กรณีแรกนั้นมีข่าวทางยุโรปแบนเพราะมีส่วนผสมเกินเกณฑ์กำหนด? กรณีหลังมีข่าวจีนตีกลับเพราะพบการปนเปื้อน? ซึ่ง 2 กรณีมีข่าวเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน โดย คนไทยไม่น้อยก็รู้สึกกังวล และก็ มีการตั้งข้อสังเกต ว่า…

ทั้ง 2 กรณีมีคำว่า Yellow”อยู่ด้วย??

ทั้งนี้ กรณี Sunset Yellow หรือ “Sunset Yellow FCF” และBasic Yellow หรือ “Basic Yellow 2” หรือ “C.I. Basic Yellow 2” นี่ก็ทำให้คนไทยตื่นตัวเกี่ยวกับ “ความปลอดภัยอาหาร” เพิ่มขึ้น โดยหลายคนก็มี “ปุจฉา” ว่า…“ต่างชาติไม่เอา…แล้วในไทยล่ะ?” รวมถึง“เจ้า Yellow ทั้ง 2 กรณีนี้คืออะไร?-มายังไง?”ซึ่งวันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์ก็มีคำอธิบายโดย ผศ.ดร.อรุษา เชาวนลิขิต และ ผศ.ดร.พิสุทธิ หนักแน่น นักวิชาการ คณะเทคโนโลยีและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์การเกษตร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ซึ่งนักวิชาการ มศว ทั้ง 2 ท่านได้มีการ “ถอดรหัส” และ “วิสัชนา” มาดังต่อไปนี้…

ผศ.ดร.อรุษา เชาวนลิขิต / ผศ.ดร.พิสุทธิ หนักแน่น

เริ่มที่… “ซันเซตเยลโลว์” คืออะไร? อย่างไร? ข้อมูลคำอธิบายมีว่า… ซันเซตเยลโลว์ – Sunset Yellow FCF เป็น สีผสมอาหารประเภทสีสังเคราะห์ลักษณะเป็นผงสีเหลืองส้ม หรือน้ำตาลอมเหลือง เมื่อผสมในของเหลว สีจะกลายเป็นสีส้มสดใส และมีคุณสมบัติที่สามารถละลายในน้ำได้ดี จึง มีการใช้ในหลากหลายผลิตภัณฑ์ เช่น เครื่องดื่ม ขนมหวาน ไอศกรีม เยลลี่ รวมถึงชาไทย ด้วย เพื่อที่จะเพิ่มความน่าสนใจ-ดึงดูดใจ และ ตอบโจทย์ทางอุตสาหกรรม เนื่องจากสามารถควบคุมคุณภาพให้สีสม่ำเสมอได้ทุกครั้งที่ผลิต …นี่เป็นคำอธิบายโดยสังเขป กับ “วัตถุประสงค์การใช้” ซันเซตเยลโลว์

อย่างไรก็ตาม การใช้สีผสมอาหารนี้ หรือชนิดอื่น ๆ ก็มีกฎเกณฑ์ ซึ่งในไทยก็จะต้องเป็นไปตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 444 .. 2566 ซึ่งเป็นฉบับใหม่ล่าสุด ที่มีการกำหนดไว้เกี่ยวกับ วัตถุเจือปนทางอาหาร (Food Additives) ที่สามารถใช้ได้ ซึ่งปกติ “สีผสมอาหาร” หรือวัตถุเจือปนทางอาหารก่อนจะประกาศอนุญาตให้ใช้ได้ก็จะต้องผ่านกระบวนการที่มีการควบคุมและตรวจสอบเข้มงวด เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ภายใต้หลักเกณฑ์ต่าง ๆ…

กล่าวคือ… ความปลอดภัย” โดยเฉพาะการที่ต้องไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แม้ใช้ในปริมาณมากหรือใช้ต่อเนื่องในระยะยาวก็ตาม, การประเมินทางวิทยาศาสตร์” เช่น การศึกษาผลกระทบทางพิษวิทยาและชีวเคมี การทดสอบเกี่ยวกับการเป็นสารก่อมะเร็ง การระคายเคือง การแพ้, “ประโยชน์ด้านการผลิตและเก็บรักษา” โดยต้องมีเหตุผลทางเทคนิคและประโยชน์ในการใช้งานที่ชัดเจน, การควบคุมและกำหนดปริมาณ” เช่น ชนิดของวัตถุที่อนุญาต และปริมาณที่สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย, ความโปร่งใสในการประกาศบนฉลาก” เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถทราบถึงสารต่าง ๆ ที่ใช้ในผลิตภัณฑ์นั้น ๆ

