ..เพราะเจ้าตัวก็พูดอยู่บ่อยๆ ว่า “จะใช้เวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจในการชี้แจงผลงานด้วย” ซึ่งเท่าที่ดูผลการปราบจับคอลเซนเตอร์ในยุครัฐบาลนี้จัดว่าน่าพอใจ เพราะขยายวงจับได้ถี่ๆ ที่แสบคือ มีคนไทยเต็มใจไปทำงาน.. ถึงว่า คอลเซนเตอร์บางตัวถูกจับโป๊ะได้แล้วปากแซ่บเชียว

ฝ่ายค้านถามถึงเรื่องสนามกอล์ฟอัลไพน์ นายกฯอิ๊งค์ตอบ คือที่ดินมันถูกซื้อขายกันตั้งแต่สมัยนายเสนาะ เทียนทอง อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทยเป็น รมว.มหาดไทย เมื่อครั้งได้มามันถูกต้อง ต่อมามีคำสั่งให้คืนที่ธรณีสงฆ์ ก็ถือว่า นายกฯอิ๊งค์ก็ถือเป็นผู้เสียหายที่ต้องได้รับการเยียวยาเช่นเดียวกับผู้ถือครองที่ดินรายอื่น

ถ้าถามเรื่องเขากระโดง หรือเรื่องรุกที่ป่าที่นครราชสีมา อันนี้ทางตัวแทนพรรคภูมิใจไทยจะลุกขึ้นพูดเองหรือไม่ก็ได้ แต่นายกฯอิ๊งค์ก็มีโอกาสตอบว่า “หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลอยู่ ไม่ได้นิ่งนอนใจ” ก็เรื่องมันอยู่ในระหว่างกระบวนการจริงๆ สนามกอล์ฟรุกที่ที่โคราช ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เขาก็สอบอยู่ เรื่องเขากระโดง การรถไฟแห่งประเทศไทย ( รฟท.) กับกรมที่ดิน อ้างแผนที่คนละชุด ก็ต้องให้ศาลปกครองวินิจฉัย

ฝ่ายค้านถามเรื่อง “พ่อแม้วชั้น 14” นายกฯอิ๊งค์ตอบ “เรื่องนี้เป็นการดำเนินการในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจ ใครไม่สบายใจก็ให้รอ เพราะเรื่องอยู่ในชั้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) สอบอยู่ นายกฯ ไม่ขอก้าวล่วง” ถ้าถามว่า อดีตนายกฯแม้วครอบงำหรือไม่ ก็ตอบแบบที่เคยตอบไปตลอด ว่า “เป็นพ่อลูกกันก็ปรึกษากันบ้าง แต่ไม่ครอบงำ”

ถามเรื่องอุยกูร์ เรื่องนี้เห็น “สส.นล”กัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม เคลื่อนไหวอย่างเข้มข้น แต่มีฝ่ายพยายามจับโป๊ะเรื่องจดหมายที่อ้างว่ามาจากอุยกูร์อยู่ว่า ของจริงหรือปลอม ซึ่งตัว สส.นลก็ไปตอบคนสงสัยในแอปพลิเคชั่น X ตลอด พร้อมกับย้ำว่า “ประเด็นไม่ได้อยู่ที่จดหมาย มันอยู่ที่การส่งเขาไปนั้น อุยกูร์สมัครใจกลับไปจีนหรือไม่” ซึ่งเรื่องอุยกูร์ ถ้ามากกว่านี้อาจกลายเป็นเรื่อง woke ที่กระแสตีกลับใส่ สส.นล ว่า “ตกลงเป็น สส.คนไทยหรือไม่ ?”เพราะเห็นช่างอุทิศตนเพื่อคนกลุ่มนี้เหลือเกิน…ซึ่งถ้าตอบ นายกฯอิ๊งค์ก็มีบทตอบว่า “ได้คุยกับหลี่ เฉียง นายกฯจีนแล้ว ว่า เขารับประกันความปลอดภัย การดำเนินการเรายึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชน” หลังจากนั้น ถ้าสงสัยอะไรอีก “บิ๊กอ้วน”ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหมคงร่ายยาวให้ ถ้าสงสัยไปถึงเรื่องปฏิรูปกองทัพ เรื่องเรือดำน้ำ บิ๊กอ้วนตอบได้ ตามที่ “เสี่ยหนู”อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์วันที่ 5 มี.ค.ว่า “เราทำงานเป็นทีม”

เรื่อง MOU44 ก็ตอบส่งๆ ไปว่า “อยู่ระหว่างตั้งคณะทำงาน ขอให้มั่นใจว่าคนไทยไม่เสียผลประโยชน์เรื่องการใช้พลังงานฟอสซิลในทะเลแน่ และไม่เสียอธิปไตยน่านน้ำไทย” ถ้าอยากให้ขยายความ ก็ “ทูตปู”มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศ กับบิ๊กอ้วนช่วยกันชี้แจงได้

