งานวิจัยดังกล่าวนี้เผยแพร่อยู่ใน วารสารสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ฉบับเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2564โดยในตอนที่แล้วได้สะท้อนไว้ถึง “พัฒนาการรูปแบบ”

นอกจากรูปแบบบริการ 5 ประเภท

ก็ยัง “มีรายละเอียดอื่นที่น่าสนใจ” อีก

รวมถึง “ข้อเสนอแนะจากผู้ศึกษาวิจัย”

ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวนี้ได้ฉายภาพ “กระบวนการรับงาน” ของ “สาวเอนเตอร์เทน” ไว้ว่า… มีหลายช่องทาง เช่น 1.ถูกเชิญเข้ากลุ่มงาน โดยเพื่อนหรือคนรู้จักที่ทำงานนี้อยู่ก่อน, 2.โมเดลลิ่งชักชวน โดย “เด็กเอนฯ” ที่เข้ามาผ่านช่องทางนี้จะได้บอร์ดงานจากโมเดลลิ่ง ที่มีรายละเอียดวัน เวลา สถานที่นัด คุณสมบัติที่ลูกค้าต้องการ, 3.สมัครด้วยตัวเองกับโมเดลลิ่งด้วยการส่งคอมการ์ดที่มีรายละเอียดส่วนตัว รูปร่าง หน้าตา สัดส่วน และอายุ ไปให้ด้วยตัวเอง, 4.โมเดลลิ่งส่งคอมการ์ดไปให้ลูกค้าพิจารณา เมื่อลูกค้าเลือกแล้ว โมเดลลิ่งจะประสานกับ “สาวเอนฯ” เพื่อชี้แจงรายละเอียดต่าง ๆ ในการรับงานต่อไป

ขณะที่ “ปัจจัยตัดสินใจ” เข้าสู่ “อาชีพสาวเอนเตอร์เทน” นั้น ทางผู้วิจัยได้เผยผลการศึกษาที่พบไว้ว่า… สาวเอนเตอร์เทนส่วนใหญ่เข้ามาทำอาชีพนี้จากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้… 1.ถูกคนรู้จักชักจูง โดยสังคมเพื่อนมีอิทธิพลสูงมากในการชักนำสู่เส้นทางนี้, 2.ฐานะทางเศรษฐกิจค่านิยม ความจำเป็นทางการเงินก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้หลายคนเลือกมาทำงานนี้ เพื่อหารายได้เสริมแบ่งเบาภาระครอบครัว แต่ก็มีไม่น้อยที่เลือกทำงานนี้จากการมีค่านิยมและรสนิยมสูง ต้องการได้เงินเยอะ ได้เงินเร็ว มองว่าหาเงินได้ง่ายกว่าการทำอาชีพอื่น, 3.ครอบครัวสนับสนุน โดยครอบครัวยอมรับให้ทำอาชีพนี้เพราะเข้าใจในเหตุผล

ปัจจัยครอบครัว” นี่ “ก็น่าคิด??”

ส่วน “คุณสมบัติ” ของการเป็น “เด็กเอนฯสาวเอนฯ” หัวข้อนี้ผลศึกษาวิจัยพบว่า… สาวเอนเตอร์เทนเป็นอีกอาชีพที่ ผู้ที่ทำก็ต้องมีทักษะความเชี่ยวชาญ ไม่ต่างจากอาชีพอื่น โดยพบลักษณะเด่น ๆ ดังต่อไปนี้คือ… 1.ต้องมีความสามารถในการเอนเตอร์เทนลูกค้า เช่น คุยสนุก คุยเก่ง ดูแลเอาใจใส่ลูกค้า, 2.ต้องรู้วิธีและมีเทคนิคเอนเตอร์เทน โดยอาจจะเกิดจากมีคนสอนงานก่อน หรืออาศัยเรียนรู้ด้วยตัวเองจากประสบการณ์ที่เคยได้พบเจอลูกค้าหลาย ๆ กลุ่ม, 3.ต้องมีความโดดเด่นเฉพาะตัวเพื่อดึงดูดลูกค้า ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับอาชีพนี้ ในการนำเสนอตัวเองของสาวเอนเตอร์เทนกับลูกค้า

4.หมั่นเสริมแรงดึงดูดให้ตัวเอง เพื่อดึงดูดความสนใจลูกค้า เช่น รูปลักษณ์ภายนอก รูปร่าง หน้าตา เพราะเป็นสิ่งแรกที่ลูกค้าใช้เป็นเกณฑ์เลือกจ้างไปทำงาน, 5.รู้จักวิธีหลีกเลี่ยงการปะทะ เช่น เลือกที่จะใช้คำพูดที่ดีแทน หรืออาจทำแค่หน้าที่ชงเหล้าไม่เข้าไปยุ่งกับเรื่องส่วนตัวของลูกค้ามากเกินไป, 6.มีกลวิธีสร้างความประทับใจให้ลูกค้า เช่น ทักษะทางด้านการพูด ทักษะการรับฟัง เพื่อให้ลูกค้าเกิดความประทับใจ, 7.รู้เทคนิคที่ทำให้ลูกค้าจดจำเพื่อทำให้ลูกค้ากลายเป็นขาประจำเพื่อเรียกใช้บริการซ้ำ ๆ, 8.รู้วิธีโน้มน้าวใจ ด้วยการสังเกต เก็บข้อมูล เพื่อนำมาใช้วางตัวให้เหมาะกับกลุ่มลูกค้าแต่ละช่วงวัย

9.ต้องกำหนดเวลาการทำงานหรือรับงาน โดยส่วนใหญ่จะใช้เกณฑ์ 2 แบบ คือ งานเอนเตอร์เทนในร้านเหล้าต้องทำงานอย่างน้อย 5-6 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นการรับอีเวนท์หรืองานนอกนั้นขั้นต่ำคือ 3 ชั่วโมง, 10.ต้องมีกลยุทธ์มัดใจลูกค้า เช่น บางคนเก่งในการใช้ประโยคคำพูด ออดอ้อน พูดจาให้น่าฟัง แต่บางคนก็ใช้การดูแลเอาใจลูกค้าแทนการพูด, 11.มีมนุษยสัมพันธ์สูง เป็นคุณสมบัติที่คู่กันกับอาชีพสาวเอนเตอร์เทน เพราะมีความจำเป็นอย่างมากกับการทำงานอาชีพนี้ เช่น ต้องรักงานบริการ เข้ากับคนง่าย เพราะงานนี้คืองานที่ต้องสร้างความสนุกให้ลูกค้า แม้บางครั้งเจอเหตุการณ์ไม่ค่อยดี แต่ก็ต้องยิ้ม

เหล่านี้เป็น “ทักษะคุณสมบัติ” ที่พบ…

กับ “อาชีพสาวเอนเตอร์เทนเด็กเอ็นฯ”

ทั้งนี้ ในช่วงท้ายข้อมูลงานวิจัยนี้ ผู้วิจัยยังได้สะท้อน “ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย” เกี่ยวกับอาชีพนี้ไว้ กล่าวคือ… ควรมีกฎหมายที่จริงจังเกี่ยวกับ “อาชีพสาวเอนเตอร์เทน”เนื่องจากอาชีพนี้ก็ถือเป็นอาชีพอิสระอาชีพหนึ่ง จึง ควรได้รับการคุ้มครองดูแลจากกฎหมาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียม และ ควรมีการกำหนดด้านการบริการ รวมถึงอายุ ที่ชัดเจนสำหรับผู้ที่จะเข้ามาทำงานในสายนี้…นี่เป็นการเสนอแนะที่ระบุไว้ในงานวิจัยชิ้นนี้

พร้อมทั้งมีการระบุไว้ด้วยว่า… เมื่อกล่าวถึง “สาวเอนเตอร์เทน”คนทั่วไปจะนึกถึงผู้หญิงที่ประกอบอาชีพอิสระที่มีรายได้สูง คอยให้บริการสร้างความบันเทิง และบำบัดความต้องการทางใจให้กับลูกค้า ซึ่งถึงแม้จะมีมากว่า 10 ปีแล้ว แต่สังคมก็มักจะสร้างนิยามแบบเหมารวมว่า…สาวเอนเตอร์เทนนั้นขายบริการทางเพศ?? อีกทั้งยังคงมีทัศนคติและปฏิกิริยาเชิงลบต่อผู้หญิงที่ทำอาชีพนี้ จนทำให้ไม่เกิดการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ทางด้านสังคม ที่จะทำให้ทราบ “อีกด้านอีกมุม” ของ “สังคม”

ที่ “กระตุ้นให้เกิดปรากฏการณ์อาชีพ”

การ “เพิ่มขึ้นลดลง” ของ “เด็กเอนฯ”

สังคม-เศรษฐกิจ” ก็ “น่าจะมีส่วน??”.

ทีมสกู๊ปเดลินิวส์