หากดูกันในภาพรวม “ข้อหาเผาป่า” ข้อหานี้ก็ “โทษหนัก” มีอัตราโทษ จําคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งกับกรณีดังกล่าวข้างต้นก็ว่ากันไป อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็น่าจะเป็นกรณี “เตือนใจ” คนทั่วไปได้…ว่า “จุดไฟในป่านี่อย่าหาทำเป็นดีที่สุด” ขณะที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็มีข้อมูลเกี่ยวกับการ “ชอบจุดไฟ” มาสะท้อนต่อ…

มีคนที่ชอบจุดไฟ” ซึ่งสังคมก็มีปุจฉา

พฤติกรรมดังกล่าวนี้ “มีมุมจิตวิทยา”

ที่วิสัชนา “เข้าข่ายอาการทางจิตมั้ย?”

ทั้งนี้ มิใช่จะโฟกัสไปที่กรณีดังกล่าวข้างต้น แต่กับ “พฤติกรรมชวนอึ้ง” กรณี “มีคนที่เสพติดการเผา” นี่กรณีแบบนี้ในสังคมไทยก็เคยมีกระแสชวนให้สงสัยมาก่อน เคยเกิดเหตุการณ์ชวนตั้งคำถาม เป็น “ปุจฉา” ที่คาใจสังคมไม่น้อย ขณะที่ในต่างประเทศก็เคยมีกรณีชวนสงสัยในลักษณะนี้เกิดขึ้นเช่นกัน ซึ่งคนที่มีพฤติกรรมทำนองนี้นั้น ก็มีผู้เชี่ยวชาญ นักจิตวิทยา ได้มีการให้ข้อมูล “คนที่เสพติดการเผา”ไว้ว่า “อาจเข้าข่ายอาการจิตเวช” ชนิดหนึ่ง ใน กลุ่มโรคขาดความยับยั้งชั่งใจ!!

โฟกัสไปที่ “ผู้มีพฤติกรรมชอบจุดไฟ”

มีชื่อเรียกภาวะนี้ว่า “โรค Pyromania”

คำอธิบายภาวะอาการหรือโรคดังกล่าว ที่ทางจิตวิทยาจัดให้อยู่ใน กลุ่มโรคขาดความยับยั้งชั่งใจ หรือImpulse Control Disorders ในกลุ่มคนที่มีพฤติกรรม “ชื่นชอบการจุดไฟ” นั้น ในทางการแพทย์มีคำใช้เรียกคนที่มีพฤติกรรมดังกล่าวหรือเรียกโรค ว่า “โรค Pyromania” หรือแปลเป็นไทยว่า “โรคชอบจุดไฟ” ซึ่ง นพ.เจษฎา ทองเถาว์ จิตแพทย์ชื่อดัง เจ้าของ เพจเฟซบุ๊กให้ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับสุขภาพจิต ชื่อ “คลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา” ก็ได้ให้ข้อมูลกรณีไว้…

โรคชอบจุดไฟ” โรคนี้นี่ “น่ากลัว!!”…

นพ.เจษฎา จิตแพทย์ชื่อดัง อธิบายเกี่ยวกับโรคนี้ไว้ว่า… “โรคชอบจุดไฟ” เป็น โรคจิตเวชชนิดหนึ่ง ในกลุ่มโรคขาดความยับยั้งชั่งใจ หรือ Impulse Control Disorders ซึ่งมักมี “ลักษณะสำคัญ” ของโรค คือ 1.จะคลั่งไคล้และชอบเล่นไฟ โดยรู้สึกเป็นสุขและผ่อนคลายเมื่อได้จุดไฟ 2.ไม่สามารถต่อต้านตัวเองไม่ให้จุดไฟได้ และมักจะทำไปทั้งที่ไม่ได้ตั้งใจหรือวางแผนจะลงมือก่อเหตุ 3.จะมีความเครียดในจิตใจก่อนลงมือจุดไฟ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะตึงเครียดในจิตใจ หรือตื่นตัว หรือกระวนกระวายเกิดขึ้นมาก่อน จนเมื่อได้จุดไฟแล้วความเครียดก็จะบรรเทาลง …นี่เป็นลักษณะเด่น ๆ ของผู้ป่วยโรคนี้

ลักษณะ” ของ “ผู้ป่วยโรคชอบจุดไฟ”

