ทั้งนี้ วันนี้ ณ ที่นี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลวิชาการที่เกี่ยวกับ “คอสเพลย์” ที่มีการศึกษาวิเคราะห์เรื่องนี้ เพื่อทำความเข้าใจต่อ“ปรากฏการณ์ทางสังคม”เรื่องนี้…
ในฐานะ “อีกหนึ่งวัฒนธรรมสมัยใหม่”
ก็ “น่าสนใจ” ลองมาพินิจพิจารณากัน
สำหรับข้อมูลวิชาการเกี่ยวกับ “คอสเพลย์” ที่จะสะท้อนต่อนี้ เผยแพร่อยู่ใน วารสารการจัดการและพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 (ก.ค.-ธ.ค. 2564) เป็นบทความเรื่อง “เสรีภาพทางการแสดงออก ตัวตน และพื้นที่ทางสังคมของคอสเพลย์เยอร์” จัดทำโดยอาจารย์ และนิสิต ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ประกอบด้วย พิษนุ อภิสมาจารโยธิน, อารยา บำรุงศิลป์, บุญยานุช เมี้ยนเอี่ยม ซึ่งวิจัยเรื่องนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการประกอบสร้างตัวตนของคนชื่นชอบการแต่งคอสเพลย์ หรือ “คอสเพลย์เยอร์ (Cosplayer)” และศึกษาพื้นที่ทางสังคมของกลุ่มคอสเพลย์พื้นที่ จ.พิษณุโลกทั้งนี้ แม้“วัฒนธรรมในการคอสเพลย์”นั้น…
ไม่ใช่ของไทย…แต่ “คนไทยก็เปิดรับ”
ทางทีมศึกษาวิจัยได้เกริ่นถึงความสนใจศึกษาเรื่องนี้ไว้ว่า… เพราะมองว่าสังคมไทยยุคใหม่ไม่ได้มีแค่วัฒนธรรมไทยเพียงวัฒนธรรมเดียว แต่ปัจจุบันสังคมไทยรับวัฒนธรรมอื่นบางส่วนเข้ามาด้วย จนเกิดเป็น ความลื่นไหลทางวัฒนธรรม โดยหนึ่งในความลื่นไหลทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจก็คือ “วัฒนธรรมวัยรุ่น” ซึ่งการที่เป็นวัยที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่วัยผู้ใหญ่ จึงก่อให้เกิดภาวะความรู้สึกแปลกแยกไปพร้อมกับการมีเสรีภาพอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และก็นำไปสู่ “การสร้างวัฒนธรรมเฉพาะที่แตกต่างจากบรรทัดฐานสังคมวัยรุ่นในอดีต” โดยเฉพาะในฐานะ เป็นผู้สร้างและผสมผสานวัฒนธรรม…
มากกว่าจะเป็นเพียงผู้รับวัฒนธรรม

เกี่ยวกับ “วัฒนธรรมสมัยใหม่” รูปแบบนี้ ที่วัยรุ่นไทยยุคใหม่รับมา และนำมาสร้างหรือผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมของตัวเองจนเกิดเป็นรูปแบบเฉพาะขึ้น นั่นคือการแต่ง“คอสเพลย์ (Cosplay)”ที่ไทยมีการรับเข้ามานอกเหนือจากเรื่องของอาหาร สินค้า ภาษา เพลง ทั้งนี้ การแต่งคอสเพลย์ก็เป็นวัฒนธรรมที่ได้รับมาจากญี่ปุ่น ซึ่งคำ ๆ นี้เป็นการผสมคำภาษาอังกฤษระหว่างคำว่า “Costume” กับคำว่า “Play” เมื่อนำมารวมกันก็เกิดคำว่า “Cosplay” ที่หมายถึง การแต่งกายเลียนแบบตัวการ์ตูน เกม ภาพยนตร์ หรือศิลปินซึ่งผู้แต่งคอสเพลย์จะเรียกตัวเองว่า “คอสเพลย์เยอร์ (Cosplayer)”โดยที่…
แพร่หลายมิใช่แค่ที่ไทย…แต่ทั่วโลก
ทั้งนี้ งานศึกษาวิจัยดังกล่าวอธิบายไว้ว่า… การแต่งคอสเพลย์ก็ถูกจัดอยู่ใน กลุ่มวัฒนธรรมชาติ (National Culture) อีกหนึ่งรูปแบบที่มีการสร้างภาพลักษณ์ ค่านิยม พฤติกรรมเฉพาะ ที่แตกต่างจากของคนส่วนใหญ่ โดยการรวมกลุ่มของผู้ชื่นชอบการคอสเพลย์เกิดจากผู้ที่มีความชอบเหมือนกัน เมื่อมาพบกันก็หลอมกลืนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสังคมในที่สุด
“การที่ร่วมกันทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ได้ทำให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ร่วมกันขึ้นอย่างเดียว แต่ยังมีการสร้างตัวตนใหม่ ๆ ของตัวเองขึ้นเพื่อตอบสนองต่อสิ่งที่ไม่สามารถแสดงออกมาได้ในช่วงเวลาปกติ การคอสเพลย์จึงเป็นการสร้างพื้นที่ทางสังคมใหม่ขึ้นมาด้วย”…เป็นมุมวิเคราะห์จากงานวิจัย ที่ฉายภาพ “วัฒนธรรม–พื้นที่–ตัวตนใหม่”
ที่เกิดจาก “การลื่นไหลทางวัฒนธรรม”
ขณะที่ผลสรุปที่พบจากผลการศึกษาวิจัยนี้ก็ได้มีการนำเสนอไว้น่าสนใจ ดังนี้… ในแง่ การประกอบสร้างตัวตนของคอสเพลย์เยอร์ พบว่า… มักมีจุดเริ่มต้นจากความชื่นชอบในการ์ตูนหรืออนิเมะญี่ปุ่นอยู่แล้ว จึงแสดงความชอบผ่านการสร้างตัวตนใหม่ด้วยการแต่งคอสเพลย์ ซึ่งการแต่งคอสเพลย์ยังแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรก เริ่มต้นแต่งด้วยตนเอง และกลุ่มที่สอง ถูกคนรู้จักชักชวนให้แต่ง และนอกจากนั้นผลศึกษายังพบว่า… การเลือกสวมบทบาท หรือคาแรคเตอร์ตัวละครที่จะคอสเพลย์ เปรียบเสมือนการสร้างตัวตนอีกตัวตนหนึ่งขึ้นมาที่มีเป้าหมาย เพื่อตอบสนองความชอบ ตัวละครนั้น กับการ…
“ปลดปล่อยความต้องการบางเรื่อง”
ในแง่ การสร้างพื้นที่ทางสังคมของกลุ่มคอสเพลย์ พบว่า… มีการสร้างพื้นที่ขึ้น ทั้งพื้นที่จริงและพื้นที่โลกออนไลน์ โดยการเกิดขึ้นของพื้นที่ออนไลน์นั้น มีปัจจัยจากพื้นที่จริงมีไม่มากพอต่อความต้องการในการแสดงออกของกลุ่มคนที่ชอบคอสเพลย์ จึงได้มีการหาพื้นที่ใหม่ ๆ ที่สามารถตอบสนองความต้องการในการแสดงออก เช่น เลือกที่จะแต่งอยู่บ้าน แล้วนำภาพหรือคลิปที่ถ่ายไปลงในโซเชียล เพื่อสื่อถึงความต้องการที่อยากแสดงออก …นี่ก็เป็นอีกส่วนที่สะท้อนผ่านงานวิจัยดังกล่าว ที่ฉายภาพ “วัฒนธรรมสมัยใหม่”ที่วัยรุ่นไทยรับเข้ามา อย่าง “วัฒนธรรมคอสเพลย์” อีกรูปแบบ “เสรีภาพการแสดงออก”
ที่ “อยู่ระดับเหมาะสมก็ไม่เป็นพิษภัย”
แถม “บางคนมีอาชีพมีรายได้อีกด้วย”
ก็ “มีกรณีศึกษา…ตอนหน้ามาดูกัน”…
ทีมสกู๊ปเดลินิวส์