ในที่สุดการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ก็ปรับแผนงานเลื่อนเปิดบริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง(ใต้) ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ(วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.6กม. จำนวน 17สถานี ที่ผสมผสานโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 14.29กม. 10 สถานีใต้ดิน และทางวิ่งยกระดับ(ลอยฟ้า) 9.34กม. 7 สถานียกระดับ จากปี 2571 เป็นปี 2572 แม้ภาพรวมการก่อสร้างล่าสุดทั้ง 6 สัญญาจะคืบหน้า 47.95%เร็วกว่าแผนงาน 7.85%ก็ตาม

รฟม. ลงนามสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสีม่วงใต้ 6 สัญญา วงเงินรวม 8.2 หมื่นล้านบาท เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2565 และออกหนังสือแจ้งให้ผู้รับจ้างเริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) ตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย.2565 เริ่มเข้าพื้นที่ก่อสร้างประมาณเดือน ส.ค.2565 ครั้งแรกวางเป้าหมายเปิดบริการปี 2570 ก่อนจะปรับแผนเปิดบริการเป็น ปี 2571 ลงรายละเอียดทั้ง 6 สัญญา ประกอบด้วย
สัญญาที่ 1 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดินช่วงเตาปูน–หอสมุดแห่งชาติ ระยะทาง 4.8 กม. วงเงิน 19,430,000,000 บาท ผู้รับจ้าง CKST-PL JOINT VENTURE มีบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และ บริษัทชิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ก่อสร้างอุโมงค์คู่ลึก 16-35 เมตร 3 สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ปล่องระบายอากาศระหว่างสถานี 2 ปล่อง งานโยธา งานโครงสร้าง สถาปัตยกรรม งานระบบสถานี ผลงานแล้วกว่า 62.81%
สัญญาที่ 2 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงหอสมุดแห่งชาติ–ผ่านฟ้า ระยะทาง 2.4 กม. วงเงิน15,878,000,000 บาท ผู้รับจ้าง CKST-PL JOINT VENTURE มีบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ชิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ก่อสร้างอุโมงค์คู่ลึก 23-46 เมตร 3 สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ปล่องระบายอากาศระหว่างสถานี 1 ปล่อง งานโยธา งานโครงสร้าง สถาปัตยกรรม งานระบบสถานี ผลงานกว่า 54.49%
สัญญาที่ 3 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงผ่านฟ้า–สะพานพุทธ ระยะทาง 3.1 กม. วงเงิน 15,109,000,000 บาทผู้รับจ้าง ITD-NWR MRT JOINT VENTURE มีบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) ก่อสร้างอุโมงค์คู่ลึก 22-41 เมตร 2สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ปล่องระบายอากาศระหว่างสถานี 3 ปล่อง งานโยธา งานโครงสร้าง สถาปัตยกรรม งานระบบสถานี ผลงานกว่า 43.26%

สัญญาที่ 4 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงสะพานพุทธ–ดาวคะนอง ระยะทาง 4.1 กม.วงเงิน 14,982,000,000 บาท ผู้รับจ้าง บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ก่อสร้างอุโมงค์คู่ลึก 17-28 เมตร 2 สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ปล่องระบายอากาศระหว่างสถานี 5 ปล่อง งานโยธา งานโครงสร้าง สถาปัตยกรรม งานระบบของสถานี ผลงานกว่า 47.11%

ในการก่อสร้างทางวิ่งใต้ดิน ใช้หัวขุดเจาะอุโมงค์ทั้งหมด 7 หัว เดินเครื่องหัวเจาะไปแล้ว 4 หัวในสัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 2 (ช่วงเตาปูน – หอสมุดแห่งชาติ – ผ่านฟ้า) หัวเจาะที่ 4 ของสัญญาที่ 4 เริ่มเดินเครื่อง เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2568 จะแล้วเสร็จก.พ.2569 ขณะที่หัวเจาะที่ 5 จะเริ่มเดินเครื่องปลายเดือน ก.พ.-ต้นเดือน มี.ค.2568 ให้แล้วเสร็จเดือน มี.ค.2569 จากนั้นในเดือน พ.ค.2568 จะเริ่มเดินเครื่อง 2 หัวเจาะสุดท้ายของสัญญาที่ 3 ช่วงผ่านฟ้า – สะพานพุทธ โดยเริ่มขุดเจาะช่วงใต้แม้น้ำเจ้าพระยาประมาณเดือน ก.ย.2568 คาดว่าสัญญาที่ 3 จะแล้วเสร็จประมาณเดือน ก.ย.2569
สัญญาที่ 5 งานก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งและสถานียกระดับ ช่วงดาวคะนอง–ครุใน ระยะทาง 9.0 กม. วงเงิน 13,094,800,000 บาท ผู้รับจ้าง บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ก่อสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้ายกระดับความสูง 15-16 เมตร จุดสูงสุด 23.7 เมตรข้ามเชิงสะพานภูมิพล จ.สมุทรปราการ
รวมทั้งก่อสร้าง 7 สถานีรถไฟฟ้ายกระดับ งานโยธา งานโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรม งานระบบสถานี อาคารจอดรถไฟฟ้า (Stabling Yard)บริเวณวงแหวนกาญจนาภิเษก และอาคารจอดแล้วจร (Park & Ride) 4 แห่ง บริเวณบางปะกอก และราษฎร์บูรณะ จอดรถได้ 1,920 คัน ได้ผลงาน 25.48% โครงสร้างยกระดับเห็นคานและพื้นทางวิ่งเป็นแนวยาวต่อเนื่องแล้ว โครงสร้างทางวิ่งยกระดับจะแล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค.2568