นอกจากนี้ นพ.เจษฎา ยังระบุไว้ว่า… การจะจำแนกหรือระบุว่าใครป่วยด้วยโรคนี้ได้นั้น จะต้องดูจากสาเหตุ หรือที่มาซึ่งทำให้ต้องการจะจุดไฟ หรือตัดสินใจที่จะลงมือเผา ว่า… ต้องไม่เกิดจาก ความคิดหลงผิด (Delusion) หรือจาก อาการประสาทหลอน (Hallucination) ขณะที่ “หลักการรักษา” นั้น นพ.เจษฎา อธิบายไว้ว่า… จะใช้แนวทางการรักษาคล้ายกับกลุ่มโรคขาดความยับยั้งชั่งใจ ผ่านวิธีการต่าง ๆ คือ การทำจิตบำบัด การทำพฤติกรรมบำบัด การจัดการสิ่งแวดล้อมรอบตัวผู้ป่วย โดยจะใช้วิธีบำบัดเหล่านี้ร่วมกับ การใช้ยาทางจิตเวช เพื่อสร้างความยืดหยุ่นและลดความวู่วามของผู้ป่วยด้วยโรคนี้

เมื่อได้รับการรักษาแล้ว ถ้าแนวโน้มเป็นไปได้ด้วยดี ผลการรักษาในภาพรวมที่จะเกิดขึ้นก็คือ ผู้ป่วยจะสามารถต้านทานแรงขับที่อยากจะจุดไฟได้ …เป็นข้อมูลที่ นพ.เจษฎา ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ไว้ผ่านช่องทางโซเชียล

และนอกจากที่ นพ.เจษฎา ทองเถาว์ อธิบายไว้ผ่านเฟซบุ๊กเพจแล้ว ก็ยังมีบทความใน เว็บไซต์ hellokhunmor.com ที่เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล ที่มีชื่อบทความว่า “แปลกแต่จริงโรคชอบจุดไฟโรคอันตราย ที่อาจทำให้กลายเป็นนักลอบวางเพลิง” ซึ่งได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “โรคชอบจุดไฟ” ไว้ว่า… โรคนี้เป็นความผิดปกติทางจิตที่พบยากชนิดหนึ่ง ซึ่งคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิตฉบับล่าสุด หรือ “คู่มือ DSM-5” นั้น ได้มีการจำแนกโรคชอบจุดไฟนี้ให้อยู่ในกลุ่มโรคที่มีปัญหาในการควบคุมอารมณ์และพฤติกรรม ทำให้เกิดความขัดแย้งกับสิทธิของผู้อื่น หรือบรรทัดฐานของสังคม

วิธีสังเกต” ว่าเข้าข่าย “เป็นโรคชอบจุดไฟ” หรือไม่นั้น มีการระบุไว้ว่า… การวินิจฉัยโรคนี้ สามารถทำได้โดยการอิงตามเกณฑ์ของ DSM-5 ดังต่อไปนี้คือ 1.รู้สึกชื่นชอบไฟมากเป็นพิเศษ 2.ชอบจุดไฟบ่อย ๆ 3.รู้สึกตื่นเต้นอย่างรุนแรงก่อนที่จะจุดไฟ และจะผ่อนคลายขึ้นหลังจากจุดไฟ 4.ไฟที่จุดขึ้นไม่ได้ก่อประโยชน์หรือมีจุดประสงค์ใดเป็นพิเศษ5.มักจะพกไม้ขีดไฟหรือไฟแช็กในปริมาณที่มากเกินความจำเป็น6.มักจะชอบเผาสิ่งของต่างๆเช่น เสื้อผ้า ของใช้ หรือกระดาษ 7.หมกหมุ่นอยู่กับไฟ ในบางคนมักชอบจะไปอยู่ในสถานที่ที่มีไฟรายล้อมจำนวนมาก เช่น บริเวณที่มีไฟไหม้ หรืออาจหมกหมุ่นอยู่กับผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับไฟ เช่น พนักงานดับเพลิง และ 8.ชอบแจ้งเหตุไฟไหม้ แม้จะไม่มีเหตุเกิดขึ้นจริง

นี่เป็น “วิธีสังเกต” ว่า “อาจจะเข้าข่าย”

เป็น “โรคชอบจุดไฟ” ที่ “ชวนให้ผวา”

อาการจิตหายาก…ที่ “อันตรายยิ่ง!!”.

ทีมสกู๊ปเดลินิวส์