รถยนต์รุ่น “ฮินดูสถาน แอมบาสซาเดอร์” ซึ่งออกจากสายการผลิตครั้งแรกเมื่อช่วงทศวรรษที่ 1950 ด้วยดีไซน์ที่แทบไม่เปลี่ยนแปลงในช่วงหลายสิบปีหลังจากนั้น เคยครองถนนที่เป็นหลุมบ่อของอินเดีย แต่ในทุกวันนี้ รถแท็กซี่ดังกล่าวพบเห็นได้น้อยมากนอกเมืองโกลกาตา ซึ่งมันเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของกลุ่มรถแท็กซี่ และเป็นสัญลักษณ์ที่จดจำได้ง่ายของเมือง
อย่างไรก็ตาม จำนวนรถแท็กซี่สีเหลืองกำลังลดลงอย่างรวดเร็ว และคำตัดสินของศาลทำให้รถแท็กซี่เหลืออยู่ ต้องยุติการให้บริการบนท้องถนนโดยสิ้นเชิง ในอีก 3 ปีข้างหน้า
ตามตัวเลขจากสมาคมรถแท็กซี่เบงกอล อินเดียมีรถแท็กซี่แอมบาสซาเดอร์ที่ยังให้บริการเพียง 2,500 คัน เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งลดลงจาก 7,000 คันในปีก่อนหน้า ขณะที่นายสเนฮาซิส จักรวรตี รมว.คมนาคมของรัฐเบงกอลตะวันตก กล่าวว่า ปีนี้จะมีรถแท็กซี่ถูกปลดระวางอีก 1,000 คัน และรถแท็กซี่จะเหลือจะหายไป ภายในสิ้นปี 2570
รถยนต์รุ่นฮินดูสถาน แอมบาสซาเดอร์ ของบริษัท ฮินดูสถาน มอเตอร์ส ถือเป็นเสาหลักของอุตสาหกรรมยานยนต์ของอินเดียมานานหลายสิบปี นับตั้งแต่การเปิดตัวเมื่อปี 2500 ที่โรงงานแห่งหนึ่งในเขตชานเมือง ทางตอนเหนือของเมืองโกลกาตา
กระนั้น การปฏิรูปตลาดตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา ส่งผลให้รถยนต์รุ่นนี้ต้องออกจากถนนในอินเดีย เพราะรถยนต์รุ่นใหม่กว่า และทำให้การผลิตหยุดชะงักอย่างสิ้นเชิงในปี 2557 หลังความต้องการลดลงอย่างต่อเนื่องนานหลายปี
ปัจจุบัน เมืองโกลกาตา ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของฮินดูสถาน มอเตอร์ส เป็นสถานที่แห่งสุดท้ายที่สามารถพบเห็นรถแท็กซี่แอมบาสซาเดอร์จำนวนมาก นับเป็นเครื่องเตือนใจถึงสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงเมืองนี้กับอดีตของอินเดีย
แม้เมืองโกลกาตาเคยมีชื่อเสียงในด้านการเที่ยวกลางคืนที่คึกคัก แต่ความสำคัญของเมืองกลับลดลงอย่างมาก นับตั้งแต่ยุครุ่งเรืองในตอนนั้น โดยเริ่มจากการย้ายเมืองหลวงของอินเดียไปยังกรุงนิวเดลี เมื่อปี 2454 และในเวลาต่อมา เมืองมุมไบก็กลายเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญที่สุของประเทศ
นอกจากนี้ ประชากรศาสตร์ที่เปลี่ยนไปอย่างมากของเมืองโกลกาตา ยังทำให้ชาวอินเดียบางคนกล่าวว่า กรุงนิวเดลีเป็นสถานที่แสวงหาอำนาจ และเมืองมุมไบเป็นสถานที่ไล่ตามความร่ำรวย ส่วนเมืองโกลกาตา เป็นสถานที่สำหรับการไปเยี่ยมพ่อแม่
ชาวอินเดียหลายคนกล่าวว่า พวกเขาอยู่ภายใต้แรงกดดันที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย และเข้าใจว่ารถยนต์รุ่นใหม่จะเข้ามาแทนที่รถยนต์รุ่นเก่า แต่ถึงอย่างนั้น พวกเขาก็รู้สึก “ใจสลาย” ที่เมืองโกลกาตาต้องสูญเสียเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งไป.
เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : AFP