สัญญาที่ 6 งานออกแบบและก่อสร้างระบบรางตลอดแนวเส้นทางโครงการช่วงเตาปูน–ครุใน เป็นระบบรางของทางวิ่งรถไฟฟ้า และระบบรางภายในโรงจอดรถไฟฟ้า งานติดตั้งรางทางวิ่ง รางจ่ายกระแสไฟฟ้า วงเงิน 3,589,000,000 บาท ผู้รับจ้าง บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จํำกัด (มหาชน) ผลงาน 38.14%
รฟม.ให้ความมั่นใจว่า การก่อสร้างทั้ง 6 สัญญษจะแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2570 แต่ต้องเลื่อนแผนเปิดบริการเดินรถจากเดือน ธ.ค.2571 ไปอีกประมาณ 9 เดือนเป็นเปิดบริการเดือน ก.ย.2572 เนื่องจากยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องรูปแบบการลงทุนเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้
เบื้องต้น รฟม. วางไทม์ไลน์เพื่อเร่งรัดงานเดินรถ ดังนี้ จะเสนอผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯ ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 (PPP) ต่อคณะกรรมการ(บอร์ด) รฟม. ภายในใตรมาสที่ 2 (เม.ย.-พ.ค.2568) และเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ภายในไตรมาสที่ 3 (มิ.ย.-ส.ค.2568) คาดว่าจะได้ผู้เดินรถไม่เกินเดือน ส.ค.2569
ตามปกติเมื่อก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จจะต้องใช้เวลาติดตั้งระบบไฟฟ้า อาณัติสัญญาณ และจัดหาขบวนรถประมาณ 3 ปี ในทางปฏิบัติสามารถเร่งรัดเอกชนให้เปิดบริการเร็วขึ้นเมื่อได้ผู้เดินรถในปี 2569 จึงต้องใช้เวลา2-3ปี ตามขั้นตอน จึงขยับแผนเปิดบริการออกไป
ในการนำเสนอบอร์ดและครม. พิจารณษรูปแบบการเดินรถรฟม.ยืนยันว่า การเดินรถต่อเนื่องเป็นเส้นทางเดียวกันตลอดสาย 46กม. รวม 33สถานี ทั้งสายสีม่วงใต้และสายสีม่วง (เหนือ) ช่วงเตาปูน–คลองบางไผ่ ระยะทาง 23กม. รวม 16สถานี (โครงสร้างยกระดับทั้งหมด) ที่เปิดบริการในปัจจุบันเหมาะสมที่สุด โดยเจรจาบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BEM ผู้เดินรถสายสีม่วง(เหนือ)เตาปูน–คลองบางไผ่ เพื่อแก้ไขสัญญาสัมปทานฯ ให้เดินรถตลอดทั้งสาย

อย่างไรก็ตามหากในขั้นตอนต่างๆ เกิดมีปัญหาอุปสรรค และความเห็นที่แตกต่างของหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาโครงการ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่ต้องการให้เปิดประมูลหาผู้เดินรถรายใหม่ ก็จะยิ่งทำให้งานระบบเดินรถล่าช้าออกไป และใช้เวลานานกว่า 3 ปี โดยเงื่อนเวลาเหล่านี้ รฟม.จะให้ผู้รับจ้างงานโยธารับประกันงานก่อสร้างเพื่อบำรุงรักษาตามสัญญาประมาณ 2 ปีหลังก่อสร้างเสร็จเรียบร้อย
ดังนั้นหากเกิดความล่าช้าในงานระบบรถ จะเข้าข่ายลักษณะเดียวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรมฯฯ-มีนบุรี) ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ100% ตั้งแต่ปี 2566 ต้องรองานระบบเดินรถของโครงการสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี มาติดตั้งระบบไฟฟ้า อาณัติสัญญาณ และจัดหาขบวนรถอยู่ในขณะนี้ จากปัญหาการฟ้องร้องในโครงการประมูลให้เอกชนร่วมทุน โดยมีแผนเร่งรัดเปิดบริการสายสีส้มตะวันออกก่อนในปลายปี 2570
แม้รถไฟฟ้าสีม่วงใต้ จะไม่มีปัญหาฟ้องร้องกันเหมือนรถไฟฟ้าสายสีส้ม แต่ปัญหาเรื่องการเดินรถ กำลังทำให้การเปิดบริการล่าช้าออกไป ซ้ำรอยรถไฟฟ้าสายสีส้ม หากรฟม.และกระทรวงคมนาคมไม่เร่งเคลียร์ให้จบ
……………………………………………………
นายสปีด
***ห้ามคัดลอกเนื้อหาและภาพในบทความนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต