ทั้งนี้ ทัศนคติสังคมหรือ “มุมมองเชิงลบ” เกี่ยวกับ “คอสเพลย์” นั้น ก็อย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่เกิด “กรณีแย่ ๆ” กรณี “ใส่หน้ากาก–ถ่ายคลิปไม่เหมาะสม” เรื่องของ “คอสเพลย์” ก็ถูกนำไปยึดโยงกับการแสดงออกที่ไม่เหมาะสมดังกล่าว ทั้งที่ “เป็นคนละเรื่องกัน” และทั้ง ๆ ที่ “คอสเพลย์” นั้น…
เป็น “เสรีภาพการแสดงออกแบบหนึ่ง”
ที่ “เกิดจากการลื่นไหลทางวัฒนธรรม”
โดย “บางคนมีอาชีพ–มีรายได้” ได้ด้วย
เกี่ยวกับ“กรณีศึกษาอาชีพคอสเพลย์”และ “เสียงสะท้อนชีวิตคอสเพลย์เยอร์”ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำมาสะท้อนต่อ ณ ที่นี้ เป็นเรื่องราวของ “ตั๊ก-สุพินพร อึงรัตนากร” หรือ “ทาโกะจัง” ที่เป็นชื่อในวงการคอสเพลย์ของเธอ ที่เคยบอกเล่าเส้นทางนี้กับ “เดลินิวส์” ไว้ทาง “คอลัมน์วิถีชีวิต” ว่า… เธอเป็นเด็กหาดใหญ่ แต่ไปใช้ชีวิตที่ จ.สตูล หลังจบ ม.6 ก็ใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ โดยสอบติดมหาวิทยาลัยสาขาวิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และหลังเรียนจบก็เลือกใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ “คอสเพลย์เกิร์ล” ที่ชื่อ “ทาโกะจัง” พูดถึงความชื่นชอบในคอสเพลย์ของเธอไว้ว่า… ชอบและหลงใหลมาตั้งแต่เด็ก เพราะชอบดูการ์ตูน และฝันอยากแต่งตัวเป็นตัวการ์ตูนที่ชื่นชอบ และนอกจากนั้นเธอยังชอบดูคอสเพลย์ของต่างประเทศเสมอ ๆ เพื่อศึกษาและหาไอเดียในการแต่งตัว และหลังจากกระแสคอสเพลย์เข้ามาในไทย เธอก็เริ่มแต่งคอสเพลย์ แต่แรก ๆ ที่แต่ง เพื่อน ๆ ก็มักจะล้อ หรือบูลลี่ว่าแต่งตัวอะไร ทำให้รู้สึกแย่มาก และทำให้ช่วงหนึ่งไม่มีความมั่นใจที่จะแต่งคอสเพลย์ไปเลย อีกทั้งคุณพ่อคุณแม่ของเธอเองก็ไม่ได้สนับสนุน เพราะมองว่าสิ้นเปลือง เนื่องจากชุดคอสเพลย์แต่ละชุดนั้นก็แพง
สาวคอสเพลย์คนนี้เล่าไว้อีกว่า… เริ่มแต่งคอสเพลย์ตอนเรียน ม.4 แต่ด้วยความที่ครอบครัวไม่สนับสนุน และชุดคอสเพลย์แพง ราคาส่วนใหญ่อยู่ที่ชุดละ 2,000-3,000 บาท จึงต้องเก็บเงินซื้อชุดเอง โดยใช้เงินค่าขนมเก็บออมวันละเล็กละน้อยอยู่เกือบ 3 เดือนจึงซื้อชุดแรกได้ และได้แต่งคอสเพลย์ชุดนั้นเข้าประกวดงานคอสเพลย์ที่หาดใหญ่ ซึ่งเป็นเวทีแรกในชีวิต โดยคอสเพลย์ที่ใส่เป็น ตัวการ์ตูนชื่อ “หนูคู” จากเกมปังย่า ปรากฏว่าประกวดครั้งนั้นได้อันดับ 2 ก็เลยยิ่งมีกำลังใจอยากทำต่อ
และจากจุดนี้ก็ทำให้เธอเริ่มเป็นที่รู้จัก
จนมีผู้ติดต่อ “จ้างแต่งคอสเพลย์โชว์”
