ประเด็นที่น่าสนใจของอาหารไทยกับการควบคุมเบาหวาน มีดังนี้

  1. อาหารไทยมีส่วนประกอบที่ครบถ้วนทั้งห้าหมู่ ในสัดส่วนที่สมดุล

อาหารไทยนอกจากจะมีรสชาติกลมกล่อม ครบรสแล้ว ยังเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน ในสัดส่วนที่สมดุล สอดคล้องกับหลักจานอาหารสุขภาพ 2:1:1 โดยมีผักเป็นองค์ประกอบหลักในปริมาณครึ่งหนึ่งของจาน หรือ 2 ส่วนของจานอาหาร ตามด้วยอาหารที่เป็นแหล่งของโปรตีนคุณภาพดี เช่น ปลา ไข่ เนื้อสัตว์ในปริมาณ 1 ใน 4 ของจาน หรือ 1 ส่วนของจานอาหาร และอีก 1 ใน 4 ของจานที่เหลือ เป็นอาหารในกลุ่มข้าวแป้ง โดยเน้นเลือกข้าวที่ผ่านการขัดสีน้อย เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ธัญชาติ ฯลฯ สำหรับ “ข้าว” ถือว่าเป็นอาหารหลักของคนไทย และเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรตที่มีส่วนสำคัญต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ดังนั้น การเลือกกินข้าวสายพันธุ์ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำในปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย ก็เป็นอีกทางเลือกสุขภาพของผู้เป็นเบาหวาน

Thai Spicy Chili Sauce NAM PRIK KAPI Paste with Mixed Herb Ingredient Traditional Thai Food Cuisine
  • อาหารไทยอุดมไปด้วยใยอาหาร

ประเทศไทยอุดมไปด้วยพืชผัก และผลไม้ที่หลากหลาย ซึ่งอาหารในกลุ่มนี้จัดเป็นแหล่งของใยอาหาร  โดยอาหารไทยเกือบทุกเมนูจะต้องมีผักเป็นส่วนประกอบ หรือมีผักเป็นเครื่องเคียง เช่น น้ำพริก กินคู่กับผักสด หรือผักต้ม หรือเมนูที่มีรสชาติจัดจ้าน ก็จะรับประทานแกล้มกับผักสด เพื่อเป็นตัวช่วยทำให้รสชาติสมดุลมากยิ่งขึ้น จากแนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน 2566 แนะนำว่า เน้นบริโภคอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ธัญชาติที่ไม่ผ่านการขัดสี ถั่วเมล็ดแห้งและเมล็ดพืช ผัก และผลไม้ ธัญชาติที่ไม่ผ่านการขัดสี ปริมาณ 100 กรัม มีใยอาหาร 4 – 10 กรัม ส่วนถั่วเมล็ดแห้งและเมล็ดพืช ปริมาณ 100 กรัม มีใยอาหาร 19 – 28 กรัม ซึ่งโดยทั่วไป มีใยอาหารสูงกว่าผักและผลไม้ โดยปริมาณใยอาหารที่คนไทยควรได้รับในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ คือ 25 กรัมต่อวัน สำหรับเด็ก คือ จำนวนอายุปี + 5 กรัมต่อวัน

  • อาหารไทยมีการชูรสชาติด้วยเครื่องเทศ และสมุนไพร

วัตถุดิบสำคัญที่ขาดไม่ได้ในอาหารไทย นั่นคือ เครื่องเทศและสมุนไพร ที่เป็นส่วนประกอบที่ช่วยชูรสชาติ เพิ่มสีสัน และกลิ่นที่ชวนรับประทานให้กับอาหารไทย ส่งผลให้สามารถลดปริมาณการใช้เครื่องปรุงรสในการปรุงอาหารลงได้ เป็นการชูรสชาติของอาหารจากวัตถุดิบตามธรรมชาติ ทดแทนการใช้เครื่องปรุงในกลุ่มน้ำตาล น้ำปลา หรือแม้แต่ผงชูรส ซึ่งสอดคล้องกับการลดหวานจัด มันจัด และเค็มจัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

“เครื่องแกง” หรือ “พริกแกง” คือ ตัวอย่างของส่วนผสมที่ใช้เครื่องเทศและสมุนไพรหลากหลายชนิดเป็นองค์ประกอบ และเครื่องแกงก็เป็นส่วนผสมที่ขาดไม่ได้สำหรับการปรุงอาหารไทยประเภทแกง ตัวอย่างส่วนผสมของเครื่องแกง ที่ใช้เป็นองค์ประกอบหลักที่ขาดไม่ได้ของอาหารไทย

                –  เครื่องแกงเผ็ด เช่น พริกชี้ฟ้าแห้ง พริกจินดาแห้ง หอมแดง ตะไคร้ ข่า ผิวมะกรูด  กระเทียม กะปิ และเกลือ

                –  เครื่องแกงเขียวหวาน เช่น พริกชี้ฟ้าเขียว ผิวมะกรูด ข่าซอย หอมแดงซอย เม็ดผักชี  กระเทียมซอย พริกไทยเม็ด ยี่หร่า รากผักชี ตะไคร้ซอย กะปิ และเกลือป่น

                –  เครื่องแกงมัสมั่น เช่น พริกชี้ฟ้าแห้ง พริกไทย ตะไคร้ซอย ข่าซอย รากผักชี ลูกจันดอกจัน กานพลู กระเทียม อบเชย หอมแดง เม็ดลูกกระวาน ลูกผักชี และยี่หร่า

                –  เครื่องแกงใต้ เช่น พริกจินดาแห้ง พริกสด ตะไคร้ ขมิ้นชัน กระเทียม หอมแดง  พริกไทยดำ กะปิ และเกลือป่น

ในปัจจุบัน เครื่องเทศและสมุนไพรที่ใช้เป็นส่วนผสมในอาหารไทย มีผลงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ และคุณค่าทางโภชนาการที่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะคุณสมบัติของการต้านอนุมูลอิสระและการลดการอักเสบ

Tom Yum Kung Thai hot spicy soup shrimp with lemon grass,lemon,galangal and chilli on wooden table, Thailand Food

บทสรุปส่งท้าย…

อาหารไทยเป็นวัฒนธรรมที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนไทยมาช้านาน และเป็นภูมิปัญญาไทยในการใช้ “อาหารเป็นยา” ประกอบกับในปัจจุบันมีหลักฐานเชิงประจักษ์มากมายที่แสดงให้เห็นถึงสรรพคุณของอาหารไทยที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง รวมทั้งป้องกัน และควบคุมโรคเบาหวาน ดังนั้น สำหรับผู้เป็นเบาหวาน การปรับรูปแบบอาหารไทยที่เรารับประทานในแต่ละพื้นถิ่น ให้เป็นไปตามรูปแบบอาหารเพื่อสุขภาพ นอกจากจะทำให้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้แล้ว หากน้ำหนักลดได้มากเพียงพอ อาจส่งผลให้โรคเบาหวานเข้าสู่ระยะสงบได้ อีกทั้งยังอร่อยถูกปาก และยังเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยอีกด้วย

ข้อมูลจาก พันเอกหญิง ดร.กรกต วีรเธียร สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ

นายแพทย์สุรพงศ์  อำพันวงษ์

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่