รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ลงทุนตัดไฟฟ้า-น้ำมัน-อินเทอร์เน็ต ไม่ให้ส่งไปยังเมืองท่าขี้เหล็ก-เมียวดี-พญาตองซู ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 5 ก.พ.68 เพื่อปิดสวิตช์แก๊งคอลเซ็นเตอร์และการพนันออนไลน์ ไม่ให้หลอกลวงดูดเงินจากคนไทยและชาวต่างชาติ
มีคนถามว่ามาตรการดังกล่าว จะได้ผลแค่ไหน? “พยัคฆ์น้อย” ตอบว่าได้ผลบางส่วน เนื่องจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไม่ได้อยู่ในฝั่งเมียนมาเท่านั้น แต่ในพื้นที่ประเทศ ไทยก็มี รวมทั้งตามแนวตะเข็บชายแดนภาคตะวันออกที่ติดกับกัมพูชา และพื้นที่ชายขอบแม่น้ำโขง ทางภาคอีสาน–ภาคเหนือ ก็มีแก๊งคอลเซ็นเตอร์อยู่เหมือนกัน
การตัดไฟฟ้า–น้ำมัน–อินเทอร์เน็ต อาจจะได้ผลในระยะสั้น ๆ แต่ในระยะยาวคนที่ได้ผลรับกระทบคือประชาชน “สุจริตชน” ทั้งสองประเทศ ที่ติดต่อเดินทางไปมาค้าขายระหว่างกัน เพราะอย่าลืมว่าปี 67 ไทยกับเมียนมา มีมูลค่าการค้าขายชายแดนระหว่างกันกว่า 2 แสนล้านบาท เฉพาะด่านแม่สอด–เมียวดี เกือบแสนล้านบาทต่อปี
พรรคพวกที่เป็นตำรวจบอกกับ “พยัคฆ์น้อย” ว่าการตัดวงจรแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่น่าจะได้ผลในระยะยาว คือ การออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. … หรือ “พ.ร.ก. ไซเบอร์” ที่มีสาระสำคัญคือ
1.เพิ่มบทลงโทษให้สถาบันทางการเงิน เครือข่ายมือถือ สื่อสังคมออนไลน์ มีส่วนรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น จะลอยตัวว่าไม่เกี่ยวไม่ได้ 2.เพิ่มอำนาจการดำเนินการกับแพลตฟอร์ม P2P ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด
3.เพิ่มหน้าที่ให้ Telco Provider ต้องระงับซิมที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด 4.เพิ่มหน้าที่การส่งข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีม้าของธนาคารต่าง ๆ ไปยัง ปปง. เพื่อตรวจสอบและคืนเงินให้กับผู้เสียหายได้รวดเร็วมากขึ้น
5.เพิ่มบทลงโทษแพลตฟอร์ม P2P รวมถึงธนาคารที่ไม่ปฏิเสธการเปิดบัญชีของคนร้าย 6.เพิ่มบทลงโทษผู้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
7.เพิ่มหน้าที่ให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หรือผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ มีหน้าที่สั่งระงับการให้บริการเลขหมายโทรศัพท์ สำหรับบริการโทรศัพท์มือถือชั่วคราว เมื่อพบเหตุอันควรสงสัย
“พ.ร.ก.ไซเบอร์” ยังช่วยสะกิดให้ธนาคารแห่งประเทศ ไทย (แบงก์ชาติ) รีบสั่งการไปยังธนาคารพาณิชย์ให้ส่ง
“เอสเอ็มเอส” แจ้งเตือนลูกค้ากำลังโอนเงินไปบัญชีม้า และต่อไปนี้จะไม่สามารถโอนเงินเข้า–ออกบัญชีม้า หรือบัญชีน่าสงสัยได้อีก
ที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แจกคาถาป้องกันภัยจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ คือ “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน”
ขยายความคือ อย่าเชื่อเรื่องราวอะไรกันง่ายๆ แม้ว่าเสียง หรือข้อความจะคล้ายว่ามาจากญาติพี่น้องก็ตาม อย่ารีบเชื่อทันที แต่ควรโทรฯไปตรวจสอบในภายหลังให้แน่ชัดก่อน ถ้ายังไม่ตรวจสอบให้แน่ชัด ก็อย่าเพิ่งโอนเงินให้ใครโดยเด็ดขาด
ที่ผ่านมาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โทรฯหา “พยัคฆ์น้อย” ด้วยสารพัดเรื่องราว หลายครั้ง! โดยช่วงหลัง ๆ เช็กสัญญาณโทรศัพท์โผล่อยู่ริมแม่น้ำโขง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย แต่เจอคาถา “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน” พวกมันก็กินเงินเราไม่ได้!!.
……………………………………………….
พยัคฆ์น้อย