@@@@ เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘ นางสาวอาจารี ศรีรัตนบัลล์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา พร้อมด้วยนาวาอากาศเอก เนาวมรัตน์ ประพัฒน์ทอง ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารและทหารอากาศ นาวาเอก ชานินท์ ศรียาภัย ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือ และพันเอก ธีระชัย ศึกเสือ ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบก ร่วมกันเป็นเจ้าภาพในงานเลี้ยงรับรองเนื่องในโอกาสวันกองทัพไทย ประจำปี ๒๕๖๘ ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา โดยมีพลเรือเอก เดวิด จอห์นสตัน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดออสเตรเลียเข้าร่วมงานในฐานะแขกเกียรติยศ และมีผู้แทนระดับสูงของกองทัพออสเตรเลีย หน่วยงานของกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย เอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ ประจำออสเตรเลีย ผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศ และอื่น ๆ เข้าร่วมงานรวมจำนวนประมาณ ๑๕๐ คน ……………….. ในโอกาสดังกล่าว เอกอัครราชทูตฯ ได้กล่าวถึงบทบาทของกองทัพไทย ซึ่งรวมถึงบทบาทในภารกิจรักษาสันติภาพ โดยเฉพาะในติมอร์เลสเต ซึ่งไทยและออสเตรเลียได้ปฏิบัติการร่วมกัน รวมถึงบทบาทในด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ เน้นย้ำถึงความร่วมมือระหว่างกองทัพไทย-ออสเตรเลีย ที่ปัจจุบันได้ขยายครอบคลุมสาขาใหม่ ๆ อาทิ การแลกเปลี่ยนข่าวกรอง ไซเบอร์ การต่อต้านการก่อการร้าย โลจิสติกส์ และการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ รวมทั้งการฝึกร่วมภายใต้กรอบต่าง ๆ โดยในปีนี้ ไทยจะเข้าร่วมการฝึก Exercise Talisman Sabre ที่ออสเตรเลียเป็นครั้งแรก และการแลกเปลี่ยนบุคลากรระดับสูงระหว่างกัน เป็นต้น …………………… ผู้บัญชาการทหารสูงสุดออสเตรเลียได้กล่าวชื่นชมความความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด และความร่วมมือระหว่างกองทัพไทย-ออสเตรเลีย และแจ้งว่า ตนมีกำหนดเดินทางไปประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมพิธีรำลึกถึง ANZAC Day ด้วย จากนั้น ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารและทหารอากาศได้กล่าวเกี่ยวกับบทบาทของกองทัพ รวมถึงนำเสนอวีดิทัศน์เกี่ยวกับการดำเนินการในช่วงที่ผ่านมาของกองทัพไทย วันกองทัพไทยตรงกับวันที่ ๑๘ มกราคม ของทุกปี เพื่อรำลึกถึงวาระที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถี และยังเป็นโอกาสเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของบูรพกษัตริย์ไทยในการปกป้องรักษาประเทศ ตลอดจนเหล่าบรรพชนและทหารไทยด้วย
งานเลี้ยงรับรองเนื่องในโอกาสวันกองทัพไทย ประจำปี ๒๕๖๘ ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา โดยมีพลเรือเอก เดวิด จอห์นสตัน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดออสเตรเลียเข้าร่วมงานในฐานะแขกเกียรติยศ มีแขกเข้าร่วมงานกว่า ๑๕๐ คน
@@@@ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา แขกกว่า 150 คน ได้เข้าร่วมงานเลี้ยงรับรองสมาคมศิษย์เก่าทหารไทย – ออสเตรเลีย ณ โรงแรมแลนด์มาร์ค กรุงเทพฯ ผู้เข้าร่วมงาน ประกอบด้วย ผู้เข้าร่วมในโครงการความร่วมมือทางด้านกลาโหมจากกองกำลังป้องกันตนเองของออสเตรเลีย (Australian Defence Force: ADF) ซึ่งจัดฝึกอบรมในออสเตรเลียให้แก่เจ้าหน้าที่กว่า 100 ตำแหน่งเป็นประจำทุกปีในหลักสูตรต่าง ๆ รวมทั้งหลักสูตรป.โทที่จัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยพลเรือนของออสเตรเลีย หลักสูตรวิทยาลัยป้องกันประเทศ การฝึกอบรมภาษาอังกฤษ การฝึกอบรมผู้สอน หลักสูตรหน่วยเฉพาะทาง และหลักสูตรการป้องกันตัวทั่วไป ………………. นาวาอากาศเอก ริชชี คันนิ่งแฮม ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารออสเตรเลียประจำประเทศไทย ได้กล่าวว่า “ทั้งไทยและออสเตรเลียได้รับประโยชน์จากการฝึกอบรมทวิภาคี ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการดำเนินการที่อิงกติการะหว่างประเทศ ซึ่งเป็นกฎระเบียบที่นำการพัฒนาที่สำคัญมาสู่โลกตลอดศตวรรษที่ผ่านมา”

งานเลี้ยงรับรองสมาคมศิษย์เก่าทหารไทย – ออสเตรเลีย ณ โรงแรมแลนด์มาร์ค กรุงเทพฯ ผู้เข้าร่วมงาน ประกอบด้วย ผู้เข้าร่วมในโครงการ Australian Defence Force (ADF) ซึ่งจัดฝึกอบรมในออสเตรเลียให้แก่เจ้าหน้าที่กว่า 100 ตำแหน่งเป็นประจำทุกปี
@@@@ การแข่งขันฟุตบอลรายการ Four Nations Tournament 2025 ณ กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย ปิดรายการกันไปแล้ว ผลฟุตบอลหญิงไทย U20 พ่าย ออสเตรเลีย U20 จบรองแชมป์ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 18.30 น. ณ สนามแดกิ้น พาร์ค การแข่งขันฟุตบอลหญิง รายการ Four Nations Tournament 2025 นัดที่สาม หลังจากฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย U20 เก็บชัยชนะเหนือ หมู่เกาะโซโลมอน และ วานูอาตู มาก่อนแล้วทั้งสองทีม ………………. เริ่มเกมมา 10 นาที ออสเตรเลีย มาได้ประตูออกนำ จากจังหวะที่ ซารา ครูเกอร์ ครอสให้ เซียนนา ซาเวสกา แปเข้าไปให้ เจ้าถิ่นนำก่อน 1-0 นาทีที่ 18 แมดดิสัน เจตน์ แคสทีน ลากลุยมาทางฝั่งขวาก่อนหลอกยิงมุมแคบเข้าไปให้ ชบาแก้ว U20 ไล่มาเป็น 1-1 นาทีที่ 27 ออสเตรเลียมาได้จุดโทษ จากจังหวะที่ นภัสวรรณ์ สืบสวน ไปทำแฮนด์บอลก่อนที่ เซียนนา ซาเวสกา สังหารจุดโทษเข้าไปให้ ออสเตรเลีย U20 นำไทยเป็น 2-1 นาที 34 โกลออสเตรเลีย ออกมาชกบอลพลาด เข้าทาง แมดดิสัน เจตน์ แคสทีน ยิงสวนด้วยขวาเข้าไปให้สกอร์กลับมาเท่ากัน 2-2 และจบครึ่งแรกไปด้วยสกอร์นี้ ……………. ครึ่งหลัง นาที 70 เปตา ทริมิส ซัดด้วยขวาทะลุซองของ อาทิมา บุญประกันภัย เข้าไป ทำให้ ออสเตรเลีย นำ 3-2 นาทีที่ 77 ออสเตรเลีย นำห่างเป็น 4-2 จากจังหวะการยิงไกลของ เซียนนา ซาเวสกา ที่กดด้วยซ้ายเสียบสามเหลี่ยมเข้าไป ทดเวลาบาดเจ็บ ออสเตรเลีย มาได้ประตูปิดท้ายจาก เคลีย์ เฮนนิเกอร์ นำห่างเป็น 5-2 จบเกม ฟุตบอลหญิงไทย U20 พ่าย ออสเตรเลีย U20 ไป 2-5 ทำให้ไทย จบรายการ Four Nations 2025 ด้วยการเป็นรองแชมป์ หลังจากนี้ ฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี ได้เดินทางกลับทันที โดยจะถึง ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 16.10 น. และจะมีการเตรียมทีมต่อเนื่องเพื่อเตรียมลุยศึก ฟุตบอลหญิงชิงแชมป์เอเชีย 2026 รุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี รอบคัดเลือก หรือ 2026 AFC U-20 Women’s Asian Cup qualification ต่อไป

