เป็นข่าวดีของคนไทยทั้งชาติ!! หลังครม.เห็นชอบร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม หรือพ.ร.ก.ไซเบอร์ฉบับใหม่ โดยหวังใช้เป็นดาบอาญาสิทธิ์ ฟาดฟันอาชญากรไซเบอร์ให้ลดลง หลังจากที่ผ่านมายังจับไม่ได้ไล่ไม่ทันกลวิธีหลอกลวงที่ไฮเทคมากขึ้นทุกวัน

ทั้งนี้สาระสำคัญที่มีการแก้ไขที่น่าสนใจมีอยู่ 5 ประเด็นทั้งเรื่องของเพิ่มหน้าที่ให้สำนักงาน กสทช. หรือผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ มีหน้าที่สั่งระงับการให้บริการเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์มือถือเป็นการชั่วคราว เมื่อพบเหตุอันควรสงสัยเอง หรือได้รับข้อมูลว่ามีเลขหมายโทรศัพท์มือถือต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด

แพลตฟอร์มร่วมรับผิด

การเพิ่มอำนาจการดำเนินการกับแพลตฟอร์มทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด โดยกำหนดแพลตฟอร์มให้ต้องร่วมรับผิดชอบการทำธุรกรรมและการกระทำความผิดที่เกิดขึ้น เช่นการห้ามการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์ม Peer-to-Peer Lending (P2P) โดยห้ามให้บริการหรือแสดงว่าพร้อมจะให้บริการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทคริปโตเคอร์เรนซีโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ที่มิได้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการอุปโภคบริโภค เพื่อลดปัญหาการฟอกเงินโดยนำามาเปลี่ยนเป็นเงินสกุลดิจิทัล

การเร่งรัดกระบวนการคืนเงินให้กับผู้เสียหาย ให้อำนาจแก่คณะกรรมการธุรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเป็นผู้พิจารณาคืนเงินให้แก่ผู้เสียหาย โดยไม่ต้องรอให้มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลเพื่อพิจารณามีคำสั่งถึงที่สุดก่อน อันเป็นการทำให้ขั้นตอนกระบวนพิจารณาการคืนเงินแก่ผู้เสียหายเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น รวมไปถึงการเพิ่มบทกำหนดโทษสำหรับการฟอกเงินเป็นสกุลเงินดิจิทัล และการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล โดยกำหนดโทษสำหรับผู้ให้บริการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทคริปโตเคอร์เรนซี โทเคนดิจิทัล และผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่นำเงินที่ได้จากการกระทำความผิดออนไลน์มาฟอกเงินโดยนำามาเปลี่ยนเป็นเงินสกุลดิจิทัล ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผิดจำคุก 5 ปีปรับ1แสน

การกำหนดโทษสำหรับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการพนันออนไลน์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับและการกำหนดโทษสำหรับผู้ซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ให้สถาบันการเงินหรือผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือสื่อสังคมออนไลน์มีส่วนรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้เสียหาย

มีแค่กรอบยังไม่ชัดเจน

กฎหมายฉบับนี้!! ถือว่าเป็นกฎหมายที่ดูแลคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้ที่ตกเป็นเหยื่อได้ไม่น้อยทีเดียว โดยเฉพาะการกำหนดให้สถาบันการเงิน และค่ายมือถือต้องเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชน แต่ด้วยตัวบทกฎหมายที่กำหนดเพียงแค่กรอบ แต่ไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนว่าต้องร่วมรับผิดในสัดส่วนเท่าใด หรือความเสียหายจำนวนเท่าใด ที่ทั้งสถาบันการเงินและค่ายมือถือ ต้องเข้ามาร่วมรับผิดชอบ หรือ… แม้แต่ชนิด หรือประเภท ของความผิด ว่าเป็นอย่างไร จึงทำให้หลายคนเคลือบแคลง!!

“ดีอี” สร้างความเข้าใจ

อย่างไรก็ตาม ความเคลือบแคลงในครั้งนี้ เจ้าของกฎหมายอย่าง “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” รองนายกฯ และรมว.ดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือดีอี ชี้แจงไว้ว่า เมื่อกฎหมายบังคับใช้ ทั้งสถาบันการเงิน และค่ายมือถือ ถ้าทำาตามกฎหมายได้ครบถ้วนถูกต้อง ก็ไม่ต้องร่วมรับผิดชอบใด ๆ อย่างกรณี หากมีคำสั่งให้ปิดบัญชีต้องสงสัย และให้ส่งบัญชี HR 03 ให้กับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) หากไม่ส่งภายในเวลาตามที่กฎหมายกำหนด และบัญชีถูกนำไปก่ออาชญากรรมจนเกิดความเสียหาย สถาบันการเงินก็ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วย

