สะท้อนให้เห็นว่าความสำเร็จต่าง ๆ ของเขาที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากความมุ่งมั่นเป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งวันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” จะพาไปทำความรู้จักกับผู้ชายคนนี้ ที่วิถีชีวิตก็น่าสนใจมาก…

ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์หรือ “ดร.เจมส์” ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สอวช. โดยเขาเล่าชีวิตไว้ว่า เกิดในครอบครัวชนชั้นกลางที่ จ.เชียงใหม่ ตัวเขาเป็นลูกชายคนโต มีน้องชาย 1 คน ซึ่งคุณพ่อมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ต้องการเห็นลูกมีอนาคตที่ดี คุณพ่อจึงลงทุนด้านการศึกษาให้เขาด้วยการส่งเข้าเรียนที่โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยตั้งแต่ ป.1 ถึง ม.6 ซึ่งเวลา 12 ปีในรั้วโรงเรียนหล่อหลอมให้ได้เรียนรู้ และมีเพื่อนที่หลากหลาย โดยช่วงวัยรุ่น เขาก็เป็นคนหนึ่งที่อยากเรียนรู้ อยากลองสิ่งใหม่ ๆ อะไรที่ห้ามก็ยิ่งอยากทำ จนได้ชื่อว่าเป็นระดับ “หัวโจก” โรงเรียน ซึ่งเขาไม่เคยหาเรื่องใครก่อน แต่จะไม่ทนถ้าเพื่อนหรือพี่น้องถูกรังแก จนเพื่อนยอมรับในนิสัยสู้คนและรักพวกพ้อง

สำหรับการเรียน เขาไม่ใช่คนเรียนระดับท็อป แต่ถ้าถึงเวลาจะต้องตั้งใจก็จะตั้งใจทำคะแนนได้ดี เช่น ตอนที่จะขึ้น ม.4 จากที่ ป.1-ม.3 เป็นชายล้วน เคยเรียน ๆ เล่น ๆ ก็ต้องหันมาตั้งใจเรียน เพราะต้องสอบคัดเลือกแข่งขันกับนักเรียนเก่ง ๆ ของโรงเรียนอื่น และเขาก็ได้รับคัดเลือกในที่สุด แต่พอเข้าเรียน ม.4-ม.5 ก็กลับมาเน้นทำกิจกรรม เล่นกีฬา ซึ่งการเรียนก็ไม่ได้แย่ แต่ก็ไม่ได้ดีมาก และเมื่อใกล้จะเรียนจบชั้น ม.6 ก็หันกลับมาตั้งใจเรียนเต็มที่อีกครั้ง เพื่อจะเข้ามหาวิทยาลัยได้

กีฬานี่ผมเล่นตั้งแต่เด็ก หลัก ๆ ก็ฟุตบอล จนถึงมหาวิทยาลัย แต่ตอนเป็นนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผมอยู่ชมรมอาสาพัฒนาชนบท ซึ่งมีวันหนึ่งอยากเปลี่ยนกีฬาที่เล่นบ้าง เลยลองไปสมัครเป็นนักกีฬาชกมวยของคณะ ทั้งที่ไม่มีพื้นฐานเลย แต่ปีแรกที่ลงแข่งกีฬามวย มช. ปรากฏว่าผมชนะได้เหรียญทอง ปีถัดมาก็ได้เหรียญเงิน และต่อมาก็เป็นโค้ชให้น้อง ๆ ส่วนฟุตบอลก็ยังเล่นอยู่สม่ำเสมอด้วย”ดร.เจมส์เล่าไว้

ร่วมประชุมถกประเด็น “Clamate change”

และเล่าย้อนชีวิตต่อไปว่า เป็นคนเรียนมหาวิทยาลัย 2 ครั้ง โดยครั้งแรกนั้น เมื่อจบ ม.6 ตัดสินใจเอนทรานซ์เลือกคณะของมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ทั้งหมด ปรากฏสอบติดคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งตอนที่เรียนที่นี่ผลการเรียนก็ดีมาก เพื่อน ๆ ก็ยอมรับให้เป็นแกนกลุ่ม แต่ด้วยความที่ยังขาดประสบการณ์ชีวิต ตอนนั้นจึงมองว่าจบนิติศาสตร์แล้วกลัวตกงาน หรือหากอยากเป็นอัยการ หรือผู้พิพากษา ก็ต้องใช้เวลานานหลายปี เขาจึงตัดสินใจเอนทรานซ์ใหม่อีกครั้ง สำหรับในครั้งที่ 2 เขาได้เลือกสอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพียงแห่งเดียว วัดใจว่าถ้าสอบไม่ได้ก็กลับไปเรียนที่เดิม แต่ปรากฏสอบติด โดยเลือกสาขาวิชาเอกเป็นวิศวกรรมโยธา เนื่องจากเศรษฐกิจไทยช่วงปี 2536-2537 บูมมาก ซึ่งวิศวกรโยธาก็เป็นอาชีพที่ต้องการมากของตลาดแรงงาน และเงินเดือนค่อนข้างสูง โดยยุคนั้นรุ่นพี่ที่จบออกไปจะได้เงินเดือนราว ๆ 27,000 บาท เขาจึงคิดประสาเด็ก ๆ ว่าพอปี 2540 ถ้าเขาเรียนจบไปทำงาน เงินเดือนที่ได้ก็คงไม่ต่ำกว่า 30,000 บาท