การแข่งขันฟุตบอลรายการ Four Nations Tournament 2025 รุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี ณ กรุงแคนเบอร์รา ไทยชนะทีมชาติหมู่เกาะโซโลมอน 8-0 ไทยชนะทีมชาติวานูอาตู 8-0 และไทยแพ้ทีมชาติออสเตรเลีย 5-2 โดยไทยได้รับรางวัลรองชนะเลิศในการแข่งขันครั้งนี้
@@@@ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 นางสาวอาจารี ศรีรัตนบัลล์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติแก่คณะผู้ฝึกสอนและนักฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี (ชบาแก้ว U20) ซึ่งเดินทางเยือนกรุงแคนเบอร์ราระหว่างวันที่ 16-27 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันรายการ Four Nations Tournament 2025 ณ สถานเอกอัครราชทูต โดยมีหัวหน้าสำนักงานทีมประเทศไทย ณ กรุงแคนเบอร์รา และข้าราชการสถานเอกอัครราชทูตฯ เข้าร่วมให้การต้อนรับ
ในโอกาสดังกล่าว เอกอัครราชทูตฯ ได้กล่าวชื่นชมความตั้งใจ ทักษะฝีมือ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานร่วมกันเป็นทีมของนักกีฬาในการแข่งขันทั้ง 3 แมตช์กับทีมจากหมู่เกาะโซโลมอน วานูอาตู และออสเตรเลีย ซึ่งเอกอัครราชทูตฯ หัวหน้าสำนักงานทีมประเทศไทย ณ กรุงแคนเบอร์รา ข้าราชการและครอบครัว ตลอดจนชุมชนคนไทยในกรุงแคนเบอร์ราได้ร่วมชมและให้กำลังใจทีมไทยระหว่างการแข่งขันด้วย ………………… นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานเอกอัครราชทูตฯ ซึ่งมีเขตอาณาครอบคลุมออสเตรเลีย และประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกอีก 5 ประเทศ ได้แก่ ฟีจี วานูอาตู หมู่เกาะโซโลมอน ปาปัวนิวกินี ตองกา รวมทั้งเป็นจุดติดต่อสำหรับ คิริบาส และ นาอูรู โดยกีฬาเป็นสาขาหนึ่งที่มีศักยภาพในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันได้โดยเฉพาะในระดับประชาชนกับประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับการที่ออสเตรเลียต้องการส่งเสริมฟุตบอลในเอเชีย โดยเฉพาะฟุตบอลหญิง รวมทั้งได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการของสมาคมฟุตบอลออสเตรเลียเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของนักฟุตบอลหญิง และส่งเสริมความเท่าเทียมชาย-หญิงในกีฬาประเภทต่าง ๆ อาทิ การมุ่งเพิ่มจำนวนนักฟุตบอลหญิง การปรับปรุงสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักฟุตบอลหญิง การกำหนดอัตราส่วนหญิง-ชายของผู้บริหารสมาคม การแก้ไขปัญหาความแตกต่างของค่าตอบแทน รวมถึงการมุ่งสนับสนุนทีมฟุตบอลหญิง (Matildas) เนื่องจากความสำเร็จของทีมจะช่วยให้เยาวชนหญิงออสเตรเลียหันมาสนใจกีฬาฟุตบอลมากยิ่งขึ้น สำหรับผลการแข่งขันฟุตบอลรายการ Four Nations Tournament 2025 ไทยชนะทีมชาติหมู่เกาะโซโลมอน 8-0 ไทยชนะทีมชาติวานูอาตู 8-0 และไทยแพ้ทีมชาติออสเตรเลีย รุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี (CommBank Young Matildas) 5-2 โดยไทยได้รับรางวัลรองชนะเลิศในการแข่งขันครั้งนี้

เอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติแก่คณะผู้ฝึกสอนและนักฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี (ชบาแก้ว U20) ซึ่งเดินทางเยือนกรุงแคนเบอร์รา เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันรายการ Four Nations Tournament 2025
