เรียนคุณหมอ ดร.โอ สุขุมวิท 51 ที่นับถือ
ผมเป็นชายสูงวัยชอบติดตามการตอบปัญหาของคุณหมอ ดร.โอ เป็นอย่างมาก ได้ประโยชน์เยอะมาก ตอนนี้มีปัญหาของตัวเองเกี่ยวกับสมรรถภาพทางเพศที่ทำให้กลุ้มใจมานานพอสมควร ปัจจุบันอายุ 72 ปี มีโรคประจำตัวคือเบาหวานเป็นมา 10 กว่าปีแล้ว ในระหว่างนั้นก็มีอาการแข็งตัวขององคชาตไม่ค่อยเต็มที่ สอดใส่ไม่ได้ จึงต้องใช้ยาเฉพาะกิจช่วยในเรื่องการแข็งตัว หลังจากนั้นไม่นานก็เริ่มมีอาการไม่หลั่งน้ำอสุจิออกมา และก็พบว่ากินยาแล้วไม่เกิดการแข็งตัวเป็นบางครั้ง
ที่แย่ไปกว่านั้นคือเมื่อปลายปีที่แล้วตรวจพบว่าเป็นต่อมลูกหมากโตอีกหมอได้ทำการส่องกล้องขูดต่อมลูกหมากออกบางส่วน ซึ่งอาการปัสสาวะก็ดีขึ้น หลังจากขูดต่อมลูกหมากโตออกแล้วอวัยวะเพศไม่แข็งตัวเลย ใช้ยาเฉพาะกิจแล้วก็ไม่ยอมสู้เลยเหมือนที่เรียกกันว่านกเขาไม่ขัน ยิ่งกลุ้มใจมากทั้งเรื่องต่อมลูกหมากโต (กลัวว่าจะกลับมาเป็นได้อีกซึ่งเวลาเป็นนั้นจะทรมานมากเวลาปวดปัสสาวะ) และอาการนกเขาไม่ขันทำให้ชีวิตคู่ของผมไม่มีความสุขเลย เพราะผมและภรรยาวัย 42 ปี ยังมีความต้องการทางเพศด้วยกันทั้งคู่ จะแก้ไขด้วยวีธีใดได้บ้าง
ด้วยความนับถืออย่างสูง
ไชยา
ตอบ ไชยา
จากทฤษฎีเกี่ยวกับเรื่องเพศของมาสเตอร์และจอนห์สัน ในระยะที่ 1 (excitement phase) เป็นระยะที่มีการคั่งของเลือดในส่วนของระบบสืบพันธุ์เพศชาย ทำให้เกิดการแข็งตัวขององคชาต ซึ่งสารเคมีที่มีความสำคัญในการแข็งตัวคือสารไนตริกออกไซด์ จะถูกหลั่งออกมาเมื่อมีการกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ ทำให้กล้ามเนื้อเรียบเกิดคลายตัวทำให้เลือดไหลเวียนไปยังบริเวณอวัยวะเพศเกิดการขยายตัวของอวัยวะเพศ ส่งผลให้อวัยวะเพศชายขยายใหญ่และยาวขึ้น ซึ่งการพองตัวของอวัยวะเพศจะไปกดหลอดเลือดดำ ทำให้เลือดไหลออกจากอวัยวะเพศได้น้อยมาก จึงเกิดการคั่งของเลือดภายในอวัยวะเพศ เกิดการแข็งตัว สารไนตริกออกไซด์ (Nitric Oxide) จะผลิตโดยเซลล์ที่บุผิวชั้นในของเส้น เลือด (endothelium) เมื่อเซลล์ที่บุชั้นในของเส้นเลือดถูกทำลายก็ทำให้มีสารไนตริกออกไซด์ (Nitric Oxide) ลดน้อยลง ทำให้เลือดไหลเข้าองคชาตน้อย การแข็งตัวขององคชาตไม่เต็มที่ ซึ่งพบได้ในโรคเบาหวาน
สำหรับการไม่หลั่งน้ำอสุจิออกมาข้างนอกนั้นในผู้ที่เป็นเบาหวานจะพบว่าจำนวน 1-2% มักจะมีปัญหาน้ำอสุจิย้อนกลับเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะเมื่อมีความสุขสุดยอด เพราะระบบประสาทอัตโนมัติซึ่งควบคุมที่บริเวณคอของกระเพาะปัสสาวะทำงาน บกพร่องไปสังเกตได้จากหลังร่วมเพศแล้วปัสสาวะจะออกมามีลักษณะขาวขุ่น การไม่หลั่งนี้อาจทำให้ผู้ชายหลายคนมีความสุขทางเพศลดลง การผ่าตัดต่อมลูกหมากโตด้วยการส่องกล้องขูดต่อมลูกหมากบางส่วนออก ถือเป็นการผ่าตัดที่ค่อนข้างปลอดภัย โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนต่ำ ซึ่งอวัยวะเพศไม่แข็งตัวหลังการผ่าตัดต่อมลูกหมากพบได้ 3-30% ซึ่งเกิดจากการบาดเจ็บของเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงองคชาต หลังผ่าตัดต่อมลูกหมากโตแล้วต่อมลูกหมากสามารถกลับมาโตได้อีก ซึ่งมักเกิดหลังผ่าตัดไปแล้ว 5 ปี การฟื้นฟูอาการอีดีในผู้ที่เป็นเบาหวานเรื้อรัง และได้รับการผ่าตัดต่อมลูกหมากโตต้องอาศัยช่วยทั้งยากินและยาฉีดเพื่อขยายหลอดเลือดในองคชาต กล้ามเนื้อเพศก็สำคัญที่จะต้องฟื้นฟูคู่กันเพราะในผู้ที่เป็นเบาหวานเลือดจะไปเลี้ยงกล้ามเนื้อเพศลดลงสังเกตจากสีที่หัวองคชาตจะมีสีขาวซีด การรักษาครบวงจรจะช่วยให้การแข็งตัวฟื้นตัวดังเดิมได้เร็วขึ้น การพบแพทย์จึงเป็นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด.