สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ที่ถือเป็นหนึ่งในหน่วยงานมันสมองหลักของประเทศ ได้ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจจริงในปี 2567 ที่ผ่านมา เติบโตได้เพียง 2.5% แม้เป็นการเติบโตต่อเนื่องจากปี 2566 ที่ขยายตัวได้ 2% ก็ตาม แต่!! ก็เชื่อได้ว่าตัวเลขที่ประกาศออกมาครั้งนี้อาจสะกิดใจใครหลายคน แม้กระทั่งรัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร” ด้วยเพราะเป็นการเติบโตที่ต่ำกว่าศักยภาพ เติบโตต่ำกว่าที่แอบหวังไว้ หรือแม้แต่สภาพัฒน์เองยังตั้งเป้าแบบระมัดระวังไว้ที่ 2.6% ก็ยังหลุดเป้าหมาย

ที่สำคัญยังเป็นอัตราเติบโตที่ต่ำกว่า 3% มานานถึง 6 ปีแล้ว นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์โควิด-19 ในปี 62 ที่เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เพียง 2.1% ซึ่งขยายตัวลดลงจากปี 61 ที่เติบโตได้ 4.2% ขณะที่ในปี 63 เศรษฐกิจไทยหดตัวโดยติดลบไปถึง 6.2% ทีเดียว จากผลกระทบโควิด ต่อมาในปี 64 ขยายตัวได้ 1.5%  ในปี 65 ยังเติบโตต่อเนื่องที่ 2.5% ส่วนปี 66 เติบโตน้อยลง โดยขยายตัวเพียง 2% ก่อนขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 2.5% ในปี 67

จีดีพีไปไม่ถึงฝัน

แม้รัฐบาลได้พยายามขับเคลื่อนในหลายมาตรการ เพื่อขยับเขยื้อนอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้น แม้จะเพียงน้อยนิดให้ได้ถึง 3% ก็ถือว่าเป็นเรื่องดีไม่น้อยแล้ว โดยบรรดาทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลเองก็ออกแรงทั้งผลักทั้งดันเพื่อให้เศรษฐกิจในปีที่แล้วเดินหน้าไปถึงฝั่งฝันที่เคยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 3% แม้จะรู้อยู่เต็มอกว่าเป็น “เป้าโหน” ด้วยปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามากดดันสารพัด สุดท้าย!! ความหวังก็ไปไม่ถึงความฝัน เพราะทั้งกำลังซื้อภายในประเทศที่ยังไม่สามารถผงกขึ้นมาได้จากการก้าวข้ามไม่พ้นการเป็น “หนี้” และที่หนักหนาก็มาจากภาคอุตสาหกรรมที่ครองสัดส่วนในจีดีพีสูง กลับขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดโดยขยายตัวได้เพียง 0.2% เท่านั้น รวมไปถึงการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวถึง 2.1% 

ขณะเดียวกันยัง “ช้ำ” เพิ่มขึ้นมากไปอีก หลังสภาพัฒน์คาดการณ์ว่าในปี 68 นี้ แม้เศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่อง แต่ก็ยังขยายตัวไม่ได้ตามที่รัฐบาลต้องการ โดยจะขยายตัวได้เพียง 2.8% เท่านั้น แถมยังเป็นตัวเลขที่คำนวณรวมมาตรการใหญ่ของรัฐบาลอย่างมาตรการแจกเงินหมื่นบาทไปแล้วด้วยต่างหาก ทั้งที่รัฐบาลหมายมั่นปั้นมือว่าอย่างน้อย ๆ การแจกเงินหมื่นบาท จะช่วยบูสต์เศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างน้อยที่ 3% และเมื่อรวมไปกับมาตรการอื่น ๆ ที่ได้ดำเนินการออกมาแล้ว และที่กำลังจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ก็ช่วยผลักดันทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ที่ 3.5%