ขณะที่ผู้ให้บริการมือถือ หากยังมีการส่งเอสเอ็มเอสแนบลิงก์ไม่ขึ้นทะเบียนผู้ส่ง และเกิดมีการส่งลิงก์ดูดเงิน หรือหลอกลวงโดยไม่มีการคัดกรอง ก็ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบ ทั้งนี้กระทรวงดีอีจะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเร็ว ๆ นี้เพื่อทำความเข้าใจในรายละเอียดข้อกฎหมาย เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสน และเพื่อความเข้าใจให้ตรงกันในการปฏิบัติตามกฎหมายที่ออกมา

ย้ำไม่ได้เงินคืนทุกกรณี

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีข่าวว่า พ.ร.ก.ฉบับแก้ไขนี้ ได้ผ่านความเห็นชอบแล้ว คนส่วนใหญ่ในสังคมเข้าใจว่า หากโดนแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกแล้ว จะได้เงินคืนทุกคนนั้น แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว ในตัวบทกฎหมายยังไม่ได้มีการะบุว่า ธนาคารและค่ายมือถือ จะต้องรับผิดชอบในสัดส่วนเท่าใด?

ด้าน “เอกพงษ์ หริ่มเจริญ” ผู้ตรวจราชการกระทรวงดีอีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์(AOC) สายด่วน1441 กล่าวว่าตอนนี้ประชาชนเข้าใจผิดไปทางเดียวกันว่าจะได้เงินคืนหมด ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ๆก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงต้องไปดูด้วยว่า ทางธนาคารและมือถือได้หละหลวมปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินการตามข้อกำหนดหรือไม่หรือผู้ใช้งานเป็นคนโอนเอง หรือเกิดจากความโลภ อยากได้เงินจากการชักชวนของมิจฉาชีพหรือไม่

“จากสถิติกว่า 90% เจ้าของมือถือ หรือผู้ใช้งานแอปธนาคารจะเป็นผู้กดโอนเองโดยที่ไม่รู้ตัว ซึ่งจะต้องมีการลงรายละเอียดในการพิสูจน์ในเรื่องความรับผิดชอบ และเชื่อว่าทางธนาคารคงมีมาตรการต่าง ๆ ออกมาเพื่อเตือนผู้ใช้งานเพิ่มอีกขณะเดียวกับทางศูนย์เอโอซี ก็จะมีการทำาประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความเข้าใจไปในทางเดียวกัน”

ธปท.ตื่นฟันบัญชีม้า

ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็เริ่มขยับโดยวันที่ 31 ม.ค. ที่ผ่านมาทางธนาคารจะเริ่มมาตรการป้องกันบัญชีม้า เพื่อไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และมิจฉาชีพจากโลกออนไลน์แล้ว โดย “รุ่ง มัลลิกะมาส” รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. บอกว่า ธนาคารจะปฏิเสธการโอนเงินออกจากโมบายแบงกิ้ง หากบัญชีปลายทางเป็นบัญชีม้า ซึ่งจะมีลักษณะโอนไม่ได้ โอนแล้วเด้ง และจะมีข้อความแจ้งเตือนขึ้นมาบนโมบายแอป ว่าบัญชีปลายทางนั้นมีความเสี่ยงไม่ปลอดภัย และจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลธุรกรรมบัญชีระหว่างธนาคารให้มากขึ้น เร็วขึ้น เพื่อดูพฤติกรรมต้องสงสัย ทั้งนี้ ปัจจุบันมีบัญชีม้าถูกระงับแล้ว 1.75 ล้านบัญชี คิดเป็นรายชื่อม้า 1.34แสนรายชื่อ

นอกจากนี้ จะมีมาตรการให้เปิดบัญชีธนาคารยากขึ้น และจะปฏิเสธการเปิดบัญชีหากเป็นบุคคลต้องสงสัย ซึ่งเห็นจากข้อมูลที่แลกเปลี่ยนระหว่างธนาคาร และจะมีการหน่วงธุรกรรมในบางกรณีที่น่าสงสัย พร้อมกับต้องร่วมมือหน่วยงานอื่นเพื่อไม่ให้เหยื่อเข้าถึง ขณะที่พ.ร.ก.ป้องกันภัยไซเบอร์ที่เพิ่งผ่านครม.ในส่วนของความรับผิดชอบหากประชาชนถูกโอนเงินนั้น ต้องมีการหารือกันระหว่างธนาคาร ค่ายมือถือ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ ก่อน

ทั้งหมดก็ต้องรอดูกฎหมายให้ชัดเจนอีกครั้ง ว่าจะออกมาในรูปแบบใด รวมไปถึงแนวทางการดำเนินการของสถาบันการเงิน และค่ายมือถือเอง ว่าจะกำาหนดแนวทางการร่วมรับผิด โดนใจผู้บริโภคหรือประชาชนคนไทยมากน้อยเพียงใด?.