คำว่า “เวอร์รูคท์” (Verrückt) ในภาษาเยอรมันหมายถึงบ้า, เสียสติ และทั้งที่มีความหมายในแง่ลบเช่นนี้ ก็ยังถูกนำมาตั้งชื่อเครื่องเล่นสไลเดอร์ของสวนน้ำชลิตเทอร์บาห์นในเมืองแคนซัสซิตี รัฐแคนซัส สหรัฐอเมริกา
ด้วยความสูง 170 ฟุต (51.8 เมตร) สไลเดอร์น้ำนี้จึงเป็นสไลเดอร์น้ำที่สูงที่สุดในโลก ผู้เล่นจะได้ลื่นไถลไปตามรางน้ำที่สูงเกือบ 17 ชั้นที่ทำด้วยแพยางเป่าลมด้วยความเร็วถึง 70 ไมล์ต่อชั่วโมง (112 กม./ชม.)

วันที่ 7 ส.ค. 2559 โศกนาฏกรรมได้มาเครื่องเล่นเจ้าของสถิติโลกแห่งนี้ เยือนสถานที่ท่องเที่ยวที่ทำลายสถิติแห่งนี้ เมื่อเคเล็บ ชวอบ เด็กชายวัย 10 ขวบ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุขณะเล่นสไลเดอร์ แรงเหวี่ยงทำให้แพยางของเขาลอยขึ้นไปกระแทกกับตาข่ายนิรภัยที่ทำจากเหล็ก
ศีรษะของเด็กชายขาดออกจากร่างและเสียชีวิตในทันที
สามปีต่อมา ก็มีเว็บไซต์ “ดิ แอตแลนติก” เผยแพร่คลิปวิดีโอสารคดีความยาว 9 นาทีเกี่ยวกับการเปิดตัวสไลเดอร์ โศกนาฏกรรมสะเทือนขวัญและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น
นาธาน ทรูส์เดลล์ นักสร้างภาพยนตร์คือผู้รับผิดชอบผลิตสารคดีเรื่องนี้ออกมา เขารู้เรื่องราวเลวร้ายที่เกิดขึ้นจากข่าวที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ
เขาบอกกับทีมงานของดิ แอตแลนติกว่า “ความคิดแรกสุดของผมคือ มันเป็นอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด—เป็นเรื่องราวที่เลวร้ายมาก แต่เมื่อผมพิจารณาอย่างใกล้ชิด ผมก็เริ่มตระหนักว่าเรื่องราวนี้ซับซ้อนแค่ไหน และสิ่งนี้อาจเกิดขึ้นกับใครก็ตามที่ลื่นไถลไปตามสไลเดอร์นั้นได้อย่างไร”
เวอร์รูคท์เป็นผลงานสุดรักของ เจฟฟ์ เฮนรี หนึ่งในเจ้าของสวนสนุกชลิตเทอร์บาห์น เขาร่วมมือกับ จอห์น สคูลี นักออกแบบอาวุโสด้วยความหวังว่าจะทำลายสถิติโลกในบันทึกของกินเนสส์เวิลด์ เรคอร์ดส์
พวกเขาเลือกรัฐแคนซัสให้เป็นสถานที่สำหรับสร้างสวนสนุกเนื่องจากกฎระเบียบของรัฐที่ผ่อนปรน สวนสนุกของพวกเขาเปิดให้บริการในปี 2555 หลังจากเกิดความล่าช้าหลายครั้งเพราะมีปัญหาด้านความปลอดภัย
สารคดีเรื่องนี้ใช้ชื่อที่เรียบง่ายว่า “เดอะ วอเตอร์ สไลด์” เนื้อหาสื่อว่าการเสียชีวิตอย่างสุดสะเทือนขวัญของเด็กชายชวอบนั้นมีสาเหตุมาจาก “ความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง กฎระเบียบของรัฐที่หย่อนยาน และผลพวงของความยโสโอหัง”

ทรูส์เดลล์กล่าวว่าการทดสอบและการออกแบบสไลเดอร์นี้ไม่ได้ใช้หลักการของ “วิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมเครื่องเล่น” มากนัก
เขาอธิบายว่า “พวกเขาส่งกระสอบทรายลงมา (ตามรางสไลเดอร์) และแค่หวังงว่า กระสอบทรายจะไม่กระเด็นออกจากสไลเดอร์ ตาข่ายซึ่งท้ายที่สุดแล้วเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กเสียชีวิตนั้น ถูกเพิ่มเข้ามาเพื่อป้องกันไม่ให้แพยางลอยขึ้นและกระเด็นจนพ้นจากสไลเดอร์”
พนักงานอาวุโสของสวนสนุกยังให้สัมภาษณ์ในสารคดีดังกล่าวด้วย และเล่าว่าเขารู้สึก “ช็อก” กับ “การขาดการฝึกอบรม” สำหรับพนักงานที่ควบคุมเครื่องเล่น เธอยังอ้างว่ามี “การตรวจสอบความปลอดภัยที่ไม่เพียงพอ” โดยมีเพียงการส่งคนไปทดลองเล่นสไลเดอร์แค่ครั้งเดียวแล้วก็บอกว่า “ใช้ได้แล้ว” สำหรับวันนั้น
หลังจากเกิดโศกนาฏกรรม สวนน้ำก็ปิดให้บริการเป็นเวลาสามวัน เมื่อมันเปิดให้บริการอีกครั้ง ก็ไม่มีการเปิดให้คนขึ้นไปเล่นที่สไลเดอร์เวอร์รูคท์อีก
เฮนรีและสคูลีถูกตั้งข้อกล่าวหา “ทำร้ายร่างกายผู้อื่นด้วยวิธีการรุนแรง ก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กด้วยวิธีการรุนแรง ขัดขวางการบังคับใช้กฎหมาย และฆ่าคนโดยไม่เจตนา”
ทั้งคู่ถูกกล่าวหาว่าละเลย “ขั้นตอนพื้นฐานในกระบวนการออกแบบ” และอาศัย “วิธีการลองผิดลองถูกแบบหยาบๆ เกือบทั้งหมด” ในเรื่องการทดสอบความปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่ถูกยกฟ้องในเดือนกุมภาพันธ์ 2562
ต่อมา สวนน้ำชลิตเทอร์บาห์นก็ปิดตัวลงในปี 2564 และมีการรื้อถอนสไลเดอร์ที่สูงที่สุดในโลกทิ้งไปในที่สุด
ที่มา : joe.co.uk
เครดิตภาพ : YouTube / The Atlantic