เรื่องปฏิรูปราคาพลังงาน จากที่พลังงานแพง โยน “รองตุ๋ย”พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว.พลังงานตอบได้ ซึ่งเจ้าตัวก็เคยเขียนโพสต์ร่ายยาวช่วงปีใหม่อยู่ ว่า มีแนวทางในการลดค่าไฟระยะยาวอย่างไร มีการสำรองไฟฟ้าที่ต้องซื้อจากเอกชนอย่างไรเพื่อไม่ให้คนไทยต้องจ่ายค่าไฟแพง

เรื่องความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โยนให้นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกฯ ซึ่งเป็นฝ่ายกฎหมายของพรรคเพื่อไทยด้วย ตอบได้ ว่า มีความเห็นแย้งกันอยู่ในพรรคร่วมรัฐบาลเกี่ยวกับการแก้ ม.256 เพราะการเพิ่มหมวดให้ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ( ส.ส.ร.) คือการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เช่นนี้แล้วจะต้องสอบถามศาลรัฐธรรมนูญก่อน กันพลาดว่า ทำประชามติไปแล้ว เสียเงินไปแล้ว สุดท้ายประชามติล้ม สส.มีความผิด

เอาจริงๆ “ฝ่ายค้านยังเลือกเวลาอภิปรายไม่ไว้วางใจเหมาะสมหรือไม่ ” ไม่รู้เพื่อต้องการเดบิวต์ สส.ใหม่ให้หัดอภิปรายหรืออะไร หรืออยากตีฝีปากอย่างที่ทางรัฐบาลเขาว่า แต่หลายๆ เรื่องมันเป็นข้อสังเกต บางเรื่องเป็นข้อสั่งการไปแล้วที่ยังไม่บรรลุผล บางเรื่องมันอยู่ระหว่างยกร่างกฎหมาย อย่างเอนเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ อภิปรายไป ไม่รู้ว่า มีแต่ข้อสังเกตหรือไม่ ( แต่มีคนบอกให้ลุ้นเรื่องนี้มากที่สุด เพราะอาจมีการลากไส้ว่า ฝ่ายการเมืองบางคนได้ประโยชน์ )  ซึ่งก็พูดกันอยู่เรื่อยๆ ทำให้การอภิปรายจะเด็ดได้ต่อเมื่อเปิดเรื่องใหม่ และมีหลักฐานแบบจั๋งหนับ ว่านายกฯ อิ๊งค์ไปเกี่ยวข้องในทางไม่ชอบด้วยแน่ๆ ไม่เช่นนั้นก็รอฟังรัฐมนตรีอื่นตอบแทน

มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ อยากให้ฝ่ายค้านหยิบมาอภิปรายตีแผ่ คือการรุกคืบของต่างชาติในการใช้นอมินีซื้ออสังหาริมทรัพย์ไทย ตอนนี้ก็อึงๆกันมากแถวทองหล่อ เอกมัย รัชดา ห้วยขวาง เรื่องทุนต่างชาติมาซื้อคอนโดฯ แล้วทำเป็นห้องปล่อยเช่า ซึ่งลูกบ้านในคอนโดแต่ละโครงการก็ไม่สบายใจเพราะเห็นว่าเป็นคนแปลกหน้าเวียนไปเวียนมา บางครั้งก็แสดงกิริยามารยาทแบบไม่เกรงใจซึ่งกันและกัน ผู้ประกอบการโรงแรมก็โวยวายเดือดร้อน ว่าเป็นการประกอบธุรกิจที่ขัดต่อ พ.ร.บ.โรงแรม มาแย่งลูกค้าโรงแรมหมด ..ต้องอภิปรายให้เห็นภาพรวมการรุกคืบแผ่นดินไทยให้ได้ และไทยสูญเสียอะไรเท่าไร ซึ่งที่ติดตามมา ยังไม่เคยเห็นนายกฯอิ๊งค์ตอบเรื่องนี้

ที่น่าสนใจคือ “องครักษ์พิทักษ์นาย” คือพวกคอยป่วนการประชุม ประเภทประท้วงวนไปไม่ไปไหนเสียที เมื่อก่อนข่าวว่า “เขาจ่ายเงินให้ สส.ที่ประท้วงด้วย” เคยมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีคนหนึ่งสมัยรัฐบาลทักษิณ 1 ( ตอนนั้นตามรัฐธรรมนูญ 40 เสียงเข้าชื่ออภิปรายนายกฯ ต้องใช้จำนวนมาก จึงอภิปรายนายกฯไม่ได้ ) มีผู้ประท้วงผู้อภิปรายแบบสองชั่วโมงยังวนไม่ไปไหน ประท้วงประธาน ประท้วงผู้อภิปราย ทีมผู้อภิปรายประท้วงผู้ประท้วง ทีมรัฐมนตรีประท้วงทีมของผู้อภิปรายอีกที ทั้งทีมรัฐมนตรีและทีมของผู้ประท้วงประท้วงประธาน จนจบที่ไม่รู้อภิปรายอะไร

ไม่แน่ว่า การทำหน้าที่ประท้วงจนประชุมไม่รอด เข้าตาฝั่งรัฐบาล จะมีอะไรตอบแทนผู้ประท้วงบ้าง.

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่