@@@@ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ จัดงานเสวนาหัวข้อ “Queer Cinema and Popular Culture from Thailand” ในโอกาสที่ภาพยนตร์ไทยเรื่อง “วิมานหนาม” ได้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์ Mardi Gras Film Festival ครั้งที่ 32 โดยนางหัทยา คูสกุล กงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ กล่าวเปิดงาน โดยงานครั้งนี้ได้รับเกียรติจากอาจารย์ Thomas Baudinette อาจารย์อาวุโสด้านวัฒนธรรมนานาชาติ จาก Macquarie University นางสาว Xueyin Wu นักศึกษาปริญญาเอกจาก School of International Studies, Macquarie University และนางสาว Rujeela Archarya แฟนคลับชาวออสเตรเลียที่ติดตามสื่อบันเทิงไทย มาร่วมเป็นวิทยากรในการเสวนาครั้งนี้ ……………….. ในระหว่างการเสวนา อาจารย์ Thomas กล่าวถึงพัฒนาการของอุตสาหกรรมซีรีส์และภาพยนตร์ BL (Boy’s Love) และ GL (Girl’s Love) ของไทย ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมในแต่ละยุคสมัย จนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหลายประเทศ รวมถึงออสเตรเลีย ส่งผลให้เกิดกระแสความสนใจในวัฒนธรรมไทยและการบริโภคสื่อบันเทิงจากประเทศไทยในระดับนานาชาติ …………………… นางสาว Xueyin นำเสนอการศึกษาวิจัยระดับปริญญาเอกของตน ภายใต้หัวข้อ “How does fan’s engagement with Thai BL coupling fandom shape Chinese people’s perception of gender and sexuality” ซึ่งวิเคราะห์บทบาทของ coupling fandom ในหมู่แฟนคลับชาวจีน และอิทธิพลของสื่อบันเทิงไทยที่มีต่อทัศนคติเกี่ยวกับเพศและอัตลักษณ์ทางเพศในสังคมจีน นอกจากนี้ เธอยังได้กล่าวถึงภาพลักษณ์ของตัวละคร LGBTQ+ ในซีรีส์และภาพยนตร์ไทย ตลอดจนปัจจัยที่ส่งเสริมให้สื่อประเภท BL และ GL ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในประเทศจีน …………………. นางสาว Rujeela แบ่งปันประสบการณ์ในฐานะแฟนคลับชาวออสเตรเลียที่ติดตามและสนับสนุนอุตสาหกรรมบันเทิงไทย โดยกล่าวถึงความเชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรมไทยและกลุ่มผู้ชมต่างชาติ ตลอดจนบทบาทของซีรีส์และภาพยนตร์ไทยในการส่งเสริมความเข้าใจและยอมรับในความหลากหลายทางเพศ ผู้เข้าร่วมงานซึ่งรวมถึงนักวิชาการ ผู้สนใจในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และแฟนคลับสื่อบันเทิงไทย แลกเปลี่ยนมุมมองและข้อคิดเห็นอย่างกว้างขวาง โดยงานเสวนาครั้งนี้ไม่เพียงแต่เปิดโอกาสให้มีการพูดคุยเกี่ยวกับอุตสาหกรรมบันเทิงไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นเวทีสำคัญในการส่งเสริมความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่ม LGBTQ+ ในระดับสากลอีกด้วย

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ จัดงานเสวนาหัวข้อ “Queer Cinema and Popular Culture from Thailand” ในโอกาสที่ภาพยนตร์ไทยเรื่อง “วิมานหนาม” ได้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์ Mardi Gras Film Festival ครั้งที่ 32 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568