ปรากฏปี 2540 ฟองสบู่แตก เศรษฐกิจพัง การก่อสร้างไม่มี วิชาชีพที่ตกงานมากที่สุดกลายเป็นวิศวกรโยธา แต่ผมโชคดี ที่ได้ทำงานบริษัทรับเหมาก่อสร้างแห่งหนึ่ง ซึ่งทำให้ผมได้ฝึกทุกอย่าง วิศวกร สถาปนิก โฟร์แมน หรือแม้แต่เป็นกรรมกร และได้เรียนรู้ระบบการทำงานในวงการรับเหมาก่อสร้าง”ดร.เจมส์ เล่าช่วงชีวิตต้องสู้

มาด “นักมวย” อดีตและปัจจุบัน

พร้อมเล่าไว้อีกว่า วันหนึ่งบริษัทไปรับงานปรับปรุงก่อสร้างที่สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เพราะเมื่อเห็นว่างานที่ทำอยู่นั้น สั่งงานตอนเช้ากว่าจะตรวจงานก็เย็น เขาก็เลยขอเจ้าของบริษัทเรียนต่อปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ และมีโอกาสเป็นผู้ช่วยทำงานวิจัยของอาจารย์ ทำให้เริ่มทำงานเชิงวิชาการมากขึ้น ประกอบกับช่วงนั้นมี Consulting Firm ระดับโลกมาทำงานที่เทศบาลนครเชียงใหม่ ทางอาจารย์ก็เลยส่งเขาเข้าไปอยู่ในทีมนี้ เขาจึงได้ฝึกวิธีการทำงาน Consult ทำงานวิจัย แล้วก็ได้ฝึกภาษาและทำวิทยานิพนธ์ไปด้วย โดยเขาเลือกทำงานวิจัยในหัวข้อ “พลังงานและสิ่งแวดล้อมทางจราจร” ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก เพราะการวัดมลพิษทางอากาศต้องใช้ความรู้ด้านอุตุนิยมวิทยากับฟิสิกส์เคมีบรรยากาศ เพื่อสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ แถมยังต้องการซูเปอร์คอมพิวเตอร์มาช่วยคำนวณ แต่จากการที่คลุกคลีทำวิจัยเรื่องนี้ ก็เลยส่งผลทำให้เขากลายเป็น ผู้เชี่ยวชาญด้าน Climate change ระดับประเทศคนแรกของไทย

ดร.เจมส์ สอบชิงทุนปริญญาเอกของบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานสิ่งแวดล้อม (The Joint Graduate School of Energy and Environment) ด้วย โดยเขาเล่าว่า ทุนนี้เป็นทุนของ ADB (Asian Development Bank) ซึ่งเรื่องที่ทางนั้นศึกษาอยู่เป็นเรื่องที่ในเมืองไทยไม่ค่อยมีใครรู้เท่าไหร่ และมีคนที่มีพระคุณกับชีวิตของเขาที่ทำให้เขากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ คือ รศ.ดร.ปรุงจันทร์ วงศ์วิเศษ ที่ควักเงินเพื่อซื้อโน้ตบุ๊กให้เขานำไปใช้เรียน เนื่องจากอาจารย์เห็นว่าเขาต้องทำวิทยานิพนธ์ในเรื่องที่ยากและไม่เคยมีใครทำมาก่อน อีกทั้งต้องสร้างแบบจำลองทางด้านภูมิอากาศให้ออกมาเป็นรูปธรรมด้วย

มาด “นักฟุตบอล” ก็สันทัดมาแต่วัยเด็ก

โชคดีที่ผมมีความรู้พื้นฐานจากวิศวกรรมจราจร จึงนำมาปรับใช้ โดยสามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ เช่น ต้องการรู้ว่าจุดใดมีฝุ่น PM2.5 เท่าไหร่ ก็คำนวณได้ โดยการคำนวณต้องมีความรู้เรื่องแหล่งกำเนิดมลพิษ รู้จุดที่มีการเผา กี่จุด ลมพัดอย่างไร มีสารเคมีอะไร ซึ่งต้องใช้องค์ความรู้ด้านอุตุนิยม การจราจร ฟิสิกส์เคมี ที่สำคัญต้องใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ เพื่อรันโมเดลให้คาดการณ์ได้ ซึ่ง 15-16 ปีที่แล้วไม่มีใครรู้เรื่องนี้ โชคดีที่อาจารย์ปรุงจันทร์ส่งผมให้ไปอยู่กับ Prof. Zhang Meigen ที่ Chinese Academy of Sciences กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เพื่อไปทำวิจัยเรื่องนี้ เป็นเวลา 2 ปีครึ่ง จึงได้เรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ มากมาย” เป็นจุดทำให้ก้าวสู่การเป็นกูรู Climate Change ของ ดร.เจมส์

