หลังจากกรณีดังกล่าวเป็นกระแสก็เกิดเสียงวิจารณ์เกี่ยวกับมาตรการแก้ไขเหตุฉุกเฉินกรณีแบบนี้ พร้อมทั้งมี “ปุจฉา” ตามมา ซึ่งปุจฉาที่ว่านั้น…กับ “วิสัชนา” ก็นับเป็นอีกเรื่องที่เรา ๆ ท่าน ๆ น่าจะตระหนักกันไว้ เป็นอีกกรณีที่น่าสนใจ-ที่“รู้ไว้ใช่ว่า”…
ถ้าอยู่ใน “วิกฤติ…ลิฟต์ค้าง–ลิฟต์ตก”
วิกฤตินี้ “วิธีรอด…จะต้องทำเช่นไร?”
เกี่ยวกับ “วิสัชนา” เรื่องนี้ ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้ค้นหาและรวบรวม “คำแนะนำ” จากหลายแหล่งข้อมูลที่ได้เคยออกมาให้แนวทางวิธีปฏิบัติตัวไว้ และนำมาสะท้อนต่อ ณ ที่นี้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นแนวทางในการปฏิบัติตัวหากเผอิญต้องตกอยู่ภายใต้สถานการณ์วิกฤติเกี่ยวกับลิฟต์ที่อย่างน้อยก็น่าจะสามารถนำไปใช้เป็น“คู่มือเอาตัวรอดเบื้องต้น”ได้ และสำหรับ “คำแนะนำ” ที่น่าสนใจ ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้นำมาประมวลไว้ ก็มีแนวทางและวิธีปฏิบัติตัวในยามที่บางคนอาจจะต้องเจอกับกรณี “ลิฟต์ค้าง” หรือ “ติดค้างในลิฟต์ที่ชำรุดหรือระบบการทำงานบกพร่อง” โดยสังเขปนั้นมีดังนี้…
เริ่มจาก “คู่มือ” ของ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ที่แนะนำข้อควรปฏิบัติในการ “ใช้ลิฟต์อย่างถูกวิธี” ไว้ว่า… 1.ไม่ใช้ลิฟต์ที่บรรทุกน้ำหนักหรือจำนวนคนเกินกำหนด 2.ควรรอให้ลิฟต์จอดสนิท และคนในลิฟต์ออกมาก่อน จึงค่อยเดินเข้าไป 3.ควรยืนกระจายน้ำหนักให้ทั่วห้องโดยสาร และไม่ยืนพิงประตูลิฟต์ เพราะตรงบริเวณประตูลิฟต์ไม่สามารถรับน้ำหนักได้มาก 4.ต้องเพิ่มความระมัดระวังขณะเดินออกจากลิฟต์ เพราะลิฟต์อาจจอดไม่ตรงกับระดับพื้นจนทำให้สะดุดล้มได้
สำหรับ “กรณีลิฟต์ค้าง”ทาง ปภ. ได้แนะนำวิธีปฏิบัติตัวไว้ว่า… เริ่มจาก ให้ตั้งสติ และกดปุ่มสัญญาณฉุกเฉิน (Emergency Call) ทันที เพื่อขอความช่วยเหลือ, หากไฟดับ และระบบระบายอากาศหยุดทำงาน ห้ามนั่งรอที่บริเวณพื้นเด็ดขาดเนื่องจากถ้าหากเกิดการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมักกระจายตัวและลอยต่ำ ซึ่งหากนั่งกับพื้นลิฟต์ก็มีโอกาสสูดดมเข้าไปจนทำให้หมดสติได้ ส่วน “กรณีลิฟต์ตก” คำแนะนำคือ… หาที่ยึดจับให้แน่น พร้อมยืนตัวตรงให้หลังและศีรษะชิดผนัง กับงอเข่าเล็กน้อย เพื่อช่วยลดแรงกระแทกและป้องกันบาดเจ็บรุนแรง …นี่เป็น “คู่มือเอาชีวิตรอด”…
กรณีที่เผชิญเหตุ “ลิฟต์ค้าง–ลิฟต์ตก”
และอีกแหล่งข้อมูลที่ก็มีคำแนะนำน่าสนใจคือ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “วิธีเอาชีวิตรอด” และ “คู่มือปฐมพยาบาลเบื้องต้น” กรณีเจอเหตุการณ์ “ลิฟต์ค้าง–ลิฟต์ตก” ไว้ว่า…เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว สิ่งแรกที่ต้องทำคือตั้งสติ และ อย่าพยายามงัดประตูลิฟต์เด็ดขาด โดยลิฟต์จะมีพัดลมที่สามารถระบายอากาศได้เพียงพอ

