ทั้งนี้ พฤติกรรมเลือกข้างใหม่ที่เกิดกับกรณีดังกล่าว หลักใหญ่ใจความคือหนึ่งในกลุ่มกร่างโหดพยายามขอให้สังคมให้อภัย โดยออกตัวถึงสาเหตุที่ไม่ขวางไม่ห้ามพฤติกรรมกร่างโหดของคนในกลุ่มว่า…เพราะกลัว?? ซึ่งในที่สุดจะเอาตัวรอดได้หรือไม่ได้นั่นก็ว่ากันไป อย่างไรก็ตาม กับคดีดังคดีนี้ ในส่วนของพฤติกรรม “เลือกข้างใหม่เพื่อจะเอาตัวรอด” นี่…ก็มีเสียงวิจารณ์อื้ออึง…
เกิด “ไวรัลฮิต” กับการแสดงออกนี้
การแสดงออก “ย้ายฝั่ง–เปลี่ยนข้าง”
ขณะที่ “เลือกข้าง…มีมุมทางจิตวิทยา”
อนึ่ง ว่าด้วยการ “เลือกข้าง” ในภาพรวม ๆ ไม่ได้หมายถึงคดีใด ก็อาจคุ้นกันมากหน่อยกับเรื่องราวการเมือง อย่างไรก็ตาม ในชีวิตประจำวันผู้คนทั่วไป บางครั้ง หรือบ่อยครั้ง คนเราก็อาจต้องเลือกข้างเช่นกัน และก็มีบางครั้งที่คนเราก็อาจจะรู้สึก “ไม่อยากเลือกใคร-ไม่อยากเลือกข้าง” แต่ก็ “จำเป็นต้องเลือก” ซึ่งก็มีบทวิเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องแบบนี้ ผ่านหลักวิเคราะห์ทางจิตวิทยา ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำข้อมูลมาสะท้อนต่อ ณ ที่นี้โดยสังเขป ซึ่งเป็นข้อมูลจากบทความวิชาการโดย ผศ.ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา ที่เผยแพร่ไว้ใน เว็บไซต์คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ให้คำอธิบายไว้น่าพิจารณา…
อธิบาย “จิตวิทยากับการเลือกข้าง”
ทาง ผศ.ดร.ทิพย์นภา อาจารย์คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุเรื่องนี้ไว้ว่า… ในชีวิตประจำวันคนเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเลือกข้าง อย่างไรก็ตาม แต่ก็มีบ่อยครั้งที่เมื่อเรานั้นอาจจะยังไม่มีความคิดเห็น หรืออาจจะยังไม่มีจุดยืนใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องบางเรื่องเลย ก็ทำให้ยากจะตัดสินใจ หรือแม้แต่บางทีได้ข้อมูล-มีข้อมูล แต่ก็อาจไม่รู้ว่าจะตัดสินใจอย่างไร? ทำให้หลาย ๆ คนเมื่อเจอเหตุการณ์แบบนี้ก็มัก มองคนรอบข้าง มองคนส่วนใหญ่ ว่าคิดอย่างไร หรือทำอย่างไร แล้วก็เชื่อ–ก็ทำตาม ซึ่งเป็นผลจากการโน้มเอียงไปกับปัจจัยที่กระตุ้นทำให้ “เลือกข้าง” ซึ่ง “สาเหตุการเกิดพฤติกรรม” รูปแบบนี้…
กับเรื่องนี้ กรณีนี้ มีคำอธิบายไว้เช่นกัน…
“ที่เป็นเช่นนี้ เคยมีการอธิบายทางจิตวิทยาว่า… ธรรมชาติของคนเราไม่ชอบความขัดแย้ง หรือความไม่กลมกลืน เพราะภาวะนี้ทำให้อึดอัด เครียด ไม่สบายใจ ดังนั้น ขณะที่ยังไม่มีจุดยืนหรือความเห็นที่เข้มข้น หากคนที่เราชื่นชอบคิดอย่างไร เราก็มีแนวโน้มเห็นดีเห็นงามตามไปด้วย มากกว่าจะเห็นขัดแย้ง”…เป็นคำอธิบาย “เลือกข้าง”
กรณีไม่มีข้อมูล-ไม่มีความคิดเลือกฝั่ง…
คนเรามัก “เลือกตามคนที่ชอบ–ชื่นชม”
และนอกจากการ “เลือกข้างโดยเลือกตามคนที่ชื่นชอบชื่นชม” กรณีที่ไม่รู้จะตัดสินใจเลือกข้างใดดี ที่จะช่วยให้ไม่ต้องเผชิญกับความขัดแย้ง หรือหลีกเลี่ยงความอึดอัดใจ-ความเครียดแล้ว ในกรณีที่เป็นการ “เลือกข้างคล้อยตามความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่” กรณีแบบนี้ก็จะ “ช่วยให้ไม่ต้องเผชิญหน้ากับการต้องเป็นคนเดียวที่แตกต่าง” จากกลุ่มที่ตนอยู่ด้วย
คือต้องการ “เลี่ยงแรงกดดันจากสังคม”

นอกจากนี้ ทาง ผศ.ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา ยังได้ระบุถึง“อิทธิพลที่มีผลต่อการเลือกข้าง”ไว้ว่า…นักจิตวิทยามองว่า “การเลือกข้าง” นั้นเกิดจากอิทธิพล 2 อย่าง คือ… “อิทธิพลด้านข้อมูล” และ “อิทธิพลที่เป็นบรรทัดฐานของกลุ่ม” โดยที่อิทธิพลทั้ง 2 กลุ่มนี้จะมีผลต่อแนวโน้มการตัดสินใจเลือกข้าง กล่าวคือ… ประการที่ 1 การได้รับอิทธิพลด้านข้อมูล…ส่งผลทำให้มีความคิดเห็นเข้มข้นขึ้น เช่น เดิมไม่ชอบคนนี้ เพราะมีข้อมูลเชิงลบอยู่ส่วนหนึ่ง แต่ก็ไม่แสดงออกว่าเกลียดชัดเจน จนเมื่อได้ข้อมูลเชิงลบเพิ่มและเป็นข้อมูลที่ไม่เคยรู้มาก่อน ก็เลยตัดสินใจเลือกฝั่ง หรือเกลียดได้มากยิ่งขึ้น
ประการที่ 2 การได้รับอิทธิพลจากบรรทัดฐานของกลุ่ม…จะยิ่งช่วยทำให้มั่นใจและกล้าตัดสินใจมากขึ้น เช่น ชื่นชอบคนนี้อยู่แล้วเป็นทุนเดิม และเมื่อยิ่งได้ฟังเสียงของคนรู้จักหรือคนใกล้ชิดที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับตนเองที่ก็ชื่นชมคนนี้ ก็จะยิ่งทำให้ชอบคนนี้เพิ่มมากยิ่งขึ้นไปอีก จากการที่คนที่ชอบอยู่เดิมอยู่แล้วก็ได้การยอมรับจากกลุ่มที่ตนเองอยู่ร่วมด้วย
นี่เป็น“คำอธิบายในเชิงจิตวิทยา”…
ที่อธิบาย“ปัจจัยพฤติกรรมเลือกข้าง”
ทั้งนี้ ในบทความโดยอาจารย์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังระบุไว้ด้วยว่า… นักจิตวิทยายังพบพฤติกรรมน่าสนใจของการเลือกข้างว่า…ก็มีบางคนเหมือนกันที่แม้จะได้รับข้อมูลใหม่ ๆ ที่อาจเป็นข้อมูลซึ่งขัดแย้งกับกลุ่ม หรือบรรทัดฐานคนส่วนใหญ่ แล้วก็ เลือกตัดสินใจเซ็นเซอร์ตัวเอง ไม่กล้าแสดงความขัดแย้งกับกลุ่ม เช่น ไม่ห้าม ไม่เตือน ไม่ขัดขวางเพราะกลัวทำให้คนอื่นในกลุ่มไม่พอใจ ซึ่งภายใต้สถานการณเช่นนี้จึง เกิดภาพลวงตา ขึ้นกับทุกคนในกลุ่ม
นี่เป็น “จิตวิทยาเลือกข้างเลี่ยงปัญหา”
แต่ “เลือกร่วมวงโหดแล้วเลือกใหม่”
ถ้าเช่นนี้ “เห็นทีจะเอาตัวรอดยาก!!”.
ทีมสกู๊ปเดลินิวส์