โตต่ำสุดในอาเซียน

แต่ที่อาจทำให้รัฐบาล ’รู้สึก“ มากกว่าใคร ก็หนีไม่พ้นการที่เศรษฐกิจไทยโตต่ำที่สุดในประเทศอาเซียน ดูอย่างเวียดนาม กลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขยายตัวสูงสุดในอาเซียนที่ 7.1% ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ 5.6% มาเลเซีย 5.1% อินโดนีเซีย 5% สิงคโปร์ 4% และไทยที่ 2.5%

จนถึงเวลานี้ การผลักดันให้เศรษฐกิจในปี 68 นี้ เติบโตได้ต่อเนื่อง ก็ถือเป็นเรื่องที่ “หืดจับ” ไม่น้อย ด้วยเพราะนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา รวมไปถึงการสร้างข้อจำกัดด้วยการขึ้นภาษี ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกปั่นป่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดานักเศรษฐศาสตร์ กูรูต่างคาดการณ์กันว่าผล
กระทบหนักจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ 

กูรู-นักวิชาการแนะ

ด้วยเหตุใหญ่ใจความเช่นนี้ “ทีมเศรษฐกิจ เดลินิวส์” จึงรวบรวมความคิดเห็นพร้อมข้อเสนอแนะจากบรรดากูรูทั้งนักวิชาการ ทั้งภาคเอกชน เพื่อสะท้อนรายละเอียดต่อสาธารณชน ภาครัฐ และรัฐบาล เพื่อเตรียมตัวรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น

ตั้งตารอมาตรการรัฐ

พงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด มองว่า การคาดการณ์เศรษฐกิจปี 68 ของสภาพัฒน์ ที่ 2.8% ถือว่าเป็นค่ากลางที่พิจารณาจากพื้นฐานโดยรวมและสถานการณ์ต่าง ๆ ถึงความน่าจะเป็นของเศรษฐกิจในปีนี้ แต่ทางด้านของรัฐบาลที่ต้องการให้มีอัตราการเติบโตสูงถึง 3.5% นั้นในส่วนนี้มองว่ารัฐบาลคงมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอะไรออกมาเพื่อให้สามารถขยายตัวได้เพิ่มขึ้น 0.5-1% เพราะว่าตัวเลขนี้ไม่ใช่น้อย ดังนั้นจึงต้องรอดูว่ารัฐบาลมีมาตรการอะไรออกมา

ที่ผ่านมาการให้เงินแก่กลุ่มเปราะบางหรือผู้สูงอายุคนละ 10,000 บาท เป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม แต่ในภาพรวมยังมองไม่เห็นความชัดเจน หากมองไปถึงเศรษฐกิจของโลกก็จะมีผลต่อไทยเช่นเดียวกันโดยเฉพาะเรื่องของนโยบายทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาทั้งในเรื่องของภาษี สงครามการค้าต่าง ๆ แม้ว่าประเทศไทยไม่ได้รับผลกระทบมากมายหรือเป็นเป้าหมายโดยตรง แต่หากยังใช้นโยบายในแบบของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ทำให้สหรัฐมีเศรษฐกิจที่ขยายตัวขึ้นก็จะส่งผลดีโดยรวมทั้งหมด

ในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ปีนี้มองว่ายังไม่มีสัญญาณอะไรชัดเจน ที่ทำให้เติบโตเพิ่มมากขึ้น หรือเติบโตอย่างหวือหวา หากจะเติบโตก็มีขยับได้ขึ้นเล็กน้อย ส่วนปัจจัยลบที่ยังส่งผล
ต่อยอดขายรถยนต์นั้นก็ยังเป็นหนี้เสีย ที่ทำให้การปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่ยังมีความเข้มงวด เนื่องจากเป็นมาตรการที่ป้องกันความเสี่ยง โดยเฉพาะหนี้เสียที่อาจเพิ่มสูงขึ้นได้อีก