แต่…กรณีที่ลิฟต์ตัวนั้นเกิด ไฟฟ้าดับ หรือ พัดลมระบายอากาศหยุดทำงาน คนที่ติดในลิฟต์มักประสบ ภาวะคั่งคาร์บอนไดออกไซด์ โดยสังเกตได้จากการที่จะรู้สึก มึนงงสับสน ปากเริ่มมีสีคล้ำซึ่งก็มีคำแนะนำวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยผู้ที่จะช่วย คือ… รีบคลายเสื้อให้หลวม ไม่ควรจับนอนหรือนั่ง ควรประคองให้ยืน เพราะบริเวณพื้นจะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าด้านบน และเมื่อนำตัวออกมาได้แล้วให้พาไปอยู่ในที่อากาศถ่ายเทสะดวก ถ้ามีออกซิเจนก็ให้ทันที พร้อมโทรฯ แจ้ง 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ ซึ่งหากหัวใจหยุดเต้นควรรีบช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) โดยเร็ว
นอกจากนี้ยังมี “อาการอื่นที่ต้องสังเกต” ด้วย เมื่อเกิด “ติดลิฟต์ค้าง” เป็นเวลานาน ๆ ซึ่งบางคนอาจ เครียดจากการกลัวที่แคบ (Agoraphobia) โดยผู้ป่วยจะหายใจเร็ว จนทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดถูกขับออกมามากไป ส่งผลให้เลือดมีความเป็นกรดลดลง จนนำสู่อาการเกร็งกล้ามเนื้อที่คล้ายเป็นตะคริว โดยเรียกว่า“อาการมือจีบ”ซึ่งวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นคือ… หาถุงพลาสติกหรือถุงกระดาษเจาะรูเล็ก ๆ ครอบปากและจมูก แล้วให้ผู้ป่วยหายใจเอาคาร์บอนไดออกไซด์ที่ออกมาย้อนกลับเข้าไป โดยต้องเปิดให้หายใจในอากาศปกติเป็นระยะ ๆ ด้วย และที่สำคัญคือต้องทำให้ผู้ป่วยผ่อนคลาย
เหล่านี้เป็นวิธีปฐมพยาบาลที่น่าตระหนัก
ขณะที่กรณีเผชิญเหตุ“ลิฟต์ตก”นั้น แนวทางกรณีนี้ สมาคมลิฟต์และบันไดเลื่อนแห่งประเทศไทย ก็ได้มีการให้ข้อมูลไว้ว่า… เหตุการณ์ลักษณะนี้มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้น้อยมาก เนื่องจากลิฟต์รุ่นใหม่ ๆ จะมีระบบล็อค แต่หากเกิดขึ้นก็มี“หลักปฏิบัติเพื่อเอาชีวิตรอด”คือ… กดปุ่มให้ลิฟต์จอดทุกชั้นซึ่งเมื่อไฟฟ้าสำรองทำงานแล้วก็จะช่วยหยุดลิฟต์จากการร่วงลงมา และ หาที่จับให้แน่น โดย พิงหลังและศีรษะเข้าผนังเป็นเส้นตรงป้องกันหลังและกระดูก และงอเข่าเล็กน้อย
ทั้งนี้ ทางสมาคมลิฟต์และบันไดเลื่อนฯ ยังได้มีการแนะนำ “สิ่งที่ควรทำขณะใช้งานลิฟต์” ทุก ๆ ครั้ง เพื่อ ป้องกันไม่ให้เกิดอันตราย เอาไว้ด้วย อาทิ… ไม่ขึ้นลิฟต์เกินจำนวนคนที่ระบุไว้, อย่าพิงประตูลิฟต์ขณะยืนรอ เนื่องจากประตูลิฟต์ไม่ได้แข็งแรง กับไม่ได้ออกแบบให้มารับน้ำหนักคนพิง, ห้ามใช้ลิฟต์ขณะเกิดไฟไหม้ เพราะอาจสำลักควันในปล่องลิฟต์ หรือลิฟต์ไปเปิดในชั้นที่ไฟกำลังไหม้ อาจทำให้คนในลิฟต์เสียชีวิตทันทีได้ …นี่ก็เป็น “คำแนะนำ” ที่น่า “รู้ไว้ใช่ว่า” อย่างยิ่ง…
เผื่อบังเอิญอยู่ใน “สถานการณ์วิกฤติ”
วิกฤติ “ติดลิฟต์ค้างนาน–ติดลิฟต์ตก”
ข้อมูลเหล่านี้คือ “คู่มือเอาชีวิตรอด”.
ทีมสกู๊ปเดลินิวส์