@@@@ Working and Holiday Visa Thailand – Australia 2025 1 ปี มีแค่ครั้งเดียว! ทำงาน-เรียน-เที่ยว นาน 1 ปี รับสมัครตั้งแต่วันที่ 7-14 มีนาคม 2568 วีซ่า Work and Holiday คืออะไร? Work and Holiday Visa (Subclass 462) หรือที่มักเรียกกันว่า WAH แต่ในบางครั้งของ ไทย – ออสเตรเลีย จะเรียกว่า WHV หากเป็นของ ไทย – นิวซีแลนด์ จะเรียกว่า Working Holiday Scheme (WHS) โดยวีซ่า Work and Holiday มีจุดประสงค์หลัก ๆ คือ เพื่อให้เยาวชนได้ใช้เวลา 12 เดือนในการเรียนรู้วัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ของประเทศออสเตรเลีย ในขณะเดียวกันก็สามารถทำงานได้ด้วย. อย่างไรก็ตาม ผู้สมัครสามารถทำงานกับนายจ้างแต่ละแห่งได้นานสุดไม่เกิน 6 เดือน ถ้าทำงานถึง 6 เดือนแล้วจะต้องเปลี่ยนที่ทำงานใหม่. นอกจากนี้ผู้สมัครจะต้องมีหลักฐานว่ามีเงินเพียงพอ กรณีไม่มีงานทำก็ยังสามารถใช้ชีวิตอยู่ในออสเตรเลียได้โดยไม่ลำบากอะไร สรุปส่วนสำคัญของวีซ่า WAH มีดังนี้.. สามารถอยู่ในออสเตรเลียได้สูงสุด 1 ปี (12 เดือน) สามารถเดินทางเข้า-ออกประเทศออสเตรเลียได้ตลอดระยะเวลาของวีซ่า ทำงานได้สูงสุด 6 เดือน ต่อ 1 นายจ้าง (ฉนั้นถ้าจะทำงานทั้งปี ก็ต้องอย่างน้อย 2 แห่ง) เรียนได้สูงสุด 4 เดือน ……………. การรับสมัคร: ในไทยนั้นทางกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) จะเป็นผู้เปิดรับสมัครทางออนไลน์ เพื่อคัดเลือกและออกหนังสือรับรองคุณสมบัติสำหรับผู้เข้าร่วมโครงการ WAH หลังจากนั้นจึงนำเอกสารตัวนี้ ไปใช้ในการแนบประกอบกับเอกสารอื่น ๆ เพื่อขอวีซ่ากับทางสถานทูตฯ ต่อไป กรมกิจการเด็กและเยาวชน ประกาศรับสมัครเยาวชนเข้าร่วมโครงการตรวจลงตราทำงานและท่องเที่ยวไทย – ออสเตรเลีย ประจำปี 2568 (Work and Holiday Visa Thailand – Australia 2025) จำนวน 2,000 คน เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 ระบบการรับสมัครเข้าร่วมโครงการ : http://dcywah.dcy.go.th/opp/app/register.php คุณสมบัติ 1. มีสัญชาติไทย 2. อายุระหว่าง 18 – 30 ปี (อายุไม่เกิน 31 ปีบริบูรณ์ ณ วันที่ยื่นขอวีซ่ากับสถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย) 3. สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไป 4. มีหลักฐานแสดงทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ 5. ต้องเดินทางคนเดียว (ไม่มีผู้ติดตาม) 6. แสดงหลักฐานทางการเงินจากธนาคารพาณิชย์ เป็นชื่อบัญชีของผู้สมัคร ประเภทออมทรัพย์ระบุจำนวนเงินแปลงมูลค่าเป็นดอลล่าร์ออสเตรเลีย ต้องไม่น้อยกว่า 5,000 ดอลล่าร์ออสเตรเลีย (AUS) หรือ 120,000 บาท 7. มีความประพฤติและสุขภาพดี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กลุ่มการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ หมายเลขโทรศัพท์ (โปรดติดต่อในวันและเวลาราชการ) 02 253 9115 Instagram : https://instagram.com/inter.dcy.official?igshid=MzRlODBiNWFlZA== Email : [email protected]
@@@@ เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘ นางสาวอาจารี ศรีรัตนบัลล์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา พร้อมด้วยคณะผู้แทนจากโครงการสนับสนุนสตาร์ทอัพ (accelerators) ของสถาบันการศึกษาและหน่วยงานในประเทศไทย นำโดย รศ.ดร. ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล รักษาการรองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ได้เยือนมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ โดยมีนาย Brett Lovegrove ผู้ช่วยอธิการบดี ให้การต้อนรับคณะ …………………. ในโอกาสนี้ คณะได้หารือความร่วมมือกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ และได้เข้าร่วมการหารือโต๊ะกลมกับคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยฯ เพื่อแสวงหาโอกาสในการดำเนินความร่วมมือเกี่ยวกับการวิจัยในสาขาต่าง ๆ รวมถึงเทคโนโลยีด้านการเกษตร อาหาร และการแพทย์ นอกจากนี้ คณะยังได้เยี่ยมชมอาคารวิทยาศาสตร์ที่ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยฯ ได้แก่ Plant Futures Facility ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยพืชศาสตร์แห่งใหม่ และ Australian Institute for Bioengineering and Nanotechnology ซึ่งเป็นสถาบันชั้นนำที่บูรณาการการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพและนาโนเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยให้ความสำคัญกับการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์

เอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา พร้อมด้วยคณะผู้แทนจากโครงการสนับสนุนสตาร์ทอัพ (accelerators) ของสถาบันการศึกษาและหน่วยงานในประเทศไทย นำโดย รศ.ดร. ชาลีดา บรมพิชัยชาติ ได้เยือนมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘
@@@@ สิ้นสุดการรอคอย! ทุนเต็มจำนวน Australia Awards ภายใต้การสนับสนุนจากความร่วมมือประเทศลุ่มน้ำโขง – ออสเตรเลีย (Mekong-Australia Partnership, MAP) เปิดรับสมัครแล้ว เปิดรับใบสมัครถึงวันที่ 30 เมษายนนี้ ถ้าคุณมีประสบการณ์การทำงาน มีสัญชาติไทย และอยากสร้างความเปลี่ยนแปลงในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โอกาสที่จะได้ไปศึกษาต่อในประเทศออเสเตรเลียมาถึงแล้ว คุณจะได้รับการฝึกฝนทักษะและได้เข้าร่วมเครือข่ายผู้นำกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับคุณสมบัติและวิธีการสมัคร สามารถเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมทางเว็บไซต์ได้ที่ https://www.dfat.gov.au/people-to-people/australia-awards/mekong-australia-partnership
@@@@ เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘ นางสาวอาจารี ศรีรัตนบัลล์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา พร้อมด้วยนางเจียรนัย รัตนวราหะ กงสุลกิตติมศักดิ์ ณ นครบริสเบน ได้เข้าร่วมงาน Breakfast with Honourable Fiona Simpson MP ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้านสตรีและความมั่นคงด้านเศรษฐกิจของสตรี รัฐมนตรีด้านหุ้นส่วนชนพื้นเมือง และรัฐมนตรีด้านความหลายหลายทางวัฒนธรรมของรัฐบาลรัฐควีนส์แลนด์ จัดโดย Ethnic Communities Council of Queensland (ECCQ) ที่รัฐสภารัฐควีนส์แลนด์ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างเครือข่ายและเป็นโอกาสรับฟังแนวทางการส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรมของรัฐควีนสแลนด์ โดยมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วยสมาชิกรัฐสภาของรัฐ สมาชิก ECCQ ผู้แทนคณะกงสุลในนครบริสเบน และผู้สนใจจากภาคส่วนต่าง ๆ

เอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา ได้เข้าร่วมงาน Breakfast with Honourable Fiona Simpson MP ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้านสตรีและความมั่นคงด้านเศรษฐกิจของสตรี จัดโดย Ethnic Communities Council of Queensland (ECCQ) ที่รัฐสภารัฐควีนส์แลนด์
ไตรภพ ซิดนีย์