ส่วนที่จะขอให้รัฐได้ออกมาตรการอะไรมาเพื่อกระตุ้นนั้น คงต้องรอดู หากทำแรงไปผลกระทบในอนาคตก็จะรุนแรงเช่นเดียวกับโครงการรถคันแรก ที่ได้ทำไปก่อนหน้านี้ ดังนั้นหากจะช่วย ก็ให้ประคับประคอง และกระตุ้นความต้องการที่แท้จริง เช่น บริษัทที่ซื้อรถเพื่อไปประกอบธุรกิจก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ เป็นต้น เชื่อว่าจะเห็นผลตอบรับในทิศทางที่ดี แต่ไม่ได้คาดหวังว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทย ต้องเติบโตได้มากกว่าปีที่ผ่านมาอัตราเฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ที่ 550,000-600,000 คัน

ยากไม่ต่างจากปีก่อน

ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น ระบุว่า เศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ปีนี้อยู่ในสถานการณ์ที่ยากไม่ต่างจากปีก่อน จาก 3 เรื่องที่เป็นอุปสรรค คือ หนี้ครัวเรือนสูง อุปทานล้น โดยเฉพาะกลุ่มบ้าน
เดี่ยวทุกระดับราคา และความเชื่อมั่นต่ำ เพราะสถาบันการเงินปล่อยกู้ยาก ประชาชนมีความระมัดระวังในการจะซื้อ ขณะที่ความผันผวนทางภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มเข้ามาอีก โดยเฉพาะตลาดแนวราบ ซึ่งอาจต้องใช้เวลา 2-3 ปี กว่าจะกลับไปในช่วงที่ขายได้ปกติ ขณะเดียวกันก็มีความผันผวนจากนโยบายของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งมีทั้งโอกาสและอุปสรรคที่ต้องติดตาม ดังนั้นบริษัทจึงได้มีการปรับตัวอย่างมาก มีธุรกิจที่หลากหลาย เพื่อกระจายความเสี่ยง

ทั้งนี้ การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมทบทวนผ่อนคลายมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย (แอลทีวี) สำหรับการซื้อบ้านสัญญาที่ 2-3 นั้น เห็นด้วยอย่างยิ่ง และสนับสนุนอย่างมาก ซึ่งหาก ธปท. มีการผ่อนคลายมาตรการแอลทีวีก็จะช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างมาก เพราะวันนี้เห็นแล้วว่าความเข้มงวดของแอลทีวีมีเพื่อป้องกันการเก็งกำไร แต่วันนี้การเก็งกำไรได้หมดไปจากตลาดแล้ว โดยพฤติกรรมของลูกค้าที่มีบ้านหลังที่ 1 แล้ว ที่มีความต้องการหลังที่ 2 หลังที่ 3 เพิ่มนั้น อาจจะเป็นการซื้อให้ลูก หรือเพื่อความสะดวกสบายในการเดินทางไปทำงาน

นอกจากนี้อยากให้มีหลายมาตรการเกิดขึ้น แต่มี 3 เรื่องที่สำคัญสุด คือ ต้องมีการกระตุ้นกำลังซื้อ ด้วยการลดค่าธรรมเนียมโอน ค่าจดจำนอง รวมถึงการให้สิทธิบุคคลธรรมดานำค่าก่อสร้างบ้านลดหย่อนภาษี ซึ่งในปี 2567 ที่ผ่านมา กำหนดเพดานของบ้านราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท ซึ่งในปี 2568 ควรมีการกระตุ้นอย่างมาก และไม่ควรจำกัดราคาที่ 7 ล้านบาท ต้องเปิดให้ทุกระดับราคา  รวมทั้งควรสนับสนุนเรื่องของการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินซึ่งจะทำให้ประชาชนมีโอกาสกู้ได้มากขึ้น และดึงดูดชาวต่างชาติให้เข้ามาอยู่ในประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่เป็นการกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยตรง แต่เป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย 

