การทูตแพนด้า หรือ Panda diplomacy เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2484 เป็นวิธีอย่างหนึ่งทางการทูตที่ประเทศจีนใช้เชื่อมความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ หรือแสดงออกถึงความใกล้ชิดทางการเมือง ภายหลังพบว่า ประชากรแพนด้ายักษ์ในประเทศจีนลดลง ทำให้ปี 2527 เป็นต้นมา จีนเปลี่ยนแนวทางเป็นการส่งแพนด้ายักษ์ไปอยู่ในประเทศต่าง ๆ ในลักษณะสัญญาเช่าเพื่อการอนุรักษ์แทน (Leased) โดยต้องเสียค่าธรรมเนียมค่าลูกแพนด้าเพิ่มเติมในแต่ละปีด้วย โดยจำนวนเงินที่จ่ายขึ้นอยู่กับการเจรจาของแต่ละประเทศ ปัจจุบันแพนด้ายักษ์ของจีนอยู่ประจำสวนสัตว์ 22 แห่งใน 18 ประเทศทั่วโลก หนึ่งในนั้นคือสวนสัตว์เชียงใหม่ ประเทศไทย

ที่มาของการทูตแพนด้าในไทย

ย้อนกลับไปในปี 2544 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น คือผู้เริ่มต้นเจรจาขอแพนด้าจากจีนมาอยู่ไทย เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งสัมพันธไมตรีระหว่างสองประเทศ

จากนั้นในเดือนตุลาคม 2546 แพนด้ายักษ์ 2 ตัว ช่วงช่วงและหลินฮุ่ย จึงได้มาอยู่ไทยในเดือนตุลาคม 2546 โดยสวนสัตว์เชียงใหม่เป็นผู้ดูแลแพนด้าทั้งสองตัว ต่อมาหลินฮุ่ยคลอดลูกแพนด้ายักษ์เพศเมียชื่อ หลินปิง ในเดือนพฤษภาคม 2552 ซึ่งเป็นผลสำเร็จจากการผสมพันธุ์เทียม

สัญญาเช่าแพนด้า

เมื่อมาดูสัญญาให้แพนด้าช่วงช่วงและหลินฮุ่ยอยู่ไทยในช่วงสิบปีแรก ระหว่างเดือนตุลาคม 2546 ถึง ตุลาคม 2556 พบว่า ไทยส่งเงินสนับสนุนเข้าโครงการอนุรักษ์แพนด้า สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือ CWCA ปีละ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นระยะเวลา 10 ปี

เมื่อหลินปิงเกิดในปี 2552 ไทยส่งเงินเพิ่มเติมอีกปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ ไปอีกสี่ปี จนกระทั่งหลินปิงกลับไปหาคู่ที่จีน จากมติ ครม. เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2558 เห็นชอบให้ไทยต่อสัญญารอบที่สอง ระหว่างเดือนตุลาคม 2556 ถึง ตุลาคม 2566 โดยไทยเพิ่มเงินสนับสนุนโครงการอนุรักษ์แพนด้าของ CWCA เป็นสองเท่าสำหรับช่วงช่วงและหลินฮุ่ย คือ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่หลังจากช่วงช่วงตายในปี 2562 ไทยลดเงินสนับสนุนลง เหลือเพียงปีละ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐไปจนถึงเดือนตุลาคม 2566 ซึ่งเป็นช่วงสิ้นสุดสัญญาระยะที่สอง

นอกจากนี้ ในข้อตกลงที่ผ่านมติ ครม. เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2558 ยังระบุเพิ่มเติมว่ากรณีที่แพนด้าตายในประเทศไทยด้วยเหตุประมาทของฝ่ายไทย ไทยต้องจ่ายค่าชดเชยตัวละ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ถ้าเป็นลูกหมีแพนด้าอายุเกิน 12 เดือน ไทยต้องจ่ายค่าชดเชยตัวละ 1,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ

ถ้าหากมีการขนย้ายแพนด้ากลับประเทศจีน ฝ่ายไทยต้องจัดทำประกันภัยการขนย้าย 1,000,000 ดอลลาร์สหรัฐสำหรับแพนด้าแต่ละตัว รวมทั้งลูกแพนด้าที่มีอายุเกิน 12 เดือน ฝ่ายจีนเป็นผู้รับผลประโยชน์สำหรับการประกันภัย

ทำความรู้จัก “แพนด้ายักษ์ อังกฤษ : giant panda; ชื่อวิทยาศาสตร์: Ailuropoda melanoleuca)” หรือที่นิยมเรียกว่า แพนด้า หรือ หมีแพนด้า (panda) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์หมี (Ursidae) ถิ่นอาศัยอยู่ในประเทศจีน ลักษณะเฉพาะของแพนด้ายักษ์คือมีขนสีดำรอบดวงตา, ใบหู, บ่า, และขาทั้งสี่ข้าง ส่วนอื่นประกอบด้วยขนสีขาว บางครั้งจะใช้ชื่อ “แพนด้ายักษ์” ไว้แยกมันจากแพนด้าแดง.

ทีมข่าววาไรตี้สัตว์เลี้ยง