“หนี้เสีย” เป็นปัญหาสำคัญภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน ทำให้มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีบางส่วนได้รับผลกระทบดังกล่าว จนไม่สามารถทำธุรกิจต่อไป หรือมีปัญหาการชำระหนี้ ซึ่งสำหรับแนวทางเพื่อการปรับตัวได้อย่างเหมาะสมนั้น วันนี้คอลัมน์นี้ก็มีคำแนะนำในเรื่องนี้มาให้พิจารณากัน โดยเป็นข้อมูลที่ทางฝ่ายพัฒนาและสนับสนุนผู้ประกอบการของ SME D Bank มีการจัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่สำหรับให้ผู้ประกอบการนำไปใช้เป็นแนวทางในการวางแผนเรื่องนี้
สำหรับคำแนะนำที่ทาง SME D Bank ให้ไว้นั้นอยู่ในหนังสือคู่มือ “สูตรสำเร็จการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับเอสเอ็มอี” โดยผู้ประกอบการที่สนใจสามารถดาวน์โหลดในรูปแบบ E-book ได้ที่เว็บไซต์ของทางธนาคารฯ โดยเนื้อหาที่คอลัมน์นี้หยิบยกมาสะท้อนต่อนั้น เป็นหัวข้อ “รู้ทันสัญญาณเตือนก่อนการปรับโครงสร้างหนี้ของผู้ประกอบการ SME” ที่มีหลักโดยสังเขปดังนี้ คือผู้ประกอบการ ส่วนใหญ่มักจะเผชิญกับ 2 สถานการณ์หลัก คือ การขยายธุรกิจ และการที่ธุรกิจสะดุด ดังนั้นการวิเคราะห์ถึง “สัญญาณเตือนล่วงหน้า” ของปัญหาที่อาจจะจะเกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้สามารถแก้ไขได้ทันเวลา เพราะหากไขไม่ทันธุรกิจอาจจะประสบปัญหาได้ โดยสัญญาณสำคัญ 3 ประการที่ผู้ประกอบการควรเฝ้าระวังมี ดังนี้ 1.รายได้น้อยกว่ารายจ่าย 2.ขาดสภาพคล่องทางการเงิน 3.การชำระหนี้เริ่มล่าช้า
ส่วน “ปัจจัยเพื่อเฝ้าระวัง” เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการตรวจสอบและประเมินสถานการณ์ของกิจการได้อย่างรวดเร็วนั้น แบ่งเป็นสัญญาณเตือน 2 ด้าน ได้แก่ ปัจจัยภายในกิจการ เช่น การบริหารจัดการภายในซึ่งเกิดจากปัญหาต่าง ๆ อาทิ ความขัดแย้งระหว่างผู้บริหาร หรือจากการขาดระบบการวางแผนที่ดี, การลดลงของช่องว่างทางการตลาด อาทิ การพึงพาช่องทางการขายที่จำกัดทำให้ธุรกิจมีความเสี่ยงสูง, การใช้เงินไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ อาทิ นำเงินกู้หมุนเวียนมาลงในสินทรัพย์ถาวร หรือใช้เงินลงทุนผิดประเภท ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย ขณะที่ ปัจจัยภายนอกกิจการ ได้แก่ เรื่องของภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ, คู่แข่งขัน, การเปลี่ยนแปลงเงินไขการค้า

ทั้งนี้ เมื่อพบปัญหาเหล่านี้ สิ่งที่ควรเร่งหาสาเหตุแก้ไขทันทีโดยเฉพาะด้านการเงินนั้น ในคู่มือก็ได้แนะนำว่า 1.ควรเริ่มจากการเข้าไปเจรจากับสถาบันการเงิน เพื่อปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการชำระหนี้ เพราะทุกสถาบันการเงินยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือ 2.ควรรีบหาสาเหตุและปรับเปลี่ยนแนวทางทันที โดยเฉพาะปัญหาภายในกิจการเพื่อให้ธุรกิจกลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว หรือหากต้องการคำปรึกษาก็ขอรับความช่วยเหลือจาก SME D Bank ได้ เพราะมีทีมงานและเครื่องมือที่จะช่วยให้คำปรึกษา…นี่เป็นข้อมูลโดยสังเขปเรื่องนี้ ที่เอสเอ็มอีทุก ๆ สาขาพิจารณาใช้เป็นแนวทางได้.

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์  [email protected]
ขอขอบคุณข้อมูล : SME D Bank