ณัฐพงศ์ ยังบอกไว้ด้วยว่า ขณะนี้ต้องยอมรับว่าปัจจุบันประเทศไทยต้องการเงินจากต่างประเทศเข้ามา และการที่นักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา ก็จำเป็นต้องมีที่อยู่และที่ทำงาน อสังหาริมทรัพย์เป็นเพียงหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เงินทุนจากต่างประเทศเข้ามา โดยตัวเลขที่เหมาะสมในการให้สิทธิประโยชน์กับต่างชาตินั้นต้องมากกว่า 30 ปีขึ้นไป

ส.อ.ท.ชี้วิธีหลุดพ้น

อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (...) ระบุว่า  เศรษฐกิจประเทศไทยขยายตัวต่ำมากแค่ 1-2% มาหลายปีแล้ว  เราแทบไม่ได้ฟื้นตัวมากนักตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด–19 เติบโตต่ำสุดเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยติดแต่กับดักเดิม ๆ ขาดการปรับตัว ขาดความกล้าหาญในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก ทั้งที่ประเทศไทยมีศักยภาพเศรษฐกิจสามารถโตกว่านี้ได้อีกมาก  

ทั้งนี้สิ่งที่ภาคเอกชนอยากเสนอให้ภาครัฐมีนโยบายในการผลักดันเศรษฐกิจ ให้ขยายตัวตามศักยภาพที่ควรจะเป็น เริ่มจากการบริโภค ควรหามาตรการลดภาระหนี้ ค่าครองชีพ ของประชาชน และเอกชน ด้วยนโยบายดอกเบี้ยที่เหมาะสม การเข้าถึงแหล่งทุนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อีกทั้งลดการผูกขาด ส่งเสริมตลาดแข่งขันเสรีในประเทศ  ของทุกสินค้า และการบริการย้ำต้องเลิกประชานิยม

สิ่งสำคัญไม่ควรแก้ปัญหา ด้วยการผลักภาระให้เอกชน เช่น นโยบายประชานิยม ด้วยนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ ที่ควรให้เป็นกลไก ตามกรรมการไตรภาคี ที่ปราศจากการแทรกแซง ควรเร่งนโยบายการเพิ่มรายได้ตามทักษะฝีมือแรงงาน ด้วยการเร่งอัปสกิล รีสกิลที่จะสร้างความยั่งยืนทั้งระบบ รวมทั้งการส่งเสริมการบริโภค สินค้า หรือบริการของผลิตในประเทศไทย เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในประเทศ แทนการมุ่งซื้อสินค้าหรือบริการที่ถูก จากการนำเข้า ที่จะทำลายผู้ผลิตในประเทศในที่สุด”

ส่วนการลงทุน ควรเน้นส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม หรือบริการที่เป็นจุดแข็งของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ตามหลักบีซีจี และมุ่งส่งออกผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงแทนการส่งสินค้าเกษตรขั้นต้น ซึ่งมีมูลค่าต่ำกว่า รวมทั้งเร่งการส่งเสริม การลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากจุดแข็งของเรา เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อทดแทนส่วนที่หายไปจากยานยนต์สันดาป โดยผลักดันนโยบายการเปลี่ยนแปลง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เช่น  เครื่องจักรกลเกษตร อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เป็นต้น ที่สำคัญ ต้องผลักดันให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี ให้คนไทย ไม่ใช่มาใช้ไทยแค่การสวมสิทธิ แปลงสัญชาติ เพื่อการส่งออกเท่านั้น

เน้นโครงสร้างพื้นฐาน

นอกจากนี้การใช้จ่ายของภาครัฐ ควรเน้นลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ตอบโจทย์ อุตสาหกรรมต้นน้ำเช่น ระบบน้ำ ให้ภาคเกษตร และรองรับอุตสาหกรรมบีซีจี ที่สำคัญเน้นส่งเสริมสินค้าผลิตในประเทศไทยมากกว่าสินค้านำเข้า และการใช้งบประมาณภาครัฐต้องมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันต้องเพิ่มการส่งออก ลดการนำเข้า  ควรหาตลาดใหม่ ๆ รวมทั้งการเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เราควรส่งเสริมการส่งออกด้วยมาตรการค่าเงินบาทที่อ่อน  เทียบกับคู่แข่ง ซึ่งเป็นข้อดีกับการท่องเที่ยวด้วย รวมทั้งลดอุปสรรค เช่น ขั้นตอน และค่าใช้จ่ายในการส่งออก ที่สำคัญควรลดการนำเข้าสินค้าที่สามารถผลิตในประเทศ รวมทั้งการลักลอบนำเข้าและการใช้ประโยชน์ในเขตปลอดอากรฟรีโซน ที่ทำลายอุตสาหกรรมในประเทศ และควรเร่งการผลิตของในประเทศแทนการนำเข้า เช่น ส่งเสริมเชื้อเพลิงสะอาดจากภาคเกษตรให้แข่งขันได้

3 ปัจจัยชี้ชะตา

ธนวรรธน์ พลวิชัย” อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า ตัวเลขจีดีพีไทยปี 67 ที่สภาพัฒน์ประกาศถือว่าผิดคาดเล็กน้อย โดยเติบโตเพียง 2.5% น้อยกว่าที่หลายฝ่ายมองไว้ที่ 2.6-2.7% โดยเฉพาะไตรมาสสุดท้ายของปีโตเพียง 3.2% น้อยกว่าที่คาดไว้ 3.5-4% สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ช้า สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจปี 68 สศช.คาดการณ์เติบโตไว้ที่ 2.8% มีกรอบระหว่าง 2.3-3.3% ซึ่งมองว่ามีโอกาสเป็นไปได้ เพราะสำนักวิจัยต่าง ๆ ก็มองในลักษณะนั้น แต่จะเติบโตได้เกิน 3% หรือไม่นั้น ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก ๆ ที่รัฐบาลต้องออกแรงเต็มที่  

อย่างไรก็ตาม ค่ากลางของ สศช. ที่ 2.8% นั้นยังเป็นไปได้ ภายใต้ 3 ปัจจัย คือ ปัจจัยแรก ภาวะเศรษฐกิจโลกต้องไม่มีสงครามการค้ารุนแรงเกินรับไหว โดยเฉพาะกรณีของสหรัฐที่ยังคงใช้มาตรการทางการค้าระดับสินค้า เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม และ
ยานยนต์ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระดับ 10% และไม่มีการตอบโต้เพิ่มเติม แต่ต้องจับตาว่าหลังเดือน เม.ย. 68 สหรัฐจะมีมาตรการเพิ่มเติมหรือไม่ หากไม่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจไทยมีโอกาสเติบโตในระดับ 3% ปัจจัยที่สอง สถานการณ์สงครามต้องคลี่คลายลง โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงในตะวันออกกลางเริ่มลดความตึงเครียด ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงและไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้เศรษฐกิจโลกสามารถใช้น้ำมันมากขึ้น ส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย 

ปัจจัยสุดท้าย เสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ ซึ่งขณะนี้ยังมีความเสี่ยง โดยเฉพาะหากมีการยุบสภาอาจส่งผลให้งบประมาณปี 69 ไม่สามารถใช้ได้ตามกำหนด ซึ่งอาจทำให้กระบวนการใช้งบประมาณล่าช้าไปอย่างน้อย 3 เดือน กระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม หากการเมืองมีเสถียรภาพไม่มีการยุบสภา เศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสเติบโตถึง 3% ได้ แต่หากเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่ำกว่าคาดก็มีสูงมาก

ทั้งหมด!! เป็นเพียงความเห็นจากบรรดา “กูรู” เท่านั้น ซึ่งก็เชื่อว่าหลายแนวทางก็อยู่ในไปป์ไลน์ที่รัฐบาลจะดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งก็ต้องมารอดูกันต่อไปว่า รัฐบาล “พ่อเลี้ยง” จะสามารถผ่านพ้นความท้าทายเหล่านี้ไปได้เพียงใด!!.