เขายังได้เล่าไว้ว่า ระหว่างรอตีพิมพ์ก่อนจบปริญญาเอก ทาง JGSEE ก็จ้างเขาเป็นผู้จัดการโครงการระดับนานาชาติ เพื่อทำโครงการทำงานเรื่อง “พลังงานแสงอาทิตย์” โดยมี Prof. Christoph Menke ซึ่งก็เป็นผู้ที่มีบุญคุณกับเขาอีกคน ที่ทำให้เขาได้เรียนรู้วิธีการทำงานแบบสไตล์เยอรมัน จนโครงการจบ เขาก็สมัครทำงานที่ ADB ซึ่งก็ผ่านการคัดเลือก 2 รอบ จนถึงรอบสุดท้าย โดยจะต้องทำภารกิจที่ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเขามีโอกาสได้งานนี้สูง แต่ปัญหาคือ ถ้าไปก็จะต้องอยู่ยาว ซึ่งทางอาจารย์ปรุงจันทร์แนะนำว่าอย่าไป ถ้าไปจะหลุดจากเมืองไทย อีกทั้งเขาก็มีครอบครัวที่ต้องดูแล

ท่านเตือนสติว่าแม้ได้เงินเยอะ แต่ต้องห่างครอบครัว สุดท้ายผมก็ไม่ไป และทุกครั้งที่ประสบความสำเร็จอาจารย์ปรุงจันทร์ก็มักจะพูดว่า ดีนะที่เจมส์เชื่อครู เลือกที่จะอยู่ กตัญญูพ่อแม่ ได้ดูแลน้อง คนแบบนี้อยู่ที่ไหนก็ประสบความสำเร็จ จนวันที่ผมได้เป็น ผอ.สอวช. ท่านก็พูดแบบนี้”ดร.เจมส์พูดถึง “ครูผู้มีพระคุณ” ท่านนี้

ทั้งนี้ เขายังเผยไว้ถึง “ความลับชีวิต” ที่ไม่ค่อยมีคนรู้ให้ฟังอีกว่า เขาเคยทำอาชีพเป็นติวเตอร์ตอนเรียนมหาวิทยาลัย ปี 1 จนถึงตอนเรียนปริญญาเอกก็ยังทำงานเป็นติวเตอร์อยู่ โดยกลางวันเขาจะเรียน พอตกตอนเย็นก็จะไปสอนหนังสือ พอถึงวันเสาร์-อาทิตย์ ก็จะสอนเต็มวัน สอนให้นักเรียนตั้งแต่อนุบาลจนถึงปริญญาเอก โดยตอนเช้าจะเริ่มสอนตี 5 และคิวเย็นก็จะเริ่มสอนตั้งแต่ 4 ทุ่มถึงเที่ยงคืน และถึงแม้จะเข้าเรียนในกรุงเทพฯ แล้ว ก็ยังทำอาชีพนี้อยู่… “ทุกเย็นวันศุกร์ผมจะนั่งรถทัวร์กลับเชียงใหม่เพื่อสอนหนังสือวันเสาร์ พอวันอาทิตย์เย็น สอนเสร็จผมก็จะนั่งรถทัวร์กลับกรุงเทพฯ” ดร.เจมส์บอก

“เซียนพระ” ฉายา “เซียนเจมส์ บางบอน”

ส่วนอีกเรื่องที่ก็เป็นความลับคือ ตัวของ ดร.เจมส์ นั้น สนใจเกี่ยวกับเรื่อง “พระเครื่อง” มาก ๆ โดยเฉพาะในแง่ศิลปะและพุทธคุณ ทำให้ใฝ่รู้ ใฝ่ศึกษา จนมีความเชี่ยวชาญในการดูพระเครื่อง ถึงระดับที่ได้รับการยอมรับเป็น “เซียนพระ” คนหนึ่ง ถึงขั้นได้รับฉายาเป็น “เซียนเจมส์ บางบอน” เลยทีเดียว

ดร.เจมส์ เล่าไว้ด้วยว่า วันหนึ่งก็มีจุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในชีวิตเขาอีก โดยหลังเรียนจบปริญญาเอก ก็ได้เริ่มทำงานที่ สวทช. ตำแหน่ง นักวิจัยนโยบาย โดยทำเรื่อง Foresight หรือ การคาดการณ์อนาคต ซึ่งโดยส่วนตัวก็ไม่ค่อยรู้จัก สวทช. มาก่อน แต่เห็นโฆษณาในหนังสือพิมพ์จึงลองสมัคร จนเป็นจุดเริ่มต้นและจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะเมื่อ 15 ปีที่แล้วไม่มีใครรู้จัก Foresight อีกทั้งคนยังไม่สนใจ Climate change ทำให้หลายคนมองว่าเขาเป็น “ผู้มาก่อนกาล” จากนั้นงานด้านนี้ได้ย้ายมาอยู่กับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สวทน. ก่อนจะเป็น สอวช. จนถึงทุกวันนี้ โดยเขาบอกว่า มีโอกาสทำงานกับรัฐมนตรีแล้ว 3 คน คนแรกคือ ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี ที่ทำให้ได้เรียนรู้วิชาบริหารราชการแผ่นดินเยอะมาก คนที่สองคือ . (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่เหมือนได้ฝึกงานกับนักปราชญ์ของประเทศ และคนที่สามคือ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีที่ทุ่มเททำงานหนักมาก ที่ทำให้เขาได้เรียนรู้การเป็นนักบริหาร

ทิ้งท้าย “ดร.เจมส์” บอกไว้ว่า หากให้สรุปความเป็นตัวตนจากจุดเริ่มต้นถึงปัจจุบัน เขาเติบโตและได้ดีก็เพราะมีผู้ใหญ่ให้โอกาส จนพลิกชีวิตจากเด็กต่างจังหวัดก้าวสู่นักเจรจาระดับโลก ที่จะต้องสู้กับฝรั่ง ต้องถกกันในประเด็น Climate change การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยเขาก็ต้องขอบคุณ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ เลขาธิการ สวทน. คนแรกกับ ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สวทน. คนสุดท้าย และผู้อำนวยการ สอวช. คนแรก ที่มอบโอกาสเหล่านี้ให้กับเขา… “ผมเชื่อว่า…ที่ผมมาได้ไกลถึงขนาดนี้ได้ ส่วนหนึ่งนั้นก็น่าจะเพราะความกตัญญู ทุกวันนี้ผมก็ยังรำลึกถึงพระคุณของผู้ที่มีพระคุณกับผมทุก ๆ ท่าน ทั้งพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ และผู้หลักผู้ใหญ่ที่ทำงานด้วย ที่ทำให้ผมได้เรียนรู้…ที่มอบโอกาสชีวิตให้ผมได้ทำงาน”.

กับภรรยา และลูกชาย 2 คน

ซัพพอร์ตเตอร์สำคัญในชีวิต’

นอกจากผู้มีพระคุณแล้ว “เบื้องหลังความสำเร็จ” ในวันนี้ของ “ดร.เจมส์ ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์” ก็ยังมีอีกหนึ่ง “คนสำคัญในชีวิต” คือ ภรรยา คือ “นิชนันท์ สถิตคุณารัตน์” รวมอยู่ด้วยอย่างแน่นอน โดย ดร.เจมส์ พูดถึง “ซัพพอร์ตเตอร์คนสำคัญ” นี้ว่า ภรรยาและเขามีความคิดเห็นไปในทางเดียวกัน กับมีจิตใจต้องการช่วยเหลือและให้ความสำคัญกับการสร้างคนเหมือนกัน โดยภรรยานั้นทำงานที่ศูนย์การเรียนปัญญาภิวัฒน์เพชรเกษมในเครือ CP All ซึ่งเด็กที่เข้ามาเรียนที่นี่ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษา โดยมีหลาย ๆ ครั้งที่ภรรยามักจะใช้ทุนส่วนตัวช่วยเหลือเด็ก ๆ

ทั้งนี้ ดร.เจมส์ มีลูกชาย 2 คน ซึ่งเขาเป็นคนตั้งชื่อให้เอง โดยต้องการให้ลูกเป็นคนดีมากกว่าเป็นคนเก่ง ลูกคนโตชื่อ น้องคุณคุณ-คุณาคุณ แปลว่าคุณความดี ส่วนคนเล็กชื่อ น้องคินคิน-คุนาคิน ซึ่งก็มีความหมายเดียวกันกับลูกคนโต… “ผมมีคติการเลี้ยงลูกว่า ผมจะให้อิสระลูก ๆ ในการเลือกที่จะใช้ชีวิต โดยลูกแทบไม่เคยเรียนพิเศษเลย แต่ก็ไม่ได้ปล่อยเกินไป และที่สำคัญผมไม่เคยใช้เส้นสายให้ลูกต้องเด่นดัง ถ้าเขาอยากดัง เขาต้องสร้างขึ้นมาด้วยตัวเอง”.

เชาวลี ชุมขำ : รายงาน