คอสเพลย์เกิร์ลอย่าง “ทาโกะจัง” เล่าไว้ต่อไปว่า… หลังแต่งคอสเพลย์เข้าประกวดครั้งแรกในเวทีดังกล่าว เธอก็เริ่มเดินสายไปประกวดในงานคอสเพลย์ต่าง ๆ มาเรื่อย ๆ ซึ่งพอประกวดหลาย ๆ เวทีบ่อยครั้งเข้า ชื่อเสียงก็เริ่มเป็นที่รู้จัก และเริ่ม มีงานจ้างให้ไปแต่งตัวโชว์ตามอีเวนท์ต่าง ๆ โดยจำได้ว่า… ตอนนั้นได้เงินค่าจ้างวันละ 400-500 บาท ซึ่งก็ดีใจแล้ว…
“ดีใจที่หาเงินจากสิ่งที่ชอบและรักได้”

สาวคอสเพลย์คนเดิมยังเล่าเพิ่มเติมไว้ว่า… หลังเรียนจบมหาวิทยาลัย เธอก็ได้ทำงานเป็นพนักงานธนาคารแห่งหนึ่ง แต่ทำได้เพียงปีครึ่งก็ตัดสินใจลาออก เพราะไม่มีเวลาแต่งตัวคอสเพลย์ ประกอบกับช่วงที่เริ่มแต่งคอสเพลย์เธอก็เริ่มมีแฟนคลับรู้จัก และมีงานติดต่อเข้ามามากขึ้น ทำให้ตัดสินใจ ลาออกจากอาชีพพนักงานธนาคาร หันมาทำอาชีพคอสเพลย์เต็มตัว โดยนอกจากรับงานแต่งคอสเพลย์ ก็ยังมีงาน รับสตรีมเกม ด้วย เป็นอีกอาชีพที่ทำควบคู่กับการแต่งคอสเพลย์โชว์ตัว
ทั้งนี้ แต่งคอสเพลย์ บางคนอาจมองเป็นเรื่องง่าย ๆ ก็แค่แต่งตัวให้เหมือนตัวการ์ตูน แต่สาวคอสเพลย์ชื่อดังบอกว่า… ไม่เป็นความจริงเลยที่บอกว่าแต่งคอสเพลย์ง่าย เพราะ กว่าจะแต่งได้ ผู้ที่จะแต่งต้องศึกษาและทำการบ้านเต็มที่ ข้อมูลต้องแน่น อีกทั้งเสื้อผ้า หน้าผม และอุปกรณ์ประกอบ ก็ต้องเป๊ะ!! คนที่ดูจึงจะเชื่อว่าเป็นตัวการ์ตูนตัวนั้น ๆ ซึ่งยิ่งแต่งเหมือนกับต้นแบบคนดูก็จะยิ่งชื่นชอบ โดยสมัยก่อนกว่าจะแต่งได้แต่ละครั้งยิ่งไม่ใช่ง่าย ๆ มีทั้งต้องจ้างร้านตัดชุดให้ ไม่ก็ต้องสั่งซื้อนำเข้าจากต่างประเทศ หรือบางทีก็ต้องดัดแปลงเอง เพื่อให้เหมือนตัวการ์ตูนที่จะเลียนแบบให้มากที่สุด …ทาโกะจังเล่าไว้
นอกจากนี้ เธอยังบอกไว้ด้วยว่า… ถ้าแต่งได้เจ๋ง หรือชนะประกวดเวทีใหญ่ ๆ คนคอสเพลย์ก็อาจจะ “โกอินเตอร์”ไปประกวดเวทีคอสเพลย์ระดับโลกได้ โดย เวทีที่ชาวคอสเพลย์ใฝ่ฝันที่สุด ก็หนีไม่พ้นที่ญี่ปุ่น ต้นแบบคอสเพลย์ทั่วโลก
เมื่อถามเพิ่มถึงรูปแบบการทำ “อาชีพคอสเพลย์” ทางคอสเพลย์เกิร์ล “ทาโกะจัง” ก็บอกเล่าไว้ว่า… ลักษณะงานส่วนใหญ่มีตั้งแต่รับงานแสดงคอสเพลย์ตามงานอีเวนต์ งานแสดงสินค้าโดยเฉพาะงานเกี่ยวกับเกมออนไลน์ เกมคอมพิวเตอร์ โดยผู้จ้างต้องการใช้คอสเพลย์ช่วยเรียกลูกค้า กับสร้างสีสันให้งาน ซึ่งเธอบอกด้วยว่า… การแต่งคอสเพลย์มีหลักสำคัญคือต้องเป๊ะ!! และ… “จะว่าไปแล้ว อาชีพคอสเพลย์ก็คล้ายงานพริตตี้เหมือนกัน เพราะคนที่ทำอาชีพคอสเพลย์ก็ต้องดูแลตัวเองให้ดี แต่ที่แตกต่างจากพริตตี้ก็คือ…สาวคอสเพลย์จะแต่งตัวล้ำกว่า!!”…เหล่านี้เป็นมุมอาชีพ “คอสเพลย์”
“คอสเพลย์” นั้น “เป็นมากกว่าแต่งตัว”
มีจังหวะดี ๆ แต่งได้ถึง “เป็นอาชีพได้”
นี่ “คนละพวกกับใส่หน้ากากทำฉาว!!”.
ทีมสกู๊ปเดลินิวส์