การตรวจสอบและติดตาม” เพื่อให้แน่ใจว่าวัตถุเจือปนที่ได้รับอนุญาตยังมีความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคในระยะยาว, ข้อกำหนดทางกฎหมายและข้อบังคับ” ในแต่ละประเทศ, การพิจารณาความเสี่ยง” ที่เกิดจากการใช้ อาทิ ผลกระทบจากการบริโภคปริมาณสูงในระยะยาว ผลกระทบในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้มีโรคประจำตัว เป็นต้น

ตัวอย่างเช่น ปริมาณสีซันเซตเยลโลว์ในเครื่องดื่มที่มีนมเป็นส่วนประกอบหลัก จะอนุญาตให้ใช้เท่ากับ 70 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม หรือหากเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่งกลิ่นรส จะใช้ได้เท่ากับ 100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม”…ทาง ผศ.ดร.อรุษา ยกตัวอย่างกรณีนี้ กรณี “ซันเซตเยลโลว์” หรือ “Sunset Yellow FCF” ที่เมื่อเร็ว ๆ นี้มีข่าวยึดโยง “ชาไทย”

ถัดมา… อีกYellow” ที่เกิดกระแสไล่เลี่ยกัน คือ “เบสิกเยลโลว์” ซึ่งมีข่าวทางการจีนสั่งห้ามนำเข้า-ตีกลับทุเรียนจากประเทศไทย เมื่อมีการตรวจพบสีหรือสารชนิดนี้ปนเปื้อนในผลทุเรียนที่ส่งออกจากไทย เยลโลว์นี้คืออะไร? อย่างไร? ข้อมูลคำอธิบายมีว่า… เบสิกเยลโลว์ – Basic Yellow 2หรือ C.I. Basic Yellow 2 เป็น สีสังเคราะห์ที่มีโครงสร้างเคมีเป็นสาร Basic Dye เป็นสารเคมีที่ นิยมใช้ย้อมสีสิ่งทอ และผลิตภัณฑ์พลาสติกสีเหลืองและสีส้มสดใส มีการใช้ทั้งในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม แต่ในปัจจุบัน หลายประเทศห้ามใช้สารนี้ในอาหารเพราะมีข้อสงสัยด้านความปลอดภัย

กรณีการปนเปื้อนของ “เบสิกเยลโลว์” ใน “ทุเรียนไทย” ที่มีข่าวอื้ออึงเมื่อเร็ว ๆ นี้นั้น ทาง ผศ.ดร.อรุษา นักวิชาการ คณะเทคโนโลยีและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์การเกษตร มศว มีมุมมองว่า… การปนเปื้อนที่เกิดขึ้นน่าจะเกิดจากการที่ผู้ขาย ต้องการให้ทุเรียนมีสีสดใสดึงดูดใจผู้ซื้อ? หรือไม่ก็ใช้เพื่อปกปิดสีคล้ำความเสียหายของทุเรียน? เนื่องจากผู้ซื้อไม่ชอบทุเรียนที่มีสีคล้ำ ที่ดูไม่น่ากิน ก็อาจมีการนำสารดังกล่าวนี้มาใช้ เพราะ ต้นทุนต่ำง่ายต่อการผลิต มากกว่าการใช้สารสีสังเคราะห์บางประเภท หรือสีธรรมชาติ เหมือนในอดีตที่เคยใช้ “สีเหลืองขมิ้น” นำมาย้อมเปลือกทุเรียน เพื่อให้ทุเรียนดูน่าซื้อ

ทั้งนี้ เหล่านี้เป็นข้อมูลโดยสังเขปเกี่ยวกับ “สารสี” ที่เกิดกระแสอื้ออึง ทั้ง “Sunset Yellow FCF” กับ“Basic Yellow 2”ที่ทาง ผศ.ดร.อรุษา เชาวนลิขิต และ ผศ.ดร.พิสุทธิ หนักแน่น นักวิชาการ มศว ได้ “ถอดรหัส” และให้ข้อมูลผ่านมาทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ส่วนประเด็น “ผลต่อสุขภาพ” ที่ก็เป็น“ข้อกังวลของคนไทย”ด้วย ก็มีการถอดรหัส-ให้ข้อมูลเช่นกัน

แต่ตอนนี้แจกแจงได้เฉพาะข้อมูลจำเพาะ

เรื่อง “ความปลอดภัยผู้บริโภค” นั้น

ก็ยิ่งน่าสนใจ” ตอนหน้ามาดูกัน…

ทีมสกู๊